Pages

Tuesday, May 19, 2015

More Historical Projects to come

After finished a historical bust at the beginning of this year, I want to finish more historical projects especially figures in 1/35 scale that I haven't laid my hands on for a few years. Here are the projects I've been working on lately; WWII vignette 1/35, US BAR Gunner 1/35, Knight 54mm and Knight bust 1/9. 
These are long term projects because I also have some fantasy projects to do along with them. I hope to finish at least two historical projects in this year, not decided yet which projects will be finished first. I will post more updates soon. :)

หลังจากที่ช่วงต้นปีได้ทำงานบัสท์เสร็จไปชิ้นหนึ่ง ตอนนี้เลยอยากที่จะกลับมาทำงานฟิกเกอร์แนวประวัติศาสตร์และทหารอีกครั้งครับ หลังจากที่ไม่ได้จับมาหลายปีโดยเฉพาะฟิกเกอร์ขนาด 1/35 และนี่คืองานที่ผมกำลังทำอยู่ตอนนี้ครับ WWII vignette 1/35, US BAR Gunner 1/35, Knight 54mm และ Knight bust 1/9  ทั้งหมดนี้คงจะค่อยๆทยอยทำไปครับเป็นโปรเจคระยะยาว เพราะยังมีงานแนวแฟนตาซีที่ตั้งใจจะทำให้เสร็จในปีนี้เช่นกันครับ หวังว่าปีนี้จะทำงานแนวทหารให้เสร็จสักสองชิ้นเป็นอย่างน้อย ยังไม่ได้ตัดสินใจเหมือนกันว่าจะเริ่มที่งานชิ้นไหนก่อนครับ ตอนนี้นำมาทั้งหมดมาประกอบอุดขัดเตรียมไว้ก่อน ไว้มีความคืบหน้าเพิ่มเติมแล้วจะมาลงอีกทีครับ :)





Friday, May 8, 2015

การเลือกใช้จานสีแบบต่างๆสำหรับสีอะคริลิค

ไม่นานมานี้ผมได้เห็นบทความของน้องท่านหนึ่งบนเฟซบุ๊คเกี่ยวกับเรื่องของการเก็บรักษาสีอะคริลิคให้สามารถใช้ได้ต่อเนื่องหลายวันโดยที่สีนั้นไม่แห้งไปเสียก่อน เลยจุดประกายให้ผมอยากเขียนบทความนี้ เพราะคิดว่าหลายๆคนอาจจะยังไม่รู้จักจานสีในแบบอื่นๆ ที่ค่อนข้างนิยมในหมู่คนทำฟิกเกอร์แนวไซไฟแฟนตาซีมากกว่าคนที่ทำแนวทหาร ในบ้านเราเลยอาจจะยังไม่ค่อยแพร่หลายเท่าไหร่ และผมเองก็ยังไม่เคยเขียนอธิบายถึงรายละเอียดข้อดีข้อเสียมาก่อน เลยถือโอกาสนำมาเล่าสู่กันฟังจากประสบการณ์ส่วนตัวครับ เผื่อจะช่วยให้คนที่กำลังเริ่มสนใจในการใช้สีอะคริลิค ได้ลองนำไปปรับใช้ให้เข้ากับความถนัดของตัวเองดูครับ


เรื่องของการเลือกใช้จานสีนี้ แม้จะดูว่าเป็นเรื่องที่พื้นฐานมากๆ แต่ผมคิดว่าหากเราเข้าใจ และเลือกใช้จานสีแบบที่เหมาะกับการทำงานของเรา รวมถึงการทำให้สีที่ผสมนั้นเก็บเอาไว้ได้หลายวัน จะช่วยให้การทำงานนั้นทำได้อย่างต่อเนื่องและสะดวกมากขึ้นครับ
สำหรับจานสีแบบที่จะแนะนำให้ทราบกัน จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทที่คนนิยมใช้กัน คือ
- จานสีแบบหลุม
- จานสีแบบเปียก

1. จานสีแบบหลุม
ก็คือจานสีแบบที่ขายทั่วไปตามแผนกเครื่องเขียนหรือร้านค้าต่างๆครับ ที่บนจานสีจะมีการแบ่งช่องหรือหลุมแยกจากกันเพื่อความสะดวกในการผสมสี จานสีแบบนี้มีมากมายหลายแบบหลายรูปทรงและวัสดุ แบบที่ผมชอบใช้จะเป็นแบบพลาสติกทรงกลมมีหลุมอยู่รอบๆครับ เพราะมันสามารถเอามาซ้อนกันเป็นตั้งได้ ราคาถูกและประหยัดพื้นที่
สมัยก่อนตอนที่ยังใช้สีกันเซ่หรือ Mr. Color ในการเพนท์ฟิกเกอร์แนวทหารอยู่ ผมจะชอบซื้อจานสีแบบนี้มาเก็บไว้หลายๆอัน เวลานำมาใช้ผสมสีก็จะแบ่งจานสีแต่ละอันไว้ผสมสีในโทนเดียวกัน จานสีหนึ่งสำหรับโทนสีแดง, จานสีสำหรับสีดำเทาขาว, จานสีสำหรับสีเหล็กสีเงิน, จานสีสำหรับชุดทหารอเมริกันสงครามโลกครั้งที่สอง หรือจานสีของชุดทหารเยอรมันเป็นต้นครับ หลังจากที่ผสมสีและเพนท์เรียบร้อยแล้ว ผมก็จะปล่อยสีทิ้งไว้ให้แห้งคาจานสีเลย เพราะว่าสีกันเซ่นั้นจะละลายได้ใหม่หากเติมทินเนอร์ลงไป ดังนั้นเวลาจะผสมสีให้ได้แบบเดิมอีกครั้งก็จะมีตัวอย่างสีในหลุมเดิมให้เทียบและผสมสีลงไปในนั้นได้เลย โดยไม่ต้องมาเสียเวลาทำความสะอาดทุกครั้งครับ




ส่วนหลังจากที่เปลี่ยนมาใช้สีอะคริลิคในการเพนท์ฟิกเกอร์แล้ว ในช่วงแรกๆผมก็ยังใช้จานสีแบบนี้อยู่ครับ แต่เวลาใช้เสร็จแล้วจะไม่ได้ทิ้งให้สีแห้งคาหลุมแบบเดิม เพราะสีอะคริลิคเมื่อแห้งแล้วจะไม่สามารถละลายได้ใหม่ ดังนั้นผมจึงใช้วิธีเอาแผ่นฟอยล์ที่ใช้ในการห่ออาหาร มาปิดทับคลุมที่จานสีและใช้นิ้วรีดให้แผ่นฟอยล์แนบไปกับหลุมสีครับ วิธีนี้จะช่วยให้ไม่ต้องมาคอยล้างจานสี เมื่อใช้เสร็จแล้วก็ลอกฟอยล์ทิ้งได้เลย และม้วนฟอยล์อันหนึ่งก็ราคาไม่แพงและใช้ได้นานเป็นปีครับ


ส่วนการเก็บรักษาสีอะคริลิคที่ผสมในจานสีแล้ว ให้สามารถคงสภาพของเหลวเอาไว้ให้นานหลายวัน โดยที่สีไม่แห้งไปซะก่อน จะช่วยให้การเพนท์งานที่มีรายละเอียดของสีเยอะนั้นทำได้สะดวกมากขึ้น เพราะบางครั้งอาจจะไม่สามารถทำให้เสร็จได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือหนึ่งวัน ดังนั้นการที่เก็บสีที่ผสมเอาไว้แล้วให้สามารถนำมาใช้ได้ในวันต่อๆไปจะช่วยประหยัดทั้งสีและเวลาที่จะต้องมาผสมสีใหม่ให้ใกล้เคียงกับสีเดิมที่ทำไว้ครับ
วิธีการเก็บรักษาสีอะคริลิค สำหรับคนที่ใช้จานสีแบบหลุมนี้ คุณ Tid ScaleModel ได้เขียนบทความอธิบายเอาไว้อย่างละเอียดพร้อมภาพประกอบครับ สามารถเข้าชมได้ทางเฟซบุ๊คของคุณ Tid ScaleModel ตามลิ๊งค์ที่ลงไว้นี้ครับ [CLICK HERE]

photo courtesy of Tid ScaleModel

อีกตัวเลือกหนึ่งของการใช้จานสีที่ผมเห็นโมเดลเลอร์ต่างชาติหลายท่านนิยมใช้กัน คือการใช้แผงยาหรือลูกอมที่ใช้แล้วครับ เอามาใช้แทนเป็นจานสี เวลาใช้เสร็จก็ทิ้งแล้วเปลี่ยนใหม่ได้เลยครับ ส่วนวิธีเก็บสีก็เอาแผงเปล่าอีกอันมาครอบไว้ และอาจจะนำไปใส่กล่องเก็บไว้อย่างที่คุณ Tid ScaleModel แนะนำเอาไว้ก็ได้ครับ

photo courtesy of lanciomodels.blogspot.com
photo courtesy of lanciomodels.blogspot.com
photo courtesy of lanciomodels.blogspot.com

2. จานสีแบบเปียก (Wet Palette)
เป็นจานสีแบบที่นิยมกันในหมู่คนเพนท์ฟิกเกอร์แนวแฟนตาซี รวมถึงคนที่เล่นมิเนียเจอร์วอร์เกมด้วยครับ ผมรู้จักจานสีแบบนี้เมื่อหลายปีก่อน จากบทความในบล็อกของ Massive Voodoo [CLICK HERE] หลังจากนั้นก็ใช้จานสีแบบนี้มาตลอด เพราะว่าเหมาะกับการทำงานของตัวเองที่เป็นคนทำงานช้า และจานสีแบบนี้ยังเหมาะกับงานที่ต้องลงสีพร้อมกันหลายๆสีในทีเดียวด้วยครับ
สำหรับวิธีการทำจานสีแบบเปียก จะใช้กล่องแบบที่มีฝาปิดได้สนิท จากนั้นนำกระดาษทิชชู่หรือฟองน้ำรองเอาไว้ด้านใต้กล่อง เทน้ำลงไปให้ชุ่มแล้วใช้กระดาษที่ใช้ในการอบขนมมาวางทับด้านบนอีกที กระดาษแบบนี้จะชุบด้วยซิลิโคนทำให้มีคุณสมบัติกันน้ำ ทำให้น้ำจากด้านล่างกระดาษไม่ซึมขึ้นมาและผสมกับสีที่อยู่ด้านบน แต่สีจะได้รับความชื้นจากน้ำที่อยู่ใต้กระดาษ ทำให้สีอะคริลิคนั้นคงสภาพของเหลวได้นานกว่าจานสีแบบอื่นๆ และเมื่อใช้งานเสร็จและปิดฝากล่องแล้ว ก็จะสามารถเก็บความชื้นเอาไว้ภายใน ทำให้สีนั้นคงสภาพได้นานหลายอาทิตย์ ที่ผมเคยเจอคืออยู่ได้เดือนกว่าๆโดยที่ไม่ได้เติมน้ำเพิ่มเลย เมื่อเปิดมาสีจะไม่ได้เหลวเป็นน้ำ แต่จะจับตัวเป็นก้อน และเมื่อผสมน้ำลงไปก็ยังละลายสีให้เหลวและนำไปใช้ทาได้ปกติครับ

ในส่วนของกระดาษที่นำมาใช้ทำจานสีแบบเปียก ที่ผมเคยลองใช้มามี 3 ประเภทครับ แต่ละแบบก็จะมีคุณลักษณะแตกต่างกันไป แบ่งออกเป็น
2.1 กระดาษพาร์ชเมนต์ (Parchment Paper) หรือกระดาษรองอบ เป็นกระดาษที่นิยมใช้ในการอบขนมครับ กระดาษชนิดนี้ผิวกระดาษจะถูกเคลือบด้วยสารซิลิโคน จึงมีคุณสมบัติทนความร้อนสูง และกันน้ำ แม้จะแช่น้ำไปนานๆก็จะไม่เปื่อยยุ่ยครับ เท่าที่ลองใช้มากระดาษชนิดนี้เหมาะกับการนำมาใช้ทำจานสีแบบเปียกมากที่สุดครับ ผมไม่แน่ใจว่ากระดาษชนิดนี้มีขายทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือเปล่า อาจจะต้องลองสอบถามดูตามแผนกเครื่องครัว หรือไม่ก็ลองหาซื้อตามร้านที่ขายอุปกรณ์ทำขนมแบบออนไลน์ดูครับ



2.2 กระดาษไข (Wax Paper) นิยมใช้ในการทำขนมเช่นกันครับ กระดาษชนิดนี้ผิวกระดาษจะถูกเคลือบด้วยไขพาราฟิน ผิวกระดาษจึงมีลักษณะเป็นผิวมัน มีคุณสมบัติกันน้ำได้ในระดับนึง และไม่ทนความร้อนครับ เท่าที่เคยใช้มา เมื่อหยดสีลงบนกระดาษแล้วและใช้งานไปซักพัก น้ำจากด้านล่างกระดาษจะค่อยๆซึมขึ้นมาผสมกับสีทีละน้อยจนสีนั้นใสขึ้นกว่าตอนที่หยดลงทีแรกเล็กน้อยครับ บางครั้งมันจึงไม่ค่อยสะดวกเพราะต้องคอยหยดหรือผสมสีเพิ่มให้ได้แบบเดิม ดังนั้นกระดาษแบบนี้จึงเป็นตัวเลือกรอง ในกรณีที่หาซื้อกระดาษพาร์ชเมนต์ไม่ได้ก็สามารถใช้อันนี้ทดแทนไปก่อนได้ครับ สำหรับภาพตัวอย่างที่เอามาให้ดูนี้ ผมซื้อมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างเดอะมอลล์เมื่อหลายปีก่อนครับ เป็นแบบม้วนยาวแล้วผมค่อยมาตัดแยกส่วนให้พอดีกับกล่องใส่เอง ราคาจำไม่ได้แล้ว แต่น่าจะเกือบๆร้อยหรือร้อยกว่าๆครับ ปริมาณที่ให้มาม้วนนึงเยอะมากๆ ใช้ได้เป็นปีๆครับ



2.3 กระดาษอะครีลิค (Acrylic Paper) แบบสุดท้ายนี้เป็นกระดาษที่ผลิตขึ้นมาสำหรับงานเพนท์สีอะคริลิคโดยเฉพาะครับ เอามาแนะนำให้ชมแต่ไม่แนะนำให้หามาใช้ครับ เนื่องจากราคาและคุณภาพนั้นยังรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าเหมือนกับกระดาษพาร์ชเมนต์ครับ แต่พอดีผมไปเจอที่ราคาค่อนข้างถูกเลยเอามาลองใช้ดู ลักษณะของกระดาษแบบนี้จะคล้ายๆกับกระดาษวาดรูปทั่วไปที่หนาซักหน่อย ไม่บางเหมือนกระดาษถ่ายเอกสารครับ และจะมีใบอธิบายวิธีการใช้แนบมาให้ด้วย โดยเราจะต้องนำกระดาษไปแช่ในน้ำร้อนก่อน และทิ้งไว้นานประมาณ 15 นาที ถึงจะค่อยนำไปวางบนฟองน้ำและใช้งานได้ เท่าที่ลองใช้มา สีจะซึมลงบนกระดาษไปบางส่วน และสีค่อนข้างจะแห้งเร็วกว่ากระดาษแบบอื่นๆ ในตอนที่ใช้ต้องคอยเติมน้ำลงในสีอยู่เรื่อยๆ และหากปิดฝากล่องทิ้งไว้ก็เก็บสีไว้ใช้ได้เพียงวันสองวันเท่านั้น ความรู้สึกส่วนตัวเลยไม่ประทับใจเท่าไหร่ครับ ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหากนำมาใช้กับฟองน้ำของยี่ห้อนี้ ที่ทำมาแบบแผ่นบางๆให้ใช้คู่กันแล้วจะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นรึเปล่า ไว้มีโอกาสแล้วคงจะลองดูอีกที แต่สำหรับตอนนี้ก็แนะนำว่ากระดาษพาร์ชเมนต์เหมาะสมที่สุดครับ



ภาพตัวอย่างจานสีแบบเปียกที่ผมใช้อยู่ครับ ผมเลือกใช้กล่องพลาสติกแบบมีฝาปิดพลาสติกที่ปิดได้สนิทและแน่นหนาดี ส่วนด้านในจะใช้ฟองน้ำแบบหนา หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างก้อนละไม่ถึงสิบบาท นำมาตัดให้เวลาใส่แล้วแน่นพอดีกับกล่องครับ เพราะเวลาเทน้ำลงไปแล้วฟองน้ำจะได้ไม่ลอยไปมา ทำให้ผสมหรือจุ่มสีลำบากครับ จากนั้นก็ใส่น้ำลงในกล่องและให้ฟองน้ำนั้นอมน้ำเอาไว้เต็มที่ แล้วจึงเทน้ำออกให้เหลือพอดีกับระดับของฟองน้ำ นำกระดาษพาร์ชเมนต์มาตัดให้พอดีกับกล่องแล้ววางไว้ด้านบนฟองน้ำเท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อยครับ นำสีมาหยดลงบนจานสีได้เลย เวลาใช้งานเสร็จก็ปิดฝาให้สนิท และคอยสังเกตุระดับน้ำในกล่องอย่าปล่อยให้แห้ง เมื่อเปิดมาใช้อีกก็เทน้ำให้ฟองน้ำนั้นชุ่มชื้นอยู่เสมอ และนำกล่องและฟองน้ำมาล้างบ้างเพื่อป้องกันความสกปรกและกลิ่นครับ



ข้อดี ของจานสีแบบนี้คือ สามารถผสมสีได้พร้อมกันหลายสิบสี รวมถึงสะดวกต่อการผสมน้ำกับสีเพื่อควบคุมความข้นหรือใสของสีได้  และเมื่อใช้เสร็จก็ปิดฝาและเก็บเอาไว้ใช้ได้อีกหลายอาทิตย์  ทำให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
ข้อเสีย เท่าที่เจอคือ เรื่องของการผสมสีที่จะผสมสีทีละมากๆได้ลำบากกว่าจานสีแบบหลุม จึงไม่เหมาะสำหรับการผสมสีเพื่อทาพื้นที่ใหญ่ๆ และเนื่องจากมันไม่มีขอบกั้นระหว่างสีเหมือนจานสีแบบหลุม หากผสมสีใกล้กันมากๆก็มีโอกาสที่สีจะไหลมารวมกันได้ครับ

จานสีแบบเปียกที่นิยมกัน ส่วนใหญ่จะใช้กล่องแบบแบนหรือขอบกล่องไม่สูงมาก และเอาฟองน้ำแบบบางหรือกระดาษรองด้านใต้ เพราะหากเลือกใช้กล่องที่มีความสูงมาก เมื่อนำมาวางบนโต๊ะ ขอบของกล่องที่สูงจะทำให้เวลาจุ่มพู่กันลงไปต้องยกมือขึ้นสูงและจะไม่สะดวกเมื่อต้องคอยยกมือตลอดเวลาที่เพนท์ครับ
ส่วนวิธีที่ผมใช้ ผมเองจะชอบใช้โต๊ะคอมพิวเตอร์แบบที่มีรางเลื่อนสำหรับวางคีย์บอรด์มาทำเป็นโต๊ะทำงาน โดยจะเอากล่องกระดาษมาตัดเอาไว้รองเศษฝุ่นเวลาตัดขัดต่างๆ ส่วนจานสีก็จะวางเอาไว้ด้านล่างนี้ ทำให้สะดวกในการจุ่มผสมสี ส่วนด้านบนโต๊ะจะวางกระดาษทิชชู่ไว้คอยซับสีกับถ้วยน้ำสำหรับผสมสีไว้ครับ ผมเลยถ่ายภาพโต๊ะทำงานมาให้ดูครับ จะได้เห็นว่าทำไมผมถึงใช้กล่องแบบนี้ ลงให้ดูไว้เป็นแนวทางครับ 
ผมคิดว่าหากเราได้ใช้จานสีในแบบที่เหมาะกับการทำงานของเราแล้ว มันจะช่วยให้การทำงานนั้นสะดวกมากขึ้นครับ และการที่สามารถเพนท์งานได้ต่อเนื่องยังช่วยให้การทำงานนั้นสนุกขึ้นด้วย รวมถึงยังช่วยประหยัดเวลาและสีที่ใช้ด้วยครับ ดังนั้นจึงหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณสามารถเลือกใช้จานสีที่เหมาะกับการทำงานของตัวคุณเองได้ง่ายขึ้นนะครับ ขอให้สนุกกับการเพนท์ครับ Happy Painting :)


Monday, May 4, 2015

การใช้ผงสี pigments เพื่อจำลองคราบฝุ่นบนพื้นผิวฉากจำลอง

Weathering an Urban Scene with Pigments

หลังจากที่ได้ลงเกี่ยวกับเรื่องของการวอชไปแล้ว ในครั้งนี้จะมาต่อกันที่อีกหนึ่งเทคนิคในการทำสีบนฉากจำลองครับ คือการใช้ผงสี หรือ pigment สำหรับจำลองคราบดินคราบฝุ่นต่างๆเพื่อช่วยให้ฉากจำลองของเรานั้นดูสมจริงมากขึ้นครับ วิธีการนี้ผมเคยเขียนถึงไว้คร่าวๆแล้วครั้งหนึ่งใน Diorama Techniques อยู่ในส่วนของเทคนิคขั้นสูง ในครั้งนี้ผมจึงนำมันมาเขียนอธิบายให้ละเอียดมากขึ้น และเพิ่มภาพขั้นตอนในการทำเพื่อที่จะได้ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ


ก่อนอื่นขออธิบายถึงผงสีหรือ pigment กันสักเล็กน้อยนะครับ pigment คือผงสีที่เป็นต้นกำเนิดของสีที่อยู่ในสีทุกประเภท เมื่อนำไปผสมกับส่วนผสมอื่นๆก็จะทำให้เกิดเป็นประเภทของสีขึ้นมา เช่น นำ  pigment ไปผสมกับ linseed oil ก็จะได้สีน้ำมัน หรือถ้านำ pigment ไปผสมกับสารที่ทำให้ยึดเกาะ ก็จะได้สีชอล์ก เป็นต้นครับ ส่วนผงสีหรือ pigment ที่นิยมนำมาใช้ในงานโมเดลกันจะมีอยู่สองประเภทครับ

ประเภทที่ 1 คือผงสีที่ผลิตออกมาเฉพาะสำหรับงานโมเดล เป็นผงสีที่ผสมมาให้เป็นสีในโทนธรรมชาติ อย่างเช่นสีของดิน ทราย โคลน สนิม เป็นต้น เนื่องจากลักษณะเฉพาะของผงสีที่เนื้อสีเป็นผงละเอียด สามารถจับตัวเป็นก้อนได้ง่ายเมื่อผสมกับตัวทำละลาย และให้ลักษณะของสีแบบผิวด้าน จึงเหมาะแก่การนำมาใช้เพื่อทำสีเลียนแบบธรรมชาติครับ และการใช้งานที่ง่ายยังช่วยให้คนทั่วไปสามารถทำงานเวทเธอริ่งกันได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น แม้จะไม่มีความชำนาญในเรื่องของการผสมสีก็ตาม ดังนั้นสินค้าประเภทนี้จึงกลายเป็นที่นิยมในวงกว้าง และมีบริษัทต่างๆผลิตออกมาแข่งขันในท้องตลาดมากมายหลายยี่ห้อครับ


ประเภทที่ 2 คือสีชอล์ค หรือ pastel ครับ เป็นวิธีที่นิยมใช้กันสมัยก่อน ก่อนที่ผงสีสำหรับโมเดลจะผลิตออกมา โดยการใช้จะนำแท่งสีไปฝนกับกระดาษทรายแล้วใช้พู่กันนำไปแต้มหรือปัดตามตัวโมเดล หรืออีกวิธีที่ผมใช้คือนำไปฝนกับตะแกรงลวดให้ได้เป็นผงกองใหญ่ๆ ฝนเอาไว้หลายๆสีแล้วนำมาผสมกันให้เป็นสีที่ต้องการอย่างเช่นสีดินหรือทราย แต่ข้อเสียของสีชอลค์คือความเข้มข้นของสีจะไม่เท่ากับผงสี (เพราะมันมีส่วนผสมอื่นอยู่ด้วย ต่างกับผงสีที่เป็นเนื้อสีทั้งหมด) เมื่อนำไปปัดลงบนโมเดลแล้ว หากต้องการให้ติดทนก็ต้องพ่นเคลือบทับ ซึ่งเวลาพ่นเคลือบแล้วสีชอล์คมันจะจางลงจากเดิมก่อนพ่นมาก ต่างกับผงสีที่เมื่อพ่นเคลือบแล้วสีแทบจะไม่เปลี่ยนเลย ดังนั้นเมื่อมีผงสีเข้ามาทำตลาด การใช้สีชอล์คก็ค่อยๆหายไปครับ อาจจะยังพอมีคนใช้อยู่บ้างในหมู่คนเล่นโมเดลชุดผ้า หรือตุ๊กตาผู้หญิงไว้ใช้ในการแต่งหน้าครับ

ภาพตัวอย่างของสีชอล์คครับ ผมเคยใช้ของยี่ห้อนี้ แต่เป็นแบบ 6 สี หาซื้อได้ตามแผนกเครื่องเขียนในห้างครับ ที่เคยซื้อเมื่อหลายปีก่อนกล่องนึงน่าจะร้อยกว่าบาท สีที่ใช้บ่อยๆเช่น น้ำตาลเข้ม และ น้ำตาลแดง เอาไว้ทำคราบสนิม ส่วน สีเหลืองโอ๊ค สีเทา สีขาว และสีน้ำตาลเข้ม นำมาผสมให้เป็นสีดินหรือโคลนได้ครับ


สำหรับวิธีการใช้ผงสีที่จะทำให้ชมกันจะเป็นผงสีที่ผลิตออกมาเฉพาะสำหรับงานโมเดล ที่ผมใช้เป็นของยี่ห้อ MIG Productions ครับ ในตอนนี้เห็นมีคนนำเข้ามาขายกันหลายเจ้าแล้วทั้งของยี่ห้อนี้และยี่ห้ออื่นๆ หากสนใจก็ลองเซิจหาดูในเน็ตน่าจะเจอได้ไม่ยากครับ ส่วนวิธีการในการใช้ผงสี ผมนำมาสาธิตให้ดูสองแบบคือ ใช้ในการทำคราบฝุ่นที่ติดตามที่ต่างๆ และใช้ในการทำฝุ่นที่จับตัวเป็นก้อนหรือเม็ดฝุ่นที่เป็นผงเล็กๆ ครับ ที่นี้ลองมาดูทีละแบบเลย

1. ใช้ในการทำคราบฝุ่นที่ติดตามที่ต่างๆ
เป็นวิธีการเบื้องต้นในการใช้ผงสีครับ ซึ่งผมจะแบ่งวิธีในการใช้งานออกเป็น 2 แบบคือ
1.1 โดยการนำผงสีไปผสมกับตัวทำละลายให้กลายเป็นน้ำ แล้วนำไปทาลงบนบริเวณที่ต้องการ เมื่อแห้งแล้วก็จะเป็นเหมือนคราบฝุ่นที่ติดอยู่ ซึ่งตัวทำละลายที่สามารถใช้ได้กับผงสีก็จะมีอยู่หลายประเภท เช่น turpentine, white spirit หรืออินาเมลทินเนอร์ของทามิย่า เป็นต้น แต่ถ้าให้ดีที่สุดคือใช้ของบริษัทนั้นๆที่ผลิตมาคู่กันครับ อย่าง Thinner for Washes แบบในภาพ ที่ช่วยยึดสีฝุ่นเอาไว้กับพื้นผิว แต่ไม่ได้ติดแน่น ยังสามารถปัดส่วนที่ไม่ต้องการออกได้ หรือ Pigment Fixer ที่จะช่วยให้ผงสีนั้นติดทนและหลุดยากมากขึ้น
วิธีทำเริ่มจากนำผงสีไปผสมกับ Thinner for Washes ในจานสีให้เหลวพอประมาณ จากนั้นนำไปทาให้ทั่วบริเวณที่ต้องการครับ ในภาพผมใช้ผงสีมาผสมกันสองสีเพื่อให้ได้สีของคราบฝุ่นในแบบที่ต้องการ จะเห็นว่าผงสีนั้นเมื่อผสมกับตัวทำละลายจะมีสีที่เข้มขึ้นครับ ในส่วนที่ยังไม่แห้งสีจึงยังเข้มอยู่ และส่วนรอบๆที่แห้งแล้วก็จะมีสีที่อ่อนลงครับ


เมื่อผงสีแห้งสนิทแล้วจะให้ลักษณะของสีที่ด้านและดูเหมือนคราบฝุ่นของจริงครับ และการที่ผสมสีด้วย Thinner for Washes จะทำให้สีนั้นแค่ยึดติดอยู่บนพื้นผิว จึงสามารถที่จะปัดสีส่วนที่ไม่ต้องการออกได้ เนื่องจากผมต้องการให้ฉากนี้มีพื้นแบบถนนหินที่มีฝุ่นเกาะแน่นอยู่ตามร่อง ดังนั้นตอนที่ผมทาผมจึงผสมสีให้ค่อนข้างข้นครับ เพื่อที่สีจะได้ติดชัดอยู่ตามร่อง และเห็นเป็นคราบชัดเจนเมื่อแห้งแล้วครับ แล้วจึงใช้นิ้วมาปัดสีส่วนเกินที่อยู่บนพื้นถนนออกอีกที


เมื่อปัดคราบผงสีส่วนที่ไม่ต้องการออกแล้ว จะเห็นว่าสีนั้นจะติดอยู่ตามร่องหรือซอกที่นิ้วมือเช็ดไม่ถึงครับ และจะสังเกตุได้ว่าผงสีนั้นจะเคลือบอยู่ที่ผิวของพื้นบางๆ จนดูเหมือนสีของพื้นนั้นถูกย้อมเป็นสีเทาอมทราย หากเปรียบเทียบกับภาพก่อนการใช้ผงสีจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนครับ หรือถ้าอยากให้ดูมีฝุ่นน้อยกว่านี้ ก็สามารถใช้พู่กันหรือคัตต้อนบัตชุบกับตัวทำละลาย และนำมาเช็ดส่วนที่ไม่ต้องการ จะช่วยให้เช็ดออกได้ง่ายขึ้นครับ เพียงเท่านี้เราก็จะได้ลักษณะของพื้นถนนหินที่ดูเหมือนกับมีฝุ่นปกคลุมอยู่ครับ



1.2 โดยการนำผงสีไปไว้ในจุดที่ต้องการ (ทา ปัด เท) แล้วใช้พู่กันจุ่มตัวทำละลายมาทาหรือหยอดที่ผงสีอีกที เพื่อให้สีนั้นติดอยู่ในบริเวณที่ต้องการ วิธีนี้อาจจะดูยุ่งยากมากขึ้นหน่อย แต่ก็จะให้ความหลากหลายของคราบสีบนชิ้นงานได้ง่ายกว่าครับ เพราะเราสามารถใช้ผงสีหลายๆสีลงบนพื้นที่เดียวกันได้ แล้วค่อยเอาพู่กันจุ่มตัวทำละลายมาทาให้สีต่างๆนั้นผสมกัน สีที่ได้ก็จะมีโทนสีที่ต่างกันในแต่ละส่วนขึ้นอยู่กับการลากพู่กันครับ ซึ่งจะต่างกับวิธีแรกที่จะมีเพียงสีเดียวอยู่บนชิ้นงาน
สำหรับตัวอย่างที่นำมาทำให้ชม เป็นวิธีที่เคยทำไว้ในการทำคราบฝุ่นบนรถถังครับ  [M14/41] แต่สามารถนำวิธีนี้ไปใช้ในการทำคราบฝุ่นหรือดินบนพื้นฉากจำลองได้เช่นเดียวกันครับ ในภาพจะเห็นว่าผมใช้ผงสีสามสีมาทำ โดยนำพู่กันจุ่มผงสีแต่ละสีไปแตะหรือหยอดไว้แต่ละส่วนกระจายไปแต่ละจุด


จากนั้นนำพู่กันอีกด้ามจุ่มตัวทำละลายแล้วนำมาแตะบนผิวโมเดล ตัวทำละลายที่เป็นน้ำจะวิ่งไปบนผิวโมเดลและผสมกับสีเองครับ และสีแต่ละสีที่ลงไว้ใกล้ๆกันเมื่อโดนตัวทำละลายก็จะผสมเข้ากันเองครับ หรือจะใช้พู่กันมาแตะหรือลากให้มันผสมกันมากขึ้นก็ได้เช่นกัน รวมถึงสามารถใช้พู่กันทาเกลี่ยให้ผงสีนั้นเกาะตัวกันหนาหรือเป็นคราบฝุ่นที่คลุมพื้นผิวอยู่บางๆครับ


เมื่อผงสีนั้นแห้งแล้ว จะเห็นว่าผมพยายามใช้พู่กันทาเกลี่ยให้สีมันไปติดอยู่ตามซอกร่องต่างๆ ส่วนบริเวณที่เป็นพื้นที่โล่งจึงมีผงสีเคลือบอยู่เพียงบางๆครับ


จากนั้นก็ใช้นิ้วมือมาเช็ดสีส่วนที่ไม่ต้องการออกเช่นเดิมครับ


เมื่อเสร็จแล้วจะเห็นว่าผงสีนั้นจะไปติดอยู่ตามซอกร่องต่างๆ และช่วยให้ดูเหมือนกับว่าเป็นคราบฝุ่นที่ติดอยู่จริงๆครับ


อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้ผงสีแบบนี้ครับ [Hetzer] แต่อันนี้จะใช้ตัวทำละลายคือ Pigment Fixer ที่จะช่วยให้ผงสีนั้นติดทนขึ้น การทำงานก็เหมือนกับที่กล่าวไว้ด้านบนครับ จะต่างกันหน่อยตรงที่ผงสีที่ผสมด้วย Pigment Fixer จะยึดติดกับพื้นผิวได้ดีกว่า จึงไม่สามารถใช้นิ้วหรือพู่กันมาปัดออกได้ครับ ดังนั้นหากต้องการลบผงสีส่วนที่ไม่ต้องการออก จะต้องใช้ Pigment Fixer มาทาให้สีมันละลาย แล้วใช้พู่กันมาทาเกลี่ยหรือลบออกครับ ซึ่งในรูปตัวอย่างจะเห็นได้บนบริเวณด้านบนป้อม ที่ผมใช้การทาเกลี่ยด้วย Pigment Fixer เพื่อให้ผงสีนั้นกระจายอยู่ในแต่ละจุดครับ



2. ใช้ในการทำฝุ่นที่จับตัวเป็นก้อนหรือเม็ดฝุ่นที่เป็นผงเล็กๆ
วิธีการนี้จะใช้ในการทำเศษฝุ่นผงเล็กๆที่อยู่ตามซากอาคารที่พัง หรือจะใช้ทำเป็นเศษฝุ่นดินตามพื้นดินก็ได้เช่นกันครับ ซึ่งผมมักจะใช้วิธีการนี้เป็นขั้นตอนท้ายๆหลังจากที่ทำคราบสกปรกคราบฝุ่นต่างๆบนชิ้นงานเสร็จแล้ว แล้วค่อยมาทำให้เกิดฝุ่นผงเล็กๆอีกที เพราะว่าฝุ่นผงเล็กๆที่ทำขึ้นนั้นมันคือผงสีที่จับตัวกันเป็นก้อนครับ มันจะไม่แข็งเหมือนทรายเม็ดเล็กๆ เมื่อเอานิ้วไปกดหรือพู่กันไปแตะมันก็จะแตกออก ดังนั้นจึงทำเป็นขั้นตอนท้ายๆเพื่อที่จะได้ไม่พลาดไปลบมันครับ ข้อดีของวิธีการนี้คือสามารถทำเป็นฝุ่นผงเล็กๆได้หลายสีบนชิ้นงานครับ ต่างจากการใช้ผงทรายที่จะมีเพียงแค่สีเดียว ที่สำคัญคือทำง่ายมากครับ ลองมาดูวิธีการกัน

อุปกรณ์ที่ใช้ครับ ผงสีสีต่างๆ และตัวทำละลายคือ Pigment Fixer ครับ ที่เห็นนั้นผมนำผงสีทั้งสี่สีมาผสมกันให้ได้สีใหม่อย่างที่อยู่ในถ้วยครับ หรือจะใช้ผงสีแต่ละสีไปทำเป็นฝุ่นเลยโดยที่ไม่ต้องนำมาผสมกันก็ได้ครับ แล้วแต่สะดวก


ใช้พู่กันเบอร์ใหญ่ๆหน่อย จุ่ม Pigment Fixer และทาลงบนบริเวณที่ต้องการครับ ทาเพียงบริเวณเล็กๆก่อนเพื่อที่จะได้ทำทีละส่วนและ Pigment Fixer จะไม่แห้งไปเสียก่อนครับ


ใช้พู่กันเก่าๆปลายบานๆมาจุ่มกับผงสีครับ จากนั้นนำไปเคาะให้ผงสีตกลงบนบริเวณที่ทา Pigment Fixer ครับ สำหรับการเคาะพู่กันผมจะทำแบบในภาพ คือจับพู่กันค่อนมาทางด้านหลังเยอะๆ เพื่อที่จะได้มีพื้นที่พอให้ใช้นิ้วชี้เคาะลงที่บริเวณปลายพู่กันครับ ผงสีเมื่อถูกเคาะจะตกลงบน Pigment Fixer และจะติดอยู่แค่ส่วนด้านล่างของผงสีที่สัมผัสกับ Pigment Fixer เท่านั้น มันจะไม่ละลายไปทั้งหมด จึงดูเป็นผงฝุ่นเม็ดเล็กๆกระจายอยู่บริเวณที่เคาะผงสีลงไปครับ



ลองดูตัวอย่างจากในภาพ (ขออภัยที่ถ่ายมาไม่ชัดครับ) จะเห็นว่ามีผงสีทรายเป็นเม็ดเล็กๆกระจายอยู่ตามด้านบนของกองอิฐและพื้นครับ ซึ่งถ้าเราอยากให้มีเศษผงมากๆก็ย้อนกลับไปทำตามขั้นตอนแรกครับ คือทา Pigment Fixer และนำผงสีมาเคาะเพิ่มเติม จากนั้นก็ค่อยๆไล่ทำไปทีละส่วนจนครบทั้งหมดครับ ซึ่งในตอนที่เราทำการเคาะผงสีนั้นบางทีมันอาจจะมองไม่ชัดว่าลงผงสีไปมากหรือน้อย เนื่องจากผงสีนั้นจะเข้มขึ้นเมื่อโดนตัวทำละลาย ดังนั้นเมื่อทิ่งไว้จนมันแห้งแล้ว ถ้ารู้สึกว่าส่วนไหนที่มีผงมากเกินไปก็ใช้พู่กันจุ่ม Pigment Fixer มาทาเกลี่ยลบส่วนที่ไม่ต้องการได้ในภายหลังครับ




อีกตัวอย่างหนึ่งจากผลงานอีกชิ้นครับ [HERE] ใช้วิธีการทำแบบเดียวกัน ในภาพที่เห็นเป็นกองๆของผงสีเม็ดเล็กๆสีออกโทนน้ำตาลแบบฝุ่นดินทรายที่กระจายอยู่ตามพื้นและบนกองอิฐนั้น ใช้วิธีการแบบที่กล่าวไว้ข้างต้นทำครับ แต่ว่าทำซ้ำไปมาหลายๆรอบ เพื่อให้ได้กองฝุ่นหนาๆแบบซากปรักหักพังครับ



ทั้งหมดนี้คือการนำผงสีหรือ pigment มาใช้ในการทำคราบฝุ่นบนฉากจำลองแบบเบื้องต้นครับ ซึ่งมันสามารถนำไปใช้กับการทำโมเดลแบบอื่นๆได้เช่นกันครับ และผงสีหรือ pigment นี้มันยังสามารถนำไปพลิกแพลงใช้ในการทำเวทเธอริ่งได้อีกหลากหลายครับ อยู่ที่จะนำไปทดลองกัน เพราะยิ่งนำไปใช้งานมากเท่าไหร่ ประสบการณ์ในการใช้งานมันจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจถึงคุณสมบัติของมันและนำไปใช้งานได้หลากหลายครับ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เข้าใจถึงวิธีการใช้สีชนิดนี้ได้ง่ายขึ้นนะครับ และถ้ามีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม จะถามมาทางบล็อกนี้หรือทางเฟซบุ๊คก็ได้ครับ ยินดีครับ
สำหรับตอนนี้ยังเหลือเรื่องของจานสีแบบต่างๆอีกอันหนึ่งที่ตั้งใจไว้ว่าจะเขียนมาฝากกัน ไว้เขียนเสร็จเมื่อไหร่คงจะได้นำมาลงเร็วๆนี้ครับ