Pages

Saturday, September 30, 2023

White Scars Terminator with Heavy Flamer (WIP 1)

งานล่าสุดที่พึ่งทำเสร็จครับ เอาภาพตัวอย่างมาให้ชมกันก่อน เนื่องจากช่วงนี้งานยุ่งมากจริงๆเลยยังไม่มีเวลามานั่งเขียนบทความของงานชิ้นนี้ ขอเวลาสักวันสองวันจะนำภาพและบทความมาลงให้ชมกันแน่นอน รอติดตามกันได้ครับ

#AdWIP 

#New40K

#WarhammerCommunity




Friday, September 8, 2023

Neurolictor (WIP 2)

ภาพเพิ่มเติมของ Neurolictor ครับ ตอนที่ได้รับโมเดลทั้งหมดมา ส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจเลือกตัวนี้มาทำเพราะท่าโพสที่ดูแปลกตา เป็นท่ายืนบนก้อนหินแบบเอี้ยวตัวหันมองด้านข้าง มีหางพาดยาวรอบก้อนหินวนไปด้านหลัง กับหางด้านหลังหัว(?)และแขนทั้งสี่ที่จัดวางมุมได้อย่างพอเหมาะ ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นงานที่มีองค์ประกอบสวยงามและดูลงตัว เลยอยากทำออกมาในแนวงานประติมากรรมที่ตั้งโชว์บนฐานสูงๆรายละเอียดเรียบๆเพื่อเน้นให้ตัวโมเดลดูโดดเด่น จึงทำการเพิ่มความสูงของฐานด้วยดินปั้น Das ที่ปั้นเป็นแผ่นแบนเก็บไว้ นำมาตัดเป็นชิ้นๆและติดเข้าด้วยกันด้วยซูเปอร์กลู ใช้อาร์ตไนฟ์ขูดแต่งร่องรอย ก็จะได้ฐานวางที่ดูเหมือนตัวโมเดลกำลังยืนอยู่บนผาหินแบบที่เห็นครับ

ส่วนการทำสีเลือกที่จะทำสีในแนวทางของ Hive Fleet Leviathan แต่นำมาปรับแต่งโทนสีที่ใช้ตามความชอบของตัวเอง เลยได้โทนสีที่ดูแตกต่างไปจากภาพต้นแบบแต่ยังให้ความรู้สึกของสีในโทนเดียวกันอยู่ ส่วนวิธีการทำเลือกใช้เทคนิคการเพ้นท์ที่เรียกว่า Stippling เพื่อสร้างเทคเจอร์บนพื้นผิวให้ดูมีความหยาบขรุขระเหมือนผิวหนังสิ่งมีชีวิตมากขึ้น 

ในการวาดภาพด้วยเทคนิค Stippling จะเป็นการจุดเล็กๆซ้อนทับไปเรื่อยๆ น้ำหนักของแสงเงาที่เกิดขึ้น เกิดจากจากการซ้อนทับกันและระยะห่างระหว่างจุด ลองดูในวีดีโอตัวอย่างจะช่วยให้เข้าใจมากขึ้นครับ

https://youtu.be/vFqNSEsQzhk?si=eIGDK_eeCJlx0sU2

ส่วนการทำงานของตัวเองจะเป็นการนำเทคนิคนี้มาปรับใช้ในงานโมเดล โดยการจุดสีแบบหยาบๆไม่จำเป็นต้องเป็นจุดกลมเท่ากันไปทั้งหมด จะเน้นแค่บางจุด และใช้การจุดไล่จากสีเข้มในส่วนของเงาและสีอ่อนขึ้นไปเรื่อยๆตามส่วนที่เป็นไฮไลท์ และในบางส่วนก็ใช้การเกลซซิ่ง (Glazing) ช่วยในการย้อมสีให้ดูกลมกลืนหรือให้มีสีอื่นๆแทรกในเงาเพื่อเพิ่มความน่าสนใจครับ

เทคนิคนี้ถ้าเข้าใจในหลักการแล้วจะทำได้ไม่ยากและใช้เวลาไม่นาน แต่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการคุมน้ำหนักมือที่จุดลงไปมากพอสมควร ต้องฝึกฝนการจุดบ่อยๆจะได้รู้น้ำหนักมือที่เหมาะสมสำหรับตัวเองครับ

สำหรับวิธีการทำสีเริ่มด้วยการพ่นรองพื้นแบบ Zenithal Priming  แล้วทาด้วย Citadel Contrast เพื่อเป็นสีพื้นชั้นแรกของแต่ละส่วน แล้วค่อยใช้การ Stippling จิ้มๆไล่แสงเงาในแต่ละส่วนไปเรื่อยๆด้วยสี AK 3rd Gen และ Vallejo ครับ

งานชิ้นนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี ยังเหลือรายละเอียดที่ต้องเก็บอีกพอสมควร ไว้มีความคืบหน้าเมื่อไหร่จะนำมาลงให้ชมกันอีกที แล้วพบกันใหม่ครับ

#AdWIP 

#New40k

#WarhammerCommunity















Sunday, September 3, 2023

Reviews: Lictor & Neurolictor

ทาง Games Workshop ส่งเหล่าโมเดล Tyranids ชุดใหม่ทั้งหมด 7 แบบ ที่กำลังจะออกวางจำหน่ายมาให้ล่วงหน้าเพื่อนำมารีวิวให้ชมกันครับ ทั้ง 7 แบบประกอบไปด้วย

1. Lictor 

2. Neurolictor

3. Deathleaper

4. Norn Emissary 

5. Biovore

6. Hormagaunts

7. Genestealers

ส่วนตัวเลือกที่จะนำ Lictor กับ Neurolictor มาประกอบให้ชมกันก่อนเพราะว่าชอบในการออกแบบของทั้งสองตัวนี้ และอยากนำมาเปรียบเทียบขนาดระหว่างทั้งสองตัวกับมารีนว่าแตกต่างกันแค่ไหน ตอนแรกที่เห็นภาพเปิดตัว Neurolictor ไม่ได้รู้สึกสนใจเท่าไหร่เพราะดูไม่เด่นเท่าตัวอื่นๆ แต่พอได้ของมาแล้วเปิดดูคู่มือกับชิ้นส่วนก็รู้สึกว่ามันออกแบบท่าโพสมาได้สวยลงตัวดีเลยทีเดียว ก็เลยตัดสินใจลงมือทำเป็นตัวแรก ส่วน Lictor นั้น ตอนแรกคิดว่าจะออกมาในกล่องเดียวกับ Deathleaper และมีชิ้นส่วนมาให้เลือกติดได้ว่าต่องการให้เป็นตัวไหน เพราะทั้งสองตัวดูมีรูปลักษณ์ที่ใกล้เคียงกันน่าจะใช้ชิ้นส่วนร่วมกันได้ แต่กลายเป็นว่าทำออกมาเป็นสองกล่องแยกกันเลย ก็เลยเลือกที่จะเอากล่อง Lictor มาทำก่อน เพราะมีชิ้นส่วนให้มาเป็นแบบ Multi-parts สามารถเลือกจัดท่าทางได้ 3 แบบ และส่วนตัวรู้สึกว่าท่าโพสนี้ที่ไม่ได้มีภาพโปรโมทในตอนแรก มันดูเท่และน่าเกรงขามมากๆ เหมือนกำลังเตรียมตัวจะจัดการเหยื่อ ก็เลยเลือกทำออกมาเป็นตัวนี้ 

จริงๆตัว Deathleaper และ Norn Emissary ก็ออกแบบมาได้สวยมากๆทั้งการปั้นและรายละเอียดต่างๆ แต่คิดว่าด้วยขนาดและรายละเอียดที่เยอะคงไม่น่าจะทำได้เสร็จทันเวลา ก็เลยเก็บเอาไว้ก่อนแล้วค่อยหาโอกาสมาทำอีกทีในภายหลังครับ ทั้งสองกล่องนี้และกล่องอื่นๆที่เหลือเลยนำมาถ่ายภาพกล่องและรายละเอียดของชิ้นส่วนมาให้ชมกันว่าเป็นอย่างไรครับ

ในส่วนของการประกอบทั้งสองตัวนั้น ต้องบอกว่าการออกแบบโมเดลชุดนี้ทำออกมาได้ดีมากจริงๆ ทั้งสองตัวเมื่อนำมาประกอบกันแล้วจะมีแค่ 1 ส่วนที่ต้องอุดขัดรอยผ่ากลาง คือบริเวณด้านหลังกระดอง(?)ตรงลำตัว ที่เป็นแบบประกบกันสองชิ้นจึงมีรอยผ่ากลางอยู่ ส่วนอื่นๆที่เหลือจะสามารถทากาวแล้วประกบเข้าด้วยกันโดยที่ไม่เห็นรอยต่อได้เลย สะดวกมากๆสำหรับคนที่ต้องการประกอบอย่างรวดเร็วและไม่ชอบการอุดขัดรอยประกบ ส่วนตะเข็บต่างๆบนชิ้นส่วนก็ถือว่าทำได้ดีมากๆเพราะมีแค่เพียงบางๆเท่านั้น สามารถขูดออกได้ง่ายๆด้วยอาร์ตไนฟ์หรือที่ขูดตะเข็บ จะมีแค่ส่วนของเกจพลาสติกที่ติดอยู่บนชิ้นงานในบางจุดที่อาจจะต้องใช้ทักษะในการตัดแต่งเล็กน้อย เพราะจะอยู่ตรงบริเวณกระดอง แต่โดยรวมแล้วก็ถือว่าเป็นการออกแบบที่ทำได้ดีมากจริงๆ ประกอบง่ายและมีรายละเอียดที่คมชัดสวยงามครับ

ทั้งสองตัวนี้เมื่อประกอบเสร็จก็นำไปอาบน้ำล้างด้วยน้ำยาล้างจานให้เรียบร้อย ผึ่งให้แห้งแล้วพ่นรองพื้นด้วยสีดำ แล้วใช้สีขาวมาพ่นเป็นไฮไลท์แบบ Zenithal Priming เพื่อให้มองเห็นแสงเงาของรายละเอียดที่อยู่บนตัวได้ชัดเจนขึ้นครับ สำหรับตัว Neurolictor นำไปเพนท์สีเรียบร้อยแล้วอย่างที่ได้เห็นกันก่อนหน้านี้ เดี๋ยวเร็วๆนี้คงจะนำภาพเพิ่มเติมมาลงให้ชมกันอีกทีครับ ส่วน Lictor นั้นก็เอาไปเก็บดองไว้ในตู้ตามระเบียบ 😅 ถ้าโอกาสอำนวยเมื่อไหร่คงจะนำมาทำสีให้ชมกันอีกทีครับ แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้าครับ

สำหรับเหล่าโมเดลแบบใหม่ของ Tyranids ตอนนี้กำลังเปิดให้พรีออเดอร์อยู่ ใครสนใจก็ลองสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากร้านต่างๆดูได้ครับ

Note: Products free of charge, sponsored by Games Workshop 

#AdWIP 

#New40k

#WarhammerCommunity