Pages

Friday, December 16, 2011

Weathering AFV part 1

" Filters , Fading & Wash "

สวัสดีครับ ผมนำขั้นตอนวิธีการทำสีรถถัง รวมถึงการทำคราบ ร่องรอยสกปรกต่าง หรือที่เรียกกันว่า Weathering มาลงไว้เป็นแนวทางสำหรับคนที่สนใจครับ เป็นแบบที่ฝรั่งเค้าทำกัน ผมนำมาเรียบเรียงตามความเข้าใจแบบของผมเอง และถ่ายรูปขั้นตอนการทำ พร้อมกับบรรยายประกอบให้เข้าใจกันได้ง่ายขึ้น เผื่อท่านที่ยังไม่เคยลองเทคนิคเหล่านี้ จะได้ไปลองทำกันครับ 

สำหรับการทำสีรถถังคันนี้ จะแบ่งเป็นขั้นตอนหลักๆ ดังนี้ ครับ
1.พ่นสีรองพื้น พ่นสีของตัวรถ และพ่นสีลายพราง (ถ้ามี)
2.Filters - การย้อมสีแบบจางๆ สีจะเข้มขึ้นนิดหน่อย และทำให้ลายพรางกับสีพื้นดูกลมกลืนกันมากขึ้น
3.Fading - การใช้สีน้ำมัน จำลองสีของรถถังที่ผ่านสภาพภูมิอากาศ ทั้ง แดดและฝน
4.Wash - การใช้สีน้ำมัน เพื่อเน้นรายละเอียดบนตัวรถถังให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น
5.Chips - การจำลองร่องรอยขูดขีด สีกระเทาะ และสนิม
6.Rain Marks - การจำลองคราบฝุ่น ที่เกิดจากการชะล้างของน้ำฝน
7.Dusting - การทำคราบฝุ่น คราบดิน โคลน
8.Oil effects - การใช้สีน้ำมัน จำลองคราบน้ำมัน

นี่เป็นขั้นตอนที่ผมใช้เป็นประจำครับ อาจจะมีเพิ่มหรือลดบางขั้น และบางครั้งก็อาจจะสลับขั้นตอน ก่อนหลังตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับตัวโมเดลที่ทำครับ ว่าเป็นสีอะไร มีลายพรางหรือไม่ และอยู่ในยุคไหน ซึ่งมันอาจจะดูเยอะครับ และใช้เวลาในการทำพอสมควร แต่ผมคิดว่าผลลัพท์ที่ออกมานั้น มันคุ้มค่ากับเวลาที่เราเสียไปครับ

นายแบบในครั้งนี้คือ รถถังของอิตาลี่ M14/41 ครับ

ขั้นที่ 1 - พ่นสีรองพื้นก่อน เพื่อเช็คความเรียบร้อยในการประกอบและเพิ่มเติมรายละเอียดครับ สำหรับสีของรถถังอิตาลี่ที่ใช้ในยุโรปจะเป็นสีเขียวเทาครับ (Grey-Green FS34159)แต่พอนำ ไปใช้ในแอฟริกาก็จะใช้สีเหลืองทรายพ่นทับไปอีกที (Yellow Sand FS20260)และในบางคัน(อย่างที่ผมเลือกทำ) ก็จะใช้สีเขียวเทามาพ่นทับเป็นลายพรางครับ ซึ่งสีทั้งหมดผมผสมขึ้นมาเอง โดยใช้สีกันเซ่เบอร์ 313-39-62 สำหรับสีเหลืองทราย และสีกันเซ่เบอร์ 52-303 สำหรับสีเขียวเทาครับ สัดส่วนตามความพอใจ อาศัยเทียบกับรูปครับ หลังจากพ่นลายพรางเสร็จแล้ว ผมใช้สำลีชุบน้ำมันรอนสัน เช็ดตามขอบของลายพรางอีกทีครับ เพื่อลบรอยการฟุ้งของสี


ขั้นที่ 2 - Filters ใช้ของ MIG ครับ เขย่าให้เป็นฟองก่อน จากนั้นเอาพู่กันเบอร์ใหญ่ๆ ทาให้ทั่ว อย่าทาจนโชกไปทั้งหมด เพราะสีที่ชุ่มเกินพอแห้งแล้วจะเป็นสะเก็ดสีค้างอยู่ครับ ถ้าตรงไหนที่ชุ่มเกินไป ก็เอาพู่กันมาไล่ให้หมาดๆครับ จากนั้นก็ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทซัก 1 วัน การทำฟิลเตอร์นั้น สีจะเข้มขึ้นนิดนึงครับ ยิ่งทาทับหลายชั้น สีก็จะยิ่งเข้มขึ้นเรื่อยๆครับ

หลังจากสีฟิลเตอร์แห้งแล้ว ก็จัดการติดดีคอลต่างๆให้เรียบร้อย ก่อนทำขั้นต่อไปครับ


ขั้นที่ 3 - Fading อุปกรณ์ที่ใช้มี สีน้ำมันของ Winsor & Newton 3 สี raw umber, yellow ochre, titanium white และ Turpentine (มีหลายยี่ห้อครับ หาซื้อได้ ตามแผนกเครื่องเขียน ตรงที่ขายสีอะครีลิคและสีน้ำมัน )หรือจะใช้ทินเนอร์ x-20 ของทามิย่าก็ได้ครับ แต่ส่วนตัว ผมคิดว่าเทอร์เพ็นไทน์มันละลายสีได้ดีกว่าครับ 


นำสีน้ำมันทั้ง 3 สี มาจิ้มเป็นจุดๆ กระจายให้รอบๆบริเวณที่จะทำครับ ทั้ง 3 สีจะให้ผลลัพท์ที่ต่างกัน สีเหลืองจะทำให้สีของรถถังดูสดขึ้น สีขาวจะทำให้ดูซีดลง ส่วนสีน้ำตาลจะทำให้ดูเข้มขึ้นครับ ถ้าอยากให้สีออกมาแบบไหนก็ให้เน้นที่ สีนั้นเยอะสุดครับ อย่างในคันนี้ ผมเน้นไปที่สีขาว
 




ใช้พู่กันจุ่มเทอร์เพ็นไทน์แค่พอหมาดๆแล้วนำไปทาลากสีลงมาเป็นทางครับ ถ้าพู่กันชุ่มเกินไป สีน้ำมันก็จะโดนชะล้างออกหมด และจะกลายเป็นการวอชไปครับ แต่ถ้าแห้งไป สีก็จะเป็นคราบเห็นได้ชัด ไม่กลมกลืน และถ้าทำออกมาแล้วยังรู้สึกว่ามองไม่ชัดหรือน้อยเกินไป ก็เอาสีมาจุดเพิ่มและทำอีกรอบครับ 

เสร็จออกมาแล้วประมาณนี้ครับ ผมถ่ายรูปออกมาไม่ค่อยชัด ลองสังเกตุที่บริเวณด้านหลังป้อม และตรงฝาปิดห้องเครื่องตามลูกศรชี้ครับ จะเห็นคราบสีไหลเป็นทางอยู่จางๆ และสีบางส่วนจะดูซีดลง จากนั้นทิ้งให้แห้งซัก 1 - 2 ชั่วโมง แล้วนำไปพ่นเคลียร์ 1 รอบครับ เพื่อกันไม่ให้สี ในขั้นตอนต่อไป มาลบสีเฟดดิ้ง 

 
ขั้นที่ 4 - Wash แบ่งเป็น 2 แบบครับ 
General Wash - การวอชแบบทั่วไป โดยผสม Turpentine 70-80% กับสีน้ำมัน 20-30% วิธีนี้ สีจะค่อนข้างจาง เวลาทาแล้ว สีจะไปติดตามร่อง รอยต่อ ตามขอบและมุม เหมาะกับการทาในพื้นที่ กว้างๆ ที่ไม่ได้เน้นรายละเอียดมาก
Pin Wash - การวอชแบบเน้นรายละเอียด โดยผสม Turpentine 40-50% กับสีน้ำมัน 40-50% วิธีนี้ สีจะข้นครับ เหมาะกับการทาเน้นรายละเอียดที่ต้องการให้ดูเด่นชัดขึ้นมา เช่น ร่อง รีเว็ต รอยต่อระหว่างช่องเปิดปิดต่างๆกับตัวรถ

การวอชนั้นจะทำให้สีเข้มขึ้นครับ ถ้าลงสีทับหลายรอบเกินไป สีจะเข้มจนเพี้ยนได้ครับ

ส่วนคันนี้ เนื่องจากเป็นรถถังที่มีรีเว็ตอยู่ทั้งคัน ผมเลยใช้วิธี พิน วอช ครับ โดยใช้สี raw umber ผสมกับ turpentine ให้ข้นๆ แล้วใช้พู่กันเบอร์ 0 ทาหัวรีเว็ตและตามร่องต่างๆครับ 



จากนั้นใช้พู่กันเบอร์ 0 จุ่มกับ turpentine พอหมาดๆ แล้วเอามาทาเกลี่ยสีส่วนเกินที่เลอะอยู่ออก ซึ่งในขั้นตอนนี้ ผมจะทาเกลี่ยสีที่เลอะอยู่ในแต่ละจุด ให้ไปย้อมสีในบริเวณข้างเคียงไปด้วยเลยในทีเดียว เพื่อเป็นการวอชสี ในพื้นที่ ที่ไม่ได้ทาสีไว้ในทีแรก และจะทำให้สีทั้งหมดดูกลมกลืนไปพร้อมกัน 

เปรียบเทียบให้ดูส่วนของป้อมที่ทำการวอชเสร็จแล้ว กับส่วนตัวถังที่ยังไม่ได้ทำครับ จะเห็นว่าสีของป้อมจะเข้มขึ้น และร่องต่างๆ รวมถึงรีเว็ต จะมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น



เมื่อทำการวอชเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดครับ





14 comments:

  1. สุดยอดครับ มีประโยชน์กับมือใหม่อย่างผมจริงๆครับ

    ReplyDelete
  2. Filter ของ mig และสี varejo ซื้อที่ไหนครับ ขอบคุณครับ

    ReplyDelete
  3. สินค้าของ Mig ลองสอบถามได้ที่ร้าน Model World อยู่ตรง PX สนามเป้า กับร้าน Mo Friend ในปั๊มน้ำมัน ปตท. บนถนนวิภาวดีรังสิต ตรงข้ามกับทางเข้า ม.หอการค้าฝั่งวิภาวดีครับ
    ส่วนสี Vallejo นั้น ตอนนี้ยังไม่มีตัวแทนจำหน่ายในไทย ต้องสั่งซื้อเอาจากเวปไซท์ในเมืองนอกครับ :)

    ReplyDelete
  4. ขอบคุณมากครับ

    ReplyDelete
  5. ขอสอบถามหลายข้อครับ ผมเพิ่งเริ่มต่อครับ ความรู้ความสามารถยังน้อย ช่วยชี้ทางด้วยครับ

    ผมใช้สี กันเซ่ สูตรทินเนอร์เป็นหลักในการทำสีพื้น ถ้าผมเอาสีกันเซ่เช่นกับผสมทินเนอร์มากๆ แล้วพ่นลงไปเพื่อทำ filter แบบนี้จะทำให้งานพังรึป่าวครับ กลัวครับตอนนี้ผมเลยยังไม่กล้าทำเทคนิค filter ครับ

    ปกติเค้าใช้สีประเภทใดทำ filter ครับ แล้วเมื่อทำเสร็จจำเป็นต้องพ่นเคลียร์ทับ ก่อน wash หรือไม่ครับ

    ถ้าเครื่องบินเป็นลายพรางสีเทาอ่อน กับเทาเข้ม ควร filter ด้วยสีอะไรครับ

    ถ้าเครื่องบิน รถถัง เป็นลายพรางเวียดนาม ควรfilter ด้วยสีอะไรครับ

    ถ้าเครื่องบินเป็นลายพราง ฟ้าอ่อน ฟ้าเข้ม สีขาว (su-30 รัสเซีย). ควร filter. ด้วยสีอะไรครับ

    รถถัง m1 ของ us army สีทะเลทราย มีสีเดียว จำเป็นต้อง filter หรือไม่ครับ

    ขอบคุณมากครับ เป็นเวปที่ยอดมากครับ

    ReplyDelete
  6. 1.ถ้าพ่นสีพื้นด้วยสีกันเซ่ แล้วเอาสีกันเซ่ผสมจางๆมาพ่นทับ แบบนั้นจะเรียกว่าเป็นการพ่นคลุมโทนสีมากกว่าครับ วิธีนี้จะเหมือนกับเป็นการพ่นคลุมให้โทนสีทั้งหมดอยู่ในโทนเดียวกัน จะนิยมใช้เทคนิคนี้กันในการพ่นสีลายพรางเครื่องบินหรือหุ่นยนต์พวกกันดั้ม ยกตัวอย่างเช่น พ่นสีดำรองพื้นส่วนขาของกันดั้ม แล้วใช้สีขาวมาพ่นทับและเว้นสีดำไว้ตามขอบมุมของขาเพื่อให้เกิดมิติหรือน้ำหนักของสี จากนั้นเอาสีขาวมาผสมให้เจือจางแล้วพ่นคลุมทับทั้งหมด เพื่อให้รอยต่อของละอองสีระหว่างสีดำกับขาวนั้นดูกลมกลืนกันมากขึ้น จะเห็นว่าสีขาวที่พ่นคลุมนั้นจะช่วยทำให้สีดำนั้นดูเทาขึ้นและดูกลืนกับสีขาวมากขึ้น หรือการพ่นสีลายพรางเครื่องบินโทนสีเทา 3 สี โดยใช้ เทากลางพ่นเป็นสีพื้น แล้วใช้เทาอ่อนกับเทาแก่มาพ่นเป็นลายพรางทับลงไป จากนั้นนำสีเทากลางผสมให้ใสแล้วมาพ่นคุลมทับทั้งหมด ลายพรางทั้ง 3 สีจะดูกลมกลืนกันมากขึ้นเพราะสีเทากลางจะเคลือบบางๆอยู่ที่สีเทาอ่อนและเทาแก่ทำให้ทั้งสองสีนี้ดูอ่อนลง และดูกลมกลืนกับสีเทากลางมากขึ้น
    จะเห็นว่าการพ่นคลุมนี้จะใช้กับสีที่อยู่ในโทนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เพราะการพ่นคลุมจะย้อมให้สีอื่นๆนั้นเปลี่ยนมาเป็นโทนสีที่ใกล้เคียงกับสีกลางที่ใช้พ่นคลุมมากขึ้น ซึ่งจะต่างจากฟิลเตอร์ เพราะฟิลเตอร์นั้นจะย้อมให้สีแต่ละสีนั้นดูเข้มขึ้นไปพร้อมๆกัน แต่ยังคงความเป็นสีของตัวเองไว้โดยที่ไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นสีอื่นเหมือนกับการพ่นคลุม

    2.สำหรับสีที่ใช้ทำ จะใช้สีน้ำมันแบบหลอด ซึ่งหาซื้อได้ตามแผนกเครื่องเขียนในห้างสรรพสินค้า เช่นยี่ห้อ Winsor & Newton และใช้ Turpentine หรือ Whitespirit เป็นตัวทำละลายเพื่อให้สีน้ำมันนั้นเจือจางลง แต่อาจจะต้องมีความรู้ในการผสมสีหรือเลือกสีที่เหมาะสมกับโมเดลที่เราจะทำ รวมไปถึงการผสมตัวทำละลายให้เหมาะสมกับสัดส่วนของสี ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป เพราะสีน้ำมันหลอดพวกนี้เป็นสีสำหรับงานศิลปะ โทนสีของฟิลเตอร์ที่เราต้องการอาจจะต้องใช้ผสมจากสีน้ำมันหลายๆสี ดังนั้นจึงมีคนคิดผลิตฟิลเตอร์ขึ้นมาเพื่อความสะดวกของคนทำโมเดล และช่วยลดความยุ่งยากในการทำงานให้น้อยลงครับ
    เนื่องจากการวอชนั้นใช้สีสูตรน้ำมันเช่นกัน ดังนั้นทางที่ดีควรจะรอให้ฟิลเตอร์นั้นแห้งสนิทจริงๆ หรือไม่ก็พ่นเคลือบทับเพื่อที่สีวอชจะได้ไม่ไปลบสีของฟิลเตอร์ออกไป

    3. ข้ออื่นๆที่เหลือ ลองเข้าไปดูได้ตามลิ๊งค์ครับ ถ้าจะลองใช้สีน้ำมันมาผสมฟิลเตอร์เอง ก็ลองผสมตามแบบสีแต่ละขวดที่เค้ากำหนดการใช้งานเอาไว้ก็ได้ครับ

    http://migproductionswebshop.com/index.php?cPath=23&osCsid=8cb764da55a3ec42dbd8bbe8bb5dfb3c

    ส่วนข้อสุดท้ายนั้น ไม่ว่าจะสีพื้นสีเดียวหรือสีพราง 3 สี จำเป็นต้องทำฟิลเตอร์หรือไม่นั้น ลองดูตามความเหมาะสมของตัวเราเองก็ได้ครับ ว่าเราพร้อมที่จะทำเทคนิคนี้หรือเปล่า ถ้ายังไม่พร้อมก็ข้ามไปก่อนก็ได้ สำหรับตัวผมเอง มองว่าฟิลเตอร์นั้นเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการทำเวทเธอริ่ง ถ้าเราทำก็จะช่วยให้ผลงานนั้นดูมีน้ำหนักของสีบนชิ้นงานมากขึ้น แต่ถ้าเราไม่ทำ ก็ไม่ได้หมายความว่างานของเรานั้นจะแย่ลง เพราะยังมีขั้นตอนอื่นๆของการทำเวทเธอริ่งที่จะช่วยให้งานนั้นสมบูรณ์มากขึ้น ทั้งการทำคราบฝุ่น ดินโคลน ร่องรอยกระเทาะต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะสื่อถึงสภาพของการผ่านการใช้งานมาของตัวโมเดลได้ชัดเจนกว่าการทำเพียงแค่ฟิลเตอร์ ดังนั้นผมจึงให้ความสำคัญกับการทำคราบร่องรอยต่างๆเหล่านี้มากกว่าครับ :)

    ReplyDelete
  7. ขอบคุณครับเป็นวิทยาทานกับผมมากครับ

    ReplyDelete
  8. สวัสดีครับ ช่วยแนะนำ อุปกรณ์พื้นฐานในการทำโมเดลหน่อยได้ไหมครับ ผมสนใจจะลองทำดูน่ะครับ
    ขอบคุณครับ

    ReplyDelete
    Replies
    1. สวัสดีครับ ถ้าให้แนะนำอุปกรณ์พื้นฐานในการทำโมเดล มีเพียงแค่ คีมตัดพลาสติก มีดอาร์ตไนฟ์ และ กาวสำหรับติดพลาสติก เพียงแค่สามอย่างนี้ก็สามารถใช้ในการประกอบพลาสติกโมเดลได้ทุกประเภทแล้วครับ หากยังไม่มีประสบการณ์ผมคิดว่าอุปกรณ์อื่นๆมันคงยังไม่จำเป็นครับ
      ลองเอาชื่อของทั้งสามอย่างไปเซิจดูรูปภาพก็ได้ครับ มีหลายยี่ห้อหลายราคา มีขายทั้งตามแผนกเครื่องเขียนในห้างหรืออุปกรณ์ช่าง หรือจะใช้ของยี่ห้อผู้ผลิตโมเดลก็ได้ครับ แต่ราคาจะสูงหน่อย แต่สำหรับกาวแนะนำให้ใช้ของยี่ห้อผู้ผลิตโมเดลเลยจะดีที่สุดครับ อย่างของ Tamiya แบบฝาเขียว หรือของ Mr.Hobby เป็นต้นครับ

      ในการทำโมเดลเบื้องต้นนั้น ให้ทำตามใบคู่มือการประกอบที่ให้มาพร้อมกับตัวโมเดลและทำตามไปทีละขั้นครับ เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจในการประกอบตามขั้นตอนต่างๆ รวมถึงทำความเข้าใจในสัญลักษณ์ต่างๆที่มีในใบต่อก่อนครับ และเมื่อต่อสำเร็จจนเป็นตัวแล้วจึงค่อยมาเรียนรู้เกียวกับวิธีการที่จะทำให้ประกอบโมเดลได้เรียบร้อยขึ้นในตัวต่อๆไป เช่น การแต่งชิ้นส่วนหลังจากตัดจากแผง การขัดเกลาตะเข็บ การอุดขัดรอยต่อ เป็นต้น จากนั้นก็ค่อยๆทำค่อยๆเรียนรู้เพิ่มเติมไปครับ เมื่อมีประสบการณ์และความรู้มากขึ้นแล้ว มันจะทำให้เราค่อยๆหาอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆมาเพิ่มเองเมื่อถึงเวลาที่เราต้องใช้มันครับ

      ส่วนการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำโมเดลเบื้องต้น ลองเข้าไปดูได้ตามเว็บไซต์ต่างๆที่รวมกลุ่มคนเล่นโมเดลประเภทต่างๆเอาไว้ครับ อย่างเช่น
      http://www.thaimsot.com/
      http://www.gundamsite7.com/
      http://www.thaigundam.com/
      นอกนั้นก็จะมีกรุ๊ปต่างๆในเฟซบุ๊คอีกครับ ต้องลองเซิจหาดูครับ

      ยินดีต้อนรับเข้าสู่งานอดิเรกประเภทนี้ และขอให้สนุกกับการทำโมเดลครับ :)

      Delete
  9. สวัสดีครับ ช่วยแนะนำยี่ห้อพู่กันสำหรับใช้ทา Filter และ Wash จากสีน้ำมันหน่อยได้มั้ยครับ
    ที่ใช้อยู่รู้สึกว่าแข็งมาก เกลี่ยสีบนโมเดลไม่ค่อยเนียนเลยครับ

    ReplyDelete
    Replies
    1. ธรรมดาที่ผมใช้ก็พู่กันแบบกลมทั่วไปครับ ส่วนใหญ่จะเลือกใช้แบบถูกๆอย่างของ สง่า หรือ มาสเตอร์อาร์ต ซื้อเก็บเผื่อเอาไว้ เวลาขนมันเริ่มบานก็ทิ้งเปลี่ยนอันใหม่เลยครับ
      แต่ถ้าใช้พู่กันแบบแบน ถ้าของราคาถูกขนมักจะหยาบและแข็งครับ อาจจะต้องเลือกใช้ของที่ราคาแพงขึ้นมาหน่อยเช่นยี่ห้อนำเข้าต่างๆ หรือไม่ก็ลองหาซื้อพู่กันแบนสำหรับงานโมเดลเลย อย่างของยี่ห้อ Mig Productions ครับ

      Delete
    2. ขอบคุณมากครับ :-D

      Delete
  10. สวัสดีครับ

    ผมพึ่งเคยลองวอชด้วยสีน้ำมัน+turpentine แต่พอทำเสร็จ แล้วผิวชิ้นงานมันออกเหนียวๆ นี่ปกติรึเปล่าครับ ^^*

    ReplyDelete
    Replies
    1. ธรรมดามันไม่ควรจะเหนียวครับ ถ้าให้เดา คิดว่าอาจจะเกิดจากกรณีที่สีน้ำมันแบบที่มีน้ำมันลินสีดอยู่เยอะในเนิ้อสี เมื่อนำมาผสมกับ turpentine แล้วอาจจะไม่เจือจางพอ น้ำมันลินสีดในสีน้ำมันจึงยังคงความเงาและเหนียวอยู่ครับ แม้จะแห้งแล้วก็ตาม หรือไม่ก็อาจจะผสมสีน้ำมันค่อนข้างข้น พอนำไปวอชแล้วเช็ดไม่สะอาดหรือตั้งใจทิ้งคราบเอาไว้ แม้ว่าส่วนอื่นจะแห้งแล้วแต่ส่วนที่เป็นคราบอาจจะยังไม่แห้งสนิท จึงทำให้จับแล้วมันเหนียวๆครับ หากเป็นสาเหตุนี้ลองเอาเคลียร์ด้านมาพ่นทับดูน่าจะช่วยได้ครับ

      ทางที่ดีถ้ามีรูปตัวอย่างให้ดูด้วยก็อาจจะบอกได้ชัดเจนกว่านี้ครับ

      Delete