Pages

Sunday, July 15, 2012

1.4. Making cobblestone road on a small base

(การทำพื้นถนนหินบนฐานขนาดเล็ก)
วิธีการนี้จะเป็นการทำพื้นถนนหินแบบในยุโรปด้วยปูนพลาสเตอร์ครับ ตัวอย่างที่นำมาให้ดูเป็นการทำฐานของพื้นถนนที่มีซากปรักหักพัง สำหรับฟิกเกอร์ทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่วิธีการนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโมเดลประเภทอื่นๆได้ ซึ่งวิธีการทำจะเหมือนกัน แต่อาจจะแตกต่างตรงเรื่องขนาดของพื้นหินที่จะทำให้เข้ากับสเกลของโมเดลแต่ละประเภทครับ ถ้าอาศัยดูภาพอาคารที่โดนถล่มในช่วงสงคราม  และลักษณะของเศษอิฐเศษหินที่กองในเมืองจะยิ่งช่วยได้มากครับ ลองไปดูกันทีละขั้นเลยครับ 


เริ่มจากการทำส่วนของฐานไม้กันก่อน ตามวิธีการแบบครั้งที่แล้วครับ ตรงขอบไม้บัลซ่าด้านบนผมจะติดให้สูงกว่ากล่องกระดาษ เพื่อเวลาเอาพื้นปูนมาใส่จะได้ลงช่องพอดีครับ 


ใช้ฝากล่องเก็บของพลาสติก หรือแผ่นอะครีลิคที่กั้นขอบทั้ง 4 ด้านให้สูงเท่ากันก็ได้ครับ จากนั้นเทปูนพลาสเตอร์ลงไป แล้วใช้ไม้บรรทัดเหล็กปาดให้เรียบเสมอกับขอบที่กั้น พอแห้งแล้วเราก็จะได้แผ่นปูนเรียบๆ นำมาตัดให้พอดีกับฐานครับ 


นำปูนที่ตัดไว้ไปวางลงบนฐานไม้ที่เตรียมเอาไว้ จากนั้นแกะลายของพื้นหินและฟุตบาทด้วยปลายมีดหรือปลายเข็มก็ได้ครับตามสะดวก ข้อดีของปูนพลาสเตอร์คือสามารถแกะรายละเอียดได้ง่าย และลักษณะเวลาแตกหักจะเหมือนกับปูนหรือหินจริงๆ 


นำเศษปูนที่เหลือจากการหล่อมาทุบให้แตก เล็กบ้างใหญ่บ้าง ติดด้วยกาวลาเท็กซ์บนฟุตบาทเพื่อจำลองลักษณะของเศษอิฐเศษหินของอาคารที่โดนทำลาย และโรยด้วยเศษอิฐสีส้มของจริงที่นำมาทุบให้ละเอียดทับลงไป จากนั้นใช้กาวลาเท็กซ์ผสมน้ำ ทาและชโลมให้ทั่วเพื่อให้ทุกส่วนนั้นยึดติดได้แน่นหนาขึ้น ส่วนเครื่องยนต์ที่นำมาวาง เพื่อให้ฐานนั้นดูมีเรื่องราวและน่าสนใจมากขึ้นครับ (ที่เห็นเป็นเครื่องยนต์ของรถ M151 Ford Mutt ซึ่งเป็นรถที่ใช้ในช่วงสงครามเวียดนาม อยู่กันคนละยุค แต่ผมนำมาใส่เพื่อเพิ่มองค์ประกอบเท่านั้นครับ)



ทิ้งใว้ให้กาวนั้นแห้งสนิทประมาณ 1 คืนครับ แล้วนำไปลงสีในส่วนต่างๆตามความเป็นจริง เช่นพื้นถนนสีเทา กองอิฐกองหินด้วยสีทรายและน้ำตาลแดง ซึ่งตอนนี้จะเห็นว่าสีทั้งหมดจะยังดูโดดๆอยู่ 


จากนั้น Wash ทั้งหมดด้วยสีน้ำมัน สี raw umber ผสมให้เจือจางด้วย turpentine เพื่อให้สีนั้นเหลวเป็นน้ำและมีความใสมากขึ้น แล้วทาชโลมให้ทั่ว วิธีการนี้จะเป็นการย้อมให้สีส่วนต่างๆนั้นเข้มขึ้น โดยใช้การทาทับไปทีละรอบ ยิ่งทาทับหลายรอบสีก็จะยิ่งเข้มครับ เมื่อทิ้งให้แห้ง สีทั้งหมดในตอนแรกจะดูกลมกลืนไปในโทนเดียวกันครับ 



ขั้นสุดท้ายมาแต่งให้ดูเก่าๆคลุกฝุ่นอีกที ด้วย Pigment ของ MIG และสีฝุ่นแบบแท่งมาผสมๆกัน โดยโรยสีฝุ่นลงไปและใช้พู่กันจุ่ม  turpentine มาแปะลงไปบนฐานให้  turpentine นั้นวิ่งไปโดนสีเอง
วิธีนี้จะช่วยให้สีฝุ่นนั้นยึดเกาะกับผิวได้ดีขึ้น และให้ผลลัพธ์ที่ดูแล้วเหมือนซากปรักหักพัง ที่มีฝุ่นมีทรายเยอะๆครับ เมื่อทิ้งให้แห้งแล้วค่อยนำไปพ่นเคลียร์ด้านอีกที 



ตัวอย่างผลงานที่เสร็จแล้วครับ

No comments:

Post a Comment