Pages

Sunday, July 22, 2012

1.6. Making snow surface on a large base

(การทำพื้นหิมะบนฐานขนาดใหญ่ - ฉากถนนในชนบทของยุโรป ตอนที่ 2 - หิมะฤดูหนาว ) 
สำหรับชิ้นนี้จะต่อเนื่องกับอันที่แล้วครับ รูปแบบการทำงานจะคล้ายๆกันแต่เปลี่ยนจากลักษณะของฉากในหน้าร้อน มาเป็นฉากในฤดูหนาว ซึ่งจะใช้วิธีการทำหิมะในอีกรูปแบบหนึ่งด้วยผงทรายละเอียด ที่พี่หมึกข้างขวดเคยเขียนวิธีการไว้ในหนังสือ Power Up ครับ นำมาทดลองทำให้ได้ชมกัน


เช่นเดิมครับ ฐานนั้นทำจากกระดาษชั้นและกรุรอบด้านด้วยไม้บัลซ่า ส่วนพื้นดินนั้นทำจากดินเยื่อกระดาษ หรือจะใช้ปูนพลาสเตอร์ก็ได้ครับ ตามสะดวก ถ้าใช้ดินเยื่อกระดาษทำพื้นดินก็ทากาวลาเท็กซ์ผสมน้ำให้ทั่วๆแล้วเอาดินมาโรยครับ แต่ถ้าเป็นปูนพลาสเตอร์ เทปูนลงในจุดที่ต้องการแล้วเอาดินโรยในตอนที่เปียกๆเลยครับ ดินที่เห็นก็เป็นดินที่ผมตักเก็บมาจากตามข้างถนน แล้วนำไปร่อนด้วยตะแกรงหรือกระชอนสำหรับทำอาหาร เลือกเอาที่มีรูตะแกรงค่อนข้างถี่หน่อยครับ จะได้ดินที่ดูละเอียด ส่วนดินที่ใหญ่กว่าหรือเศษหินที่โดนร่อนออกไป เราค่อยเอามาติดลงทีหลัง 


ช่วงที่ดินหรือปูนกำลังหมาดๆ ก็นำสายพานหรือล้อรถมากด ถ้าเป็นดินปั้นจะกดรอยได้ง่ายและคมชัดครับ ส่วนปูนพลาสเตอร์จะต้องรอให้เซ็ทตัวนิดนึง ถึงจะกดรอยได้ ลองใช้นิ้วจิ้มดูก็ได้ครับ ถ้าไม่นิ่มจนบุ๋มไปเลยก็กดลายได้เลย ส่วนหญ้านั้น เนื่องจากเป็นหน้าหนาวจึงใช้แต่หญ้าที่ทำจากเชือกปอครับ ตัดเก็บเอาไว้ทีเดียว จะได้ใช้ได้สะดวก 


ถ้ากลัวดินหรือหญ้าที่ลงไว้จะไม่แข็งแรง ติดแน่นทนนาน ก็เอากาวลาเท็กซ์มาผสมกับน้ำ ทาชโลมให้ทั่วอีกทีก็ได้ครับ ทิ้งไว้ให้แห้ง ออกมาแล้วจะได้ประมาณนี้ 



จากนั้นก็นำไปกั้นขอบเพื่อทำสีครับ ใช้สีกระป๋องเลย์แลนด์เช่นเดิม นำมาพ่นใส่ฝาแล้วผสมสีเอง สีต้นหญ้าจะมีสีใกล้เคียงของจริงอยู่แล้ว พ่นคลุมบางๆก็พอครับ ด้วยสีเหลืองโอ๊ค ผสมขาว และครีม ถ้ากันเซ่ก็เบอร์ 313 หรือ 39 ผสมขาว ส่วนสีของพื้นดิน ในฤดูหนาวนั้นดินจะมีสีเข้ม ซึ่งดินที่นำมาโรยจะมีสีเข้มตามธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแค่พ่นหรือทาสีแต่งให้ดูมีน้ำหนักของสีเพิ่มมากขึ้นอีกหน่อย ด้วยสีน้ำตาลเข้มผสมกับน้ำตาลแดงและเทานิดหน่อย ถ้าสีกันเซ่ก็เบอร์ 42 ผสม 41 หรือ 43 ตามสะดวก แล้วค่อยเอาสีที่พ่นมาผสมให้อ่อนลงหรือเข้มขึ้น แล้วทาๆป้ายๆไปอีกทีครับ ผสมทินเนอร์เยอะๆ และใช้ทินเนอร์เกลี่ยให้สีกลมกลืนกัน เพื่อที่พื้นดินจะได้ดูมีน้ำหนัก ไม่เป็นสีเดียวเท่ากันทั้งหมด

ต่อไปมาเริ่มทำส่วนของหิมะกันครับ เนื่องจากบ้านเรานั้นไม่เคยได้เห็นหิมะกันมาก่อน จึงยากที่จะเข้าใจว่ามันจะเป็นอย่างไรดังนั้นการหาภาพมาอ้างอิงรูปแบบที่คิดจะทำจากในเน็ท จะช่วยในการทำงานได้มากครับ  




การทำหิมะขั้นแรก ใช้ปูนพลาสเตอร์ตักใส่ถ้วยทีละนิด ผสมกับน้ำเยอะหน่อย จะได้แห้งช้าๆแล้วใช้พู่กันทาตามจุดที่คิดไว้ครับ โดยเริ่มจากทาแบบผสมน้ำเยอะๆก่อนเพื่อกำหนดตำแหน่งหิมะ
จากนั้นค่อยผสมปูนให้ข้นขึ้น แล้วทาทับลงไปอีกที เพื่อให้เป็นก้อนหิมะที่จับตัวกันอยู่ 



ตรงส่วนที่เป็นถนนนั้น หิมะจะมีอยู่บ้าง แต่ไม่มากหรือจับเป็นก้อน ทำด้วยปูนพลาสเตอร์เช่นเดียวกันครับ ผสมน้ำให้เยอะๆแล้วใช้พู่กันเบอร์ใหญ่ๆทา โดยจะเยอะหน่อยตรงกลางถนน ซึ่งเวลาทานั้นจะดูยากครับว่าทาเยอะหรือน้อยเกินไป เนื่องจากปูนยังเปียกอยู่ ต้องรอให้แห้งถึงจะเห็นได้ชัดเจน ถ้าจุดไหนที่คิดว่าเยอะเกินไปก็เอาน้ำเปล่ามาทาเกลี่ยออกได้ครับ 


เมื่อแห้งแล้ว
 

สำหรับเกล็ดหิมะนั้น ถ้าใช้เพียงแค่ปูนอย่างเดียว อาจจะไม่สมจริง เพราะพอแห้งแล้วปูนจะมีผิวที่ด้านครับไม่มีความมันอยู่เลย และดูเรียบ ไม่มีพื้นผิว ผมเลยใช้ทรายละเอียดสีขาวครับ (White fine sand for handicraft) หาซื้อได้จาก B2S ขายเป็นถุง น่าจะ 50 บาทครับ มีให้เลือกหลายสีและละเอียดมากๆ นำมาผสมกับน้ำและกาวลาเท็กซ์ แนะนำว่า กาวของ TOA น่าจะดีที่สุดครับ เพราะเคยใช้ยี่ห้ออื่นแล้ว นานๆไปกาวจะไม่ยึดติดกับพื้นผิวและเปลี่ยนสีเป็นเหลืองครับ ไม่แน่ใจว่า TOA ในระยะยาวจะเปลี่ยนสีรึเปล่า แต่สำหรับตอนนี้ถือว่าโอเคทีสุดครับกับการยึดเกาะ นำไปทาทับด้านบนของปูนที่ลงไว้อีกทีครับ ตรงส่วนถนนก็ทาทับเช่นเดียวกัน ตรงจุดไหนที่ดูเยอะไปก็ใช้น้ำเปล่าช่วยเกลี่ย 




ทิ้งไว้ให้แห้ง 1 คืน จะเป็นแบบนี้ครับ



จะเห็นว่าพื้นผิวของหิมะจะดูด้านมากครับ เนื่องจากผสมปูนพลาสเตอร์เยอะเกินไป จึงต้องทำการแต่งสีเพิ่มเติมด้วยการใช้สีเคลียร์มันของเลย์แลนด์มาฉีดใส่ฝาแล้วทาเก็บตามผิวของหิมะอีกทีครับ จากนั้นก็ทำการแต่งคราบเก่าคราบสกปรกต่างๆบนพื้นถนน ด้วยสีน้ำมัน raw umber ผสมกับ turpentine อาจผสมสีเคลียร์ใส (Gloss varnish)สูตรน้ำมัน X-22 ของ Tamiya ด้วยก็ได้ครับ เพื่อความมันเงามากขึ้น ทาเกลี่ยตามแนวถนน และริมขอบทางครับ ก็เป็นอันเรียบร้อย 







วิธีการนี้เท่าที่ลองมา ผลที่ได้ของหิมะนั้นยังดูไม่ละเอียดหรือสมจริงเหมือนกับการใช้ผงฟู ( sodium bicarbonate ) ที่จะดูแวววาวและเป็นก้อนที่มีลักษณะละเอียดกว่า เนื่องจากการใช้ปูนพลาสเตอร์ช่วยในการทำหิมะนั้น เมื่อแห้งแล้วพื้นผิวจะดูด้านเกินไป และจะต้องใช้เคลียร์มันมาทาหรือพ่นอีกที ถ้าใช้เพียงทรายละเอียดสีขาวเพียงอย่างเดียวในการทำหิมะ อาจจะให้ผลลัพท์ของลักษณะหิมะที่ดีกว่านี้ครับ แต่ข้อดีของวิธีการนี้คือตัวหิมะนั้นจะยึดติดอยู่บนฐานได้แน่นหนากว่า ไม่หลุดร่อนออกไปง่ายเหมือนกับผงฟูครับ

No comments:

Post a Comment