Friday, July 27, 2012

2. Intermediate (ขั้นกลาง)

ในหัวข้อที่ 2 นี้จะเป็นขั้นตอนของการทำงานที่มีรายละเอียดและความซับซ้อนในการสร้างชิ้นงานเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น การขึ้นรูปโครงสร้างอาคารต่างๆด้วยตัวเอง หรือการสร้างต้นไม้ชนิดต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับอัตราส่วนของฉากจำลองของเรา ซึ่งการสร้างชิ้นงานในลักษณะที่กล่าวมา จะมีเรื่องของการคำนวนขนาดตามมาตราส่วนมาเกี่ยวข้องด้วย เพราะในการทำงานโมเดลที่มีเรื่องของอัตราส่วนเป็นตัวกำหนดขนาดของตัวโมเดลนั้น การคำนวนขนาดและความสูงของตัวโมเดลเปรียบเทียบกับขนาดของจริงจะมีส่วนในการช่วยให้ฉากจำลองที่เราทำนั้นดูสมเหตุสมผลและสอดคล้องไปกับมาตราส่วนที่เราทำอยู่ครับ ไม่ดูโอเวอร์สเกลผิดขนาดกันจนเกินไป และสามารถช่วยในการกำหนดขนาดของตัวฉากจำลองรวมถึงองค์ประกอบอื่นๆที่จะอยู่ร่วมในฉากได้ทั้งหมด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าในการทำฉากจำลองทุกๆครั้ง จะต้องแม่นยำกับเรื่องขนาดและอัตราส่วนกันแบบเป๊ะๆในการทำงานนะครับ เอาแค่พอใกล้เคียงหรือตามที่แต่ละท่านจะสะดวกก็พอครับ เพราะตัวผมเองก็ไม่ได้มานั่งคำนวนทุกๆครั้งที่ทำงาน อาศัยความเคยชินและกะขนาดเทียบกับตัวโมเดลเอา แต่คิดว่าการที่ได้อธิบายถึงเหตุผลและที่มาที่ไปของการทำงานแบบที่ต้องคำนวนนี้ก่อน น่าจะช่วยให้เข้าใจถึงขั้นตอนและวิธีการขึ้นชิ้นงานกันได้ง่ายมากขึ้นครับ และอย่างที่ได้บอกไว้ ว่าการทำงานของผมเป็นอีกเพียงแนวทางหนึ่งในการทำงาน ดังนั้นท่านต้องพิจารณาและนำไปปรับใช้ให้เข้ากับวิธีการทำงานของตัวท่านเอง จะดีที่สุดครับ

การคำนวนเปรียบเทียบมาตราส่วน (How to calculate the scale)

มาพูดถึงเรื่องของมาตราส่วนกันก่อน เผื่อหลายๆท่านอาจจะยังไม่ทราบ มาตราส่วนที่เราเห็นกันจนชินตาไม่ว่าจะเป็นสเกล 1/35 , 1/48 , 1/72 , 1/100 , 1/144 คืออัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างของจริงที่เป็นต้นแบบกับตัวโมเดลที่ถูกย่อส่วนลงมาเป็นจำนวนเท่า เช่น 1/35 คือถูกย่อส่วนลงมาจากของจริง 35 เท่า หรือ 1/144 ย่อส่วนลงมาจากของจริง 144 เท่า เป็นต้น ดังนั้นการที่จะหาขนาดในการสร้างอาคารหรือโครงสร้างต่างๆที่อยู่ร่วมภายในฉากจึงต้องใช้การคำนวน ช่วยให้มีขนาดที่เหมาะสมกับตัวโมเดลและฉากจำลองที่เราจะทำ โดยสูตรการคำนวนที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ ใช้สัดส่วนของความสูง ความกว้าง หรือ ความยาว จากของจริง (เลือกมา 1 อย่างและใช้หน่วยเป็นเซ็นติเมตร) เป็นตัวตั้งและหารด้วยมาตราส่วนของโมเดลที่เราทำครับ
 

ยกตัวอย่างเช่น คนในมาตราส่วน 1/35 ถ้าคิดความสูงเฉลี่ยจากคนจริงรูปร่างแบบฝรั่งคือ สูง 180 ซม. นำมาหารด้วยมาตราส่วนของโมเดลคือ 35 จะได้ความสูงของตัวคนที่สูง 180 ย่อมา 35 เท่า คือ 5.14 ซม.กว่าๆ
 

หรือถ้าบ้านมีขนาดความสูงของแต่ละชั้นอยู่ที่ 3 เมตร เมื่อเทียบมาตราส่วน 1/100แล้ว บ้านแต่ละชั้นจะมีความสูงคือ 300 หารด้วย 100 จะได้ความสูงของแต่ละชั้นเท่ากับ 3 ซม. ครับ
ดังนั้นถ้าจะหาทั้งความยาว ความกว้างและความสูง ก็จะต้องมานั่งคำนวนเปรียบเทียบสัดส่วนกันทั้งหมดเพื่อให้ได้สัดส่วนที่แน่นอนครับ (ตัวผมเองเวลาทำงานมักจะหาแต่ส่วนสูงและปัดเศษขึ้นเพื่อให้ทำงานและวัดขนาดได้ง่ายขึ้น เช่น 5.14 ซม. ก็ปัดเป็น 5.2 ไปเลย ส่วนความกว้างความยาวจะอาศัยกะเอาตามความเหมาะสมมากกว่า)

อีกวิธีในการวัดสัดส่วนที่ถูกต้องและแม่นยำกว่าคือการใช้ไม้บรรทัดที่ทำการเปรียบเทียบมาตราส่วนมาให้แล้ว ที่เรียกกันย่อๆว่า สเกล (scaleruler) หรือ ไม้บรรทัด 3 เหลี่ยมครับ เป็นอุปกรณ์พื้นฐานของคนที่เรียนทางด้านการออกแบบและใช้ในการเขียนแบบประเภทต่างๆ หาซื้อได้ตามแผนกเครื่องเขียนในห้างทั่วไป ไม้บรรทัด 3 เหลี่ยมนี้จะแบ่งช่องของขีดในไม้บรรทัดเอาไว้ตามมาตราส่วนที่ย่อลงมาและมีให้วัดได้หลายมาตราส่วนในไม้บรรทัดเดียว ลองดูตามภาพครับ ในไม้บรรทัดด้านขวาจะเห็นแถบสีเหลืองที่มีเขียนว่า 300 cm และ 30 m ซึ่งไว้ใช้วัดขนาดมาตราส่วน 1/10 และ 1/100 ตามลำดับ จะเห็นว่าการแบ่งช่องของตัวเลขและขีดจะเท่ากับไม้บรรทัดทั่วไป เพราะ 1 ซม. ในขนาดจริงเทียบเท่ากับ 10 ซม. และ 10 ม. ในมาตราส่วน 1/10 และ 1/100 ครับ  



สำหรับไม้บรรทัดแบบที่มีมาตราส่วนที่ตรงกับของตัวโมเดลแต่ละประเภทเองนั้น เท่าที่ทราบมีบริษัทโมเดลบางยี่ห้อที่ผลิตออกมา แต่อาจจะหาซื้อยากหน่อยในบ้านเรา ถ้าหาไม่ได้จริงๆก็ใช้การคำนวนตามตัวอย่างข้างบนได้ครับ

No comments:

Post a Comment