Pages

Friday, July 27, 2012

2.1. Making a building from plaster

(การทำอาคารด้วยปูนพลาสเตอร์)  

This article scanned from AFV MODELLER Magazine Issue.9 ; "Home Help" by Marijn Van Gils

ในขั้นตอนนี้ ขอใช้การแสกนภาพวิธีการที่ฝรั่งได้ทำเอาไว้มาแปลและเรียบเรียงให้ชมกันแทนนะครับ น่าจะเข้าใจและเห็นภาพขั้นตอนต่างๆได้ชัดเจนกว่าผมทำเอง เป็นวิธีการทำตึกจำลองจากปูนพลาสเตอร์ของ Marijn Van Gils ครับ จากหนังสือ AFV MODELLER Issue.9 วิธีนี้เป็นรูปแบบของการทำอาคารที่ผมใช้อยู่ตลอด โดยเฉพาะการทำอาคารที่เกิดความเสียหายหรือถูกทำลายจะทำออกมาได้ดูสมจริงกว่าวัสดุอื่นๆ เพราะลักษณะของปูนพลาสเตอร์นั้นจะแกะรายละเอียดต่างๆและทำให้แตกหักได้ง่าย ซึ่งจะดูใกล้เคียงกับอาคารจริงที่สร้างด้วยปูนหรืออิฐมากกว่าวัสดุชนิดอื่นๆครับ แต่ข้อเสียก็คือเรื่องของน้ำหนักที่จะมากตามขนาดของตัวอาคารที่ทำครับ
ขออธิบายตามภาพประกอบทีละขั้นเลยนะครับ ขออภัยด้วยที่แสกนมาไม่ค่อยชัด สงสัยตรงไหนก็สอบถามได้ครับ

1. วาดแบบของอาคารที่จะทำในลักษณะกลับด้านจากความจริง เช่น ประตูจริงอยู่ซ้าย ก็ให้วาดไว้ทางขวาครับ วาดลงบนวัสดุผิวเรียบ ในทีนี้แนะนำแผ่นพลาสติกครับ ที่มีความหนามากหน่อย เพราะจะง่ายต่อการกั้นขอบ แต่ถ้าหาไม่ได้จริงๆ ใช้แผ่นกระเบื้องหรือกระจกก็ได้ครับ ส่วนกระดาษนั้นไม่แนะนำครับ เพราะจะเสียรูปทรงเมื่อโดนน้ำ และถ้าจะใช้แผ่นไม้ ต้องเคลือบผิวไม้ให้เรียบและเงาครับ ไม่อย่างนั้นปูนจะติดและแกะออกยาก
2. ใช้แผ่นพลาสติกหนา 1.5 มิล หรือมากกว่านั้น นำมาติดเข้าไปบนพื้นที่ด้านบนของกำแพงที่วาดเอาไว้ เพื่อจำลองความหนาของกำแพงที่มีระดับพื้นผิวต่างกันจากหินที่ใช้ก่อเป็นฐานของกำแพงและหน้าต่าง
3. กั้นขอบทั้ง 4 ด้านด้วยแผ่นพลาสติกให้แน่นหนาครับ ในสเกล 1/35 ขนาดความหนาของขอบกำแพงจะหนาประมาณ 1 ซม. ตัดแผ่นพลาสติกให้กว้าง 1 ซม. และนำมากั้นขอบให้ได้ระดับความสูงเดียวกันทั้ง 4 ด้าน เพื่อความสะดวกในการปาดผิวปูนพลาสเตอร์ให้เรียบเสมอกัน ข้อดีของพลาสติกคือตัดแต่งและติดกาวง่าย แข็งแรง และยังสามารถดัดโค้งได้ด้วย อย่างในภาพครับ 



4. เป็นรูปแบบปูนที่เขาใช้ครับ บ้านเราก็ใช้ปูนพลาสเตอร์ธรรมดาทั่วไปครับ
5. ผสมปูนกับน้ำ และคนให้เนื้อปูนละลายอย่างทั่วถึง ไม่จับเป็นก้อน และไม่เหลวหรือข้นจนเกินไป หลังจากคนแล้ว ถ้ามีฟองอากาศก็ตักออกให้มากที่สุดครับ
6. เทปูนลงไปให้ทั่วแบบให้ล้นเกินออกมาหน่อยก็ได้ครับ 



7. หลังจากปูนเริ่มเซ็ทตัว คือเริ่มแข็งแล้วแต่ยังไม่มาก ปูนไทยน่าจะ ในช่วง 5 -10 นาทีครับ ใช้ไม้บรรทัดเหล็กมาปาดที่ขอบให้เรียบเสมอกัน
8. เมื่อปาดผิวด้านบนแล้ว พื้นผิวจะเรียบเสมอกันกับขอบที่เราได้กั้นเอาไว้ครับ และทิ้งใว้จนแข็งตัวและแห้งสนิทประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
9. แกะขอบที่กั้นออกครับ
10. เสร็จขั้นตอนทำรูปทรงขั้นแรกแล้วครับ จากภาพจะเห็นผลของการติดแผ่นพลาสติกในภาพที่ 2 ที่ทำให้พื้นผิวของกำแพงนั้นแบ่งออกเป็น 2 ระดับครับ ปูนพลาสเตอร์นั้นจะแข็งตัวและแห้งแค่ภายนอกครับ ต้องทิ้งไว้เป็นวัน ถึงจะแห้งสนิททั้งหมด ถ้าจับแล้วยังชื้นๆอยู่ก็จะสามารถตัดแต่งและแกะลายได้ง่ายครับ แต่ก็จะเปราะและแตกง่ายด้วย 



11. เริ่มทำการแกะลายของหิน โดยวาดเส้นในแนวขวาง
12. ใช้เข็มในการแกะลาย กับไม้บรรทัดเหล็ก ซึ่งตัวผมเองจะเอาเข็มที่แถมมากับกาวช้าง ไปติดในปากกาที่เอาไส้ออกให้แน่นด้วยกาวปะเหล็กครับ จะได้จับถนัดและทำงานสะดวก 



13. การแกะลายนั้นมี 2 แบบครับ คือลากตามแนวจากบนลงล่าง และอีกวิธีที่เค้าใช้คือ การลากจากล่างขึ้นบน ซึ่งถ้าดันเข็มด้วยแรงที่มากหน่อยจะทำให้ขอบของเส้นนั้นแตกออกมาด้วย
และจะได้ลักษณะของหินที่ดูเป็นธรรมชาติ
14. ลากเส้นในแนวตั้งด้วยวิธีแบบเดียวกันครับ
15. กำแพงที่แตกและหักนั้น ทำโดยใช้คีมตัดพลาสติกครับ ทางที่ดีควรจะขีดเส้นแนวหักที่ต้องการไว้ก่อน แล้วใช้มีดอาร์ตไนฟ์ตัดนำร่องไว้ก่อน เพื่อกันการแตกหักของปูนที่จะควบคุมยาก
16. วาดลายของส่วนกำแพงที่กระเทาะออกจนมองเห็นผนังอิฐ และใช้มีดขูดปูนออกตามแนวเส้นที่เขียนไว้เพื่อนำร่อง พยายามทำให้แนวที่แตกออกนั้นดูสมจริงครับ 



17. ส่วนที่เหลือขูดออกด้วยมีดอาร์ตไนฟ์ พยายามขูดให้ผิวนั้นเรียบเสมอกัน และจะได้ลักษณะของปูนที่ฉาบทับบนอิฐนั้นแตกออก และเห็นระดับพื้นผิวที่แตกต่างกันได้ชัดเจนขึ้น
18. ใช้เข็มขูดลายของอิฐตามแนวขวาง
19. จากนั้นก็ขูดลายตามแนวตั้ง บางส่วนของตามมุมก้อนอิฐ ใช้มีดอารต์ไนฟ์แต่งให้ดูมีร่องรอยที่หักพัง และมีความสูงต่ำไม่เท่ากัน จะดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น
20. ด้านข้างของกำแพงก็แกะลายของอิฐด้วยเช่นเดียวกันครับ 



21. ในการยึดปูนเข้าด้วยกันนั้น เค้าใช้ กาวอีพอคซี่ครับ น่าจะเหมือนกับกาวอีพอคซี่ของ alteco ในบ้านเราที่มีขายทั่วไปตามร้านก่อสร้างครับ ตัวผมเองจะใช้กาวยาง UHU หรือไม่ก็กาวลาเท็กซ์ครับแต่จะใช้เวลาแห้งช้ามากๆ ต้องทิ้งไว้เป็นวันครับ
22. ส่วนการอุดรอยต่อที่ไม่แนบกันสนิทจากการต่อกันของชิ้นปูน ก็ใช้กาวอีพอคซี่เช่นเดียวกัน วิธีของผมใช้แป้งดินสอพองครับ หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ผสมกับน้ำและทาตามรอยให้หนาๆ
23. จากนั้นก็ปาดส่วนที่เกินออก ถ้าเป็นดินสอพองต้องใช้น้ำช่วย โดยเอาปลายไม้บรรทัดเหล็กจุ่มน้ำ แล้วปาดให้เรียบเป็นผิวเดียวกัน ถ้ามีส่วนเกินหลงเหลือก็ใช้พู่กันจุ่มน้ำมาทาเกลี่ยอีกทีได้ครับ
24. เสร็จออกมาจะดูเรียบเนียน ไร้รอยต่อ เป็นชิ้นเดียวกัน 



25. วิธีทำขอบหน้าต่างที่ยื่นออกมา ด้วยปูนที่ผสมให้ข้นหน่อย และเทลงบนขอบล่างของหน้าต่าง
26. กำแพงปูนจะดูดน้ำจากปูนที่เทลงไปใหม่ ทำให้แห้งเร็ว แต่ยังไม่แห้งสนิท สามารถตัดแต่งรูปทรงได้ง่ายด้วยใบมีดคัตเตอร์คมๆ
27. เสร็จแล้วครับ เค้าบอกว่าตรงส่วนนี้ใช้เวลาไม่ถึง 3 นาที
28. ขั้นต่อไป เป็นการทำกระเบื้องหินมุงหลังคาครับ ผสมปูนให้ข้นๆ แล้วเทลงบนแผ่นกระจกหรือกระเบื้อง 



29. ช่วงที่ปูนกำลังแข็งตัว ตัดออกมาตามรูปทรงที่ต้องการ
30. ได้ออกมาเป็นแผ่นยาว 



31. เฉือนปูนด้านบนออกให้มุมลาดลงด้านหนึ่ง
32. ตัดส่วนด้านข้างออก
33. จากนั้นก็นำไปแกะลายและทำเท็กซ์เจอร์ครับ
34. ภาพรวมทั้งหมด 



35. Texture ของหินทำด้วยแปรงลวดครับ ปัดๆขูดๆเบาๆ หรือจะใช้กระดาษทรายเบอร์หยาบๆก็ได้ครับ ด้วยการตัดเป็นแผ่นเล็กๆ แล้วนำมา ตบๆ ลงบนผิวของปูน
36. ออกมาสวยมากครับ
37. วิธีการทำ Texture ของกำแพงปูน เข้าใช้สีน้ำมัน Humbrol ผสมกับ Talcum powder ผมไม่แน่ใจว่าเหมือนกับแป้งเด็กทั่วไปรึเปล่า ผสมกันให้ข้นๆเหมือนโคลนครับ หรืออาจจะใช้พุตตี้ผสมกับทรายละเอียดมาทำแทนเทคเจอร์ก็ได้ครับ
38. ทาลงบนพื้นผิวกำแพง แล้วใช้พู่กันแบนกดๆให้ทั่ว จนเกิดพื้นผิวขึ้นมาครับ 



39. การทำ Texture ด้วยวิธีนี้ สามารถทำพื้นผิวได้หลายแบบ อยู่ที่การผสมแป้งหรือทรายลงไปมากน้อยแค่ไหน และพู่กันขนาดต่างๆกัน ก็ให้ผลแตกต่างกัน รวมไปถึง การกดพู่กัน จิ้ม หรือลาก ก็ให้ลักษณะที่ต่างกันครับ
40. เสร็จสมบูรณ์ครับ เขาบอกว่าใช้เวลาในการทำทั้งหมดนี้ ประมาณ 3 ชั่วโมง ซึ่งรวมเวลาที่รอให้ปูนแห้ง และการถ่ายรูปขั้นตอนในการทำงานด้วย เป็นการทำงานที่ไม่ยากจนเกินไป และสามารถนำไปพัฒนาต่อ สู่การทำตึกที่มีขนาดใหญ่และรูปแบบที่ซับซ้อนกว่านี้ได้ ตามภาพตัวอย่างผลงานชิ้นอื่นๆที่เค้าทำครับ 



ผลงานที่เคยได้รางวัลจากการประกวดในยุโรปครับ ตัวอาคารที่เห็นสร้างขึ้นเองทั้งหมดด้วยปูนพลาสเตอร์เป็นหลักครับ 

Some of his works and its won a gold from Euro Militaire.


No comments:

Post a Comment