ก่อนอื่นขอเล่าให้ฟังถึงความจำเป็นในการใช้กล่องสำหรับการเดินทางแบบนี้ในอเมริกาก่อน โดยเฉพาะการเดินทางโดยเครื่องบินที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกได้อย่างมาก เนื่องจากการตรวจตราสัมภาระต่างๆก่อนขึ้นเครื่องที่นี่จะเข้มงวดมาก ตั้งแต่ตรงจุดตรวจสัมภาระไปจนถึงประตูขึ้นเครื่อง ที่ผ่านมาขนงานไปประกวดขึ้นเครื่องทุกรอบ โดนเรียกตรวจทุกรอบ แม้จะเปิดกล่องให้ดูแล้วแต่บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ล้วงมือเข้าไปจับโดยไม่ทันได้ดึงออกมาให้ดู เลยทำให้เกิดความเสียหายบ้าง แต่อย่างน้อยมันก็ยังช่วยให้การโดนเรียกตรวจสอบนั้นทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เพราะพอเขาเห็นว่ามันไม่ใช่ของผิดกฎหมายหรืออันตรายใดๆก็จะปล่อยให้เราผ่านตามปกติ และไม่ต้องมาเสียเวลากับการแพคงานอีกรอบ
ที่เคยเจอตื่นเต้นสุดคือตอนเดินเข้าเกทไปยังตัวเครื่องบิน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจใส่ชุดแบบหน่วยสวาทสะพายปืนกลยืนอยู่สองท่าน ด้วยความที่เราหน้าตาเป็นมิตรและเดินถือกล่องแปลกๆ เลยถูกเรียกให้หยุดและขอตรวจเช็คตรงทางเดินขึ้นเครื่องเลย โดยเขาคอยบอกกำกับให้เราทำตามที่เขาสั่ง คือให้นั่งลงกับพื้นโดยชันเข่าข้างหนึ่ง วางกล่องลงเบื้องหน้า แล้วให้เราเป็นคนเปิดให้ดูว่าภายในมีอะไร แล้วเขาก็ยืนดูเราเปิดกล่องพร้อมกับถามคำถามไปด้วย ส่วนเราเองก็เปิดกล่องและอธิบายว่านี่คืออะไรและเรากำลังจะไปไหนไปทำอะไร พอเขาเห็นว่าไม่มีอะไรก็ปล่อยให้เราเดินไปขึ้นเครื่องได้ แต่ก็กลายเป็นคนสุดท้ายที่ได้ขึ้นเลย ถ้าเป็นที่อื่นการตรวจเช็คอาจจะไม่เข้มงวดเท่าที่นี่ก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยการถือกล่องแบบที่สามารถเปิดปิดได้สะดวกและมีกระจกให้มองเห็นภายในมันก็ช่วยให้สะดวกต่อการตรวจค้น และลดความเสียหายที่อาจจะเกิดกับผลงานได้มากกว่าครับ
Display Tower: Half-size Case Mk.III
ทีนี้มาดูที่ตัวกล่องกันบ้างดีกว่า อันแรกที่เอามาให้ดูเป็นกล่องขนาดใหญ่ของยี่ห้อ Tablewar ชื่อรุ่นตามที่เขียนไว้ด้านบนครับ ราคาอยู่ที่ $117 ไม่รวมค่าส่ง มีขนาด 51cm W, 25.5cm D, 27.2cm H ซึ่งเป็นขนาดที่เขาออกแบบมาให้สามารถใส่เข้าไปในช่องเก็บของด้านบนที่นั่งของเครื่องบินได้อย่างพอดีครับ อันนี้ลองใส่มาแล้วกับหลายสายการบิน สามารถใส่เข้าไปได้ทุกครั้ง อาจจะต้องวางตะแคงคว่ำหรือหงายบ้าง ขึ้นอยู่กับรูปแบบช่องเก็บของๆแต่ละลำ แต่ใส่ได้ไม่มีปัญหาครับ ตัวกล่องเป็นอลูมิเนียมที่แข็งแรงดีทีเดียว และมีน้ำหนักพอสมควร กล่องอันนี้จะมีตัวล็อคทั้งหมด 5 จุด โดยจะเป็นตัวล็อคฝาด้านหน้า 3 จุด และตัวล็อคฝาด้านบน 2 จุด สำหรับฝาด้านหน้าจะเป็นกระจกเพื่อให้มองเห็นภายในกล่องและสามารถเปิดได้กว้าง 180 องศา รวมถึงสามารถถอดฝาด้านหน้าออกจากกล่องได้เลยเพียงแค่ดึงตัวฝาให้ที่คล้องตรงบานพับนั้นหลุดออกมา ส่วนฝาด้านบนเมื่อปลดตัวล็อคทั้งสองข้างออกจะสามารถเปิดให้พับไปด้านหลังได้ โดยจะมีห่วงเหล็กช่วยค้ำอยู่ทึ่ด้านหลังกล่องทำให้ฝาด้านบนนั้นเปิดค้างไว้ได้
ตัวกล่องจะมาพร้อมกับฐานวางงาน 2 อันและกล่องใส่ของ โดยตัวฐานวางงานที่ให้มาทั้งสองอันจะเป็นแค่กรอบที่มีช่องว่างอยู่ตรงกลาง เราต้องเลือกซื้อชิ้นส่วนถาดสีเทามาติดภายในกรอบต่างหากเพื่อให้สามารถวางผลงานได้ โดยจะมีถาดหลายแบบให้เลือกซื้อในเว็บไซต์ของ Totalwar เพื่อให้เหมาะกับการขนโมเดลหรือมินิแบบต่างๆ อย่างในภาพที่เห็นตรงส่วนสีเทาคือ diorama tray ที่เหมาะสำหรับการวางผลงานชิ้นใหญ่ๆ
ส่วนด้านใต้ของฐานวางงานจะมีร่องอยู่ทั้งสองข้างเพื่อให้เสียบเข้ากับรางที่ติดอยู่ด้านข้างของกล่อง และสามารถเลือกระดับความสูงของฐานแต่ละชั้นได้ตามต้องการ ส่วนกล่องนั้นจะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมที่ไม่มีร่อง จึงต้องวางที่พื้นด้านล่างของกล่อง ส่วนรายละเอียดอื่นๆจะลงอธิบายไว้ในภาพอีกทีครับ
Miniature Case (S)
กล่องที่สองที่นำมาแนะนำกันเป็นของยี่ห้อ Frontier Wargaming ครับ มีขนาด 25cm W, 11.5cm D, 31cm H ราคาประมาณ $60 ไม่รวมค่าส่ง วัสดุทำจากไม้อัดหนาประมาณ 5mm ที่นำมาต่อเข้าด้วยกันเป็นกล่องและทาสีย้อมไม้เคลือบเอาไว้ ตัวกล่องมีความแข็งแรงพอสมควร ถ้าไม่ตกจากที่สูงหรือโดนค้อนทุบก็ไม่น่ามีปัญหา ส่วนหูหิ้วทำจากไนล่อนถักหุ้มด้วยที่จับยางดูแข็งแรงและทนทานดี
ฝาด้านหน้าของกล่องที่ให้มาจะสลักชื่อยี่ห้อ FW เอาไว้ แต่ผมเลือกที่จะเอาสติ๊กเกอร์มาติดทับทั้งหมด ส่วนด้านในเมื่อเปิดฝาออกมาจะเห็นตัวล็อคทองเหลืองที่เป็นแบบกดเพื่อให้ฝาด้านหน้านั้นล็อคเข้ากับตัวล็อคที่อยู่ข้างในกล่อง ตอนแรกก็คิดว่าที่ล็อคแบบนี้น่าจะมีปัญหาทำให้ฝากล่องปิดไม่แน่น แต่พอได้มาลองใช้จริงแล้วมันปิดได้แนบสนิทมากๆ เวลาเปิดฝาจึงต้องออกแรงดึงนิดหน่อยเพื่อให้ฝานั้นเปิดออก
ด้านในกล่องจะมีถาดวางผลงานให้มา 2 ชิ้น ตัวถาดทำจากไม้และด้านบนของถาดเป็นแผ่นแม่เหล็ก เพื่อให้สามารถล็อคผลงานที่ติดแม่เหล็กไว้ด้านใต้ฐานได้ นอกจากนี้ภายในกล่องจะมีรางไม้ติดอยู่ที่ด้านข้างกล่องทั้งสองด้าน ให้เลือกปรับความสูงของถาดวางผลงานได้ 5 ระดับตามต้องการ ส่วนพื้นที่ภายในกล่องนั้นมีไม่มากนักเพราะเป็นกล่องขนาดเล็ก แต่ก็สามารถขนงานมิเนียเจอร์บนฐานวงกลมได้มากกว่า 10 ชิ้น หรือถ้าเป็นงานฟิกเกอร์หรือมิเนียเจอร์ที่ติดบนฐานไม้ก็สามารถขนได้ 4-5 ชิ้นขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความสูงของชิ้นงาน
ส่วนตัวซื้อกล่องนี้มาเพิ่มเติมไว้ใช้ในกรณีที่ต้องขนผลงานจำนวนไม่มาก ซึ่งจะสะดวกกว่าการที่ต้องแบกกล่องขนาดใหญ่ไปทั้งกล่องเพื่อขนผลงานแค่ไม่กี่ชิ้น นอกจากนี้ด้วยความที่กล่องนั้นมีขนาดเล็ก จึงสามารถใส่เข้าไปในเป้สะพายหลังได้ ในกรณีที่ต้องการขนผลงานจำนวนมากเกินที่จะใส่กล่องใหญ่เพียงใบเดียว ก็สามารถแบ่งมาใส่ที่กล่องเล็กนี้และใส่ลงในเป้เพื่อถือขึ้นเครื่องได้ครับ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมจะลงไว้ในภาพครับ
สำหรับการติดตั้งผลงานลงบนฐานวางของทั้งสองกล่อง ผมจะใช้ Blu Tac, UHU Tac (UHU Patafix) หรือที่เรียกกันว่ากาวดินน้ำมันครับ โดยจะบิกาวดินน้ำมันเป็นก้อนเล็กๆหลายๆก้อนติดไว้ที่ใต้ฐานโมเดลแล้วนำไปกดลงบนฐานวางงานให้แน่นที่สุด จากนั้นเอากาวดินน้ำมันมาติดให้รอบระหว่างรอยต่อฐานโมเดลกับฐานวางงานและกดให้แนบมากที่สุดอีกที วิธีนี้จะช่วยให้ผลงานติดอยู่บนฐานวางได้อย่างแข็งแรงสามารถคว่ำได้โดยที่ไม่หลุดออกมา และสามารถลอกกาวดินน้ำมันออกได้โดยง่าย ไม่มีคราบกาว และไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อฐานโมเดลด้วยครับ ก็หวังว่าบทความนี้คงจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย หากสนใจกล่องทั้งสองแบบนี้สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ด้านล่างครับ และถ้ามีคำถามอะไรเพิ่มเติมก็สามารถสอบถามมาได้ครับ
Display Tower: Half-size Case Mk.III ภาพโดยรวมของกล่อง จะเห็นว่ามีสติ๊กเกอร์ติดไว้เยอะมาก อย่างหนึ่งคือความชอบส่วนตัวให้มันดูมีสีสัน อีกอย่างคือให้มันจำได้ง่ายว่านี่คือกล่องของเรา เพราะกล่องแบบนี้คนนิยมใช้เยอะมาก เวลานำผลงานไปประกวด ส่วนใหญ่จะนิยมเก็บกล่องที่ขนผลงานมาไว้ใต้โต๊ะที่จัดแสดงผลงาน การทำสัญลักษณ์ลงบนกล่องก็จะช่วยป้องกันความสับสนได้
ตัวล็อคกล่องจะเป็นเหล็กคล้องที่เปิดปิดได้ง่าย และมีรูสำหรับคล้องกุญแจได้ (ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัวล็อคแบบนี้เขาเรียกว่าอะไรครับ)
การเปิดฝากล่องด้านหน้าต้องปลดล็อคสามตัว ซึ่งตัวล็อคทั้งสามนี้ช่วยให้กล่องนั้นปิดได้แน่นและแข็งแรงมาก
ฐานวางงาน 2 อันและกล่องใส่ของที่แถมมาให้
รางด้านข้างที่ใช้สำหรับเสียบฐานวางงานเข้าไป สามารถเลือกระดับความสูงได้ตามต้องการ ส่วนฐานวางงานที่เห็นได้ติดถาดสีเทา diorama tray ไว้เรียบร้อย และใช้สีส้มเขียนลูกศรไว้เตือนว่านี่คือด้านที่หันหน้าออกติดกับกระจก
ส่วนตัวเวลาขนผลงานจะใช้ฐานวางงานแค่อันเดียวและเสียบไว้ตรงรางด้านล่างสุดแบบในภาพ เพราะส่วนมากจะใช้ขนงานฟิกเกอร์หรือ vignette ที่ตั้งอยู่บนฐานไม้จึงมีความสูงพอสมควร แต่ด้วยขนาดกล่องที่ค่อนข้างใหญ่ เพียงแค่ฐานวางงานเพียงอันเดียวก็สามารถขนฟิกเกอร์ได้มากกว่าสิบตัว
ที่เห็นในภาพ ชิ้นล่างเป็นฐานวางงานที่ให้มาพร้อมกับกล่อง จะไม่มีตัวถาดตรงกลางแถมมาให้ ส่วนชิ้นบนเป็นฐานวางงานที่ติดตัวถาดสีเทาแล้วเพื่อให้สามารถวางผลงานต่างๆลงไปได้
เมื่อเปิดฝากล่องด้านบนออก ฝากล่องจะเปิดค้างอยู่ในลักษณะนี้
ตรงบานพับด้านหลังกล่องจะมีห่วงเหล็กคอยช่วยค้ำฝากล่องด้านบนเอาไว้
บานพับของฝากล่องด้านหน้าสามารถถอดออกจากตัวกล่องได้
นำผลงานแบบต่างๆมาลองจัดวางให้ดูเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงขนาดพื้นที่ภายในกล่อง
Miniature Case (S) ฝาด้านหน้าติดด้วยสติ๊กเกอร์เพื่อให้จดจำได้ง่าย
ภายในกล่องเมื่อเปิดออกจะเห็นตัวล็อคทองเหลืองที่ติดไว้ด้านในของฝาด้านหน้าและเพดานด้านในกล่อง
ด้านบนของกล่องจะมีช่องไว้สอดนิ้วเพื่อเปิดฝาด้านหน้า แต่ต้องออกแรงนิดหนึ่งเพราะฝานั้นปิดได้สนิทมาก
ถาดวางผลงานที่มีมาให้ 2 ชิ้น ทำมาจากไม้อัดและปิดทับผิวด้านบนด้วยแผ่นแม่เหล็ก
ลองนำชิ้นงานหลายๆแบบมาใส่เพื่อให้เห็นถึงขนาดของกล่องครับ ด้านข้างภายในกล่องจะมีรางให้ปรับระดับความสูงของถาดวางได้ตามต้องการ
กล่องนี้มีขนาดเล็กพอที่จะใส่เข้าไปในเป้สะพายหลังได้
ฝาด้านหน้าของกล่องจะสลักโลโก้ FW มาให้แบบในภาพนี้ที่โชว์อยู่ในเว็บไซต์
No comments:
Post a Comment