Pages

Thursday, May 11, 2023

Basic Tips: 001 การถ่ายภาพเบื้องต้น (ด้วยโทรศัพท์มือถือ)

สวัสดีครับ เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นหลายๆท่านเริ่มนำผลงานมาลงเพื่อขอคำแนะนำในกลุ่มกันมากขึ้น แต่หลายครั้งมักจะถ่ายภาพมาไกลเกินไปหรือถ่ายมาไม่ชัด ซึ่งอาจทำให้การให้คำแนะนำนั้นทำได้ลำบากหรือทำได้ไม่ตรงจุดเพราะเห็นรายละเอียดไม่ชัดเจน ส่วนตัวชอบในไอเดีย #givemecomment และคิดว่ามันเป็นประโยชน์มากๆกับคนที่ต้องการจะพัฒนาผลงานของตัวเอง เลยอยากมาแนะนำวิธีการถ่ายภาพแบบเบื้องต้นเพื่อให้ลองนำไปทำกันดูครับ

สิ่งสำคัญในการถ่ายภาพงานมิเนียเจอร์ คือต้องเห็นรายละเอียดบนชิ้นงานและสีสันต่างๆได้ชัดเจน ภาพที่ถ่ายจึงควรมีขนาดใหญ่และโฟกัสไปที่ชิ้นงานเป็นหลัก ถ้ากล้องที่ใช้อยู่ไม่สามารถถ่ายภาพในระยะใกล้ได้ (Macro) ให้ถ่ายภาพในระยะที่ห่างออกมาหรือระยะโฟกัสที่ชัดที่สุด แล้วจึงค่อยใช้โปรแกรมตัดภาพ (crop) ส่วนพื้นที่รอบนอกที่ไม่จำเป็นออก เพื่อให้เห็นรายละเอียดบนชิ้นงานได้ชัดเจนมากที่สุด

สำหรับการถ่ายภาพของตัวเองที่ใช้อยู่เป็นประจำ ส่วนตัวไม่ได้มีความรู้เรื่องการถ่ายภาพสักเท่าไหร่ จึงมักจะใช้วิธีการถ่ายแบบง่ายๆด้วยโทรศัพท์มือถือ โดยแบ่งเป็น 2 แบบ 

1. การถ่ายภาพผลงานแบบจัดแสงและมีฉากหลัง สำหรับผลงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้วหรือถ่ายขั้นตอนการทำงานแบบละเอียดสำหรับบทความ จะใช้การถ่ายภาพแบบนี้ที่จะต้องถ่ายให้เห็นสีและรายละเอียดต่างๆบนชิ้นงานได้ชัดเจนมากที่สุด ส่วนตัวจะใช้กระดาษสีเรียบๆวางเป็นฉากหลัง ใข้โคมไฟส่องจากด้านบนและด้านข้างทั้งสองด้าน เพื่อให้เกิดเงาบนชิ้นงานให้น้อยที่สุด เวลาถ่ายภาพให้พยายามกดหน้าจอเพื่อโฟกัสรายละเอียดต่างๆ ถ้าสามารถปรับค่า f ได้ให้เลือกค่าสูงที่สุดเพื่อให้รายละเอียดนั้นชัดในทุกจุด(ชัดลึก ) บางครั้งอาจจะต้องถ่ายจากระยะที่ไกลหน่อยเพื่อให้โฟกัสภาพได้เต็มตัว แล้วค่อยใช้แอปมาตัดภาพ (crop) ให้เหลือเฉพาะรอบๆตัวงานพอ ส่วนรายละเอียดต่างๆค่อยมาถ่ายแบบใกล้มากขึ้นอีกที 

ในภาพที่ 1 จะเห็นว่าภาพที่ถ่ายมานั้นมีระยะโฟกัสที่ค่อนข้างห่างและมีความชัดตื้น ทำให้ได้ภาพระยะไกลมองเห็นรายละเอียดได้ไม่ชัดเจน และส่วนที่อยู่ด้านหน้าจะดูชัดกว่าส่วนที่อยู่ห่างออกไปทางด้านหลัง เช่นด้ามดาบ ขาขวา และปลายหาง นี่เป็นข้อจำกัดของกล้องมือถือที่ไม่สามารถปรับความชัดลึกได้เท่ากับกล้องมืออาชีพ 

ภาพที่ 2 หลังจากที่ crop พื้นที่ส่วนเกินรอบชิ้นงานออกให้เหลือเฉพาะรอบๆชิ้นงาน ชิ้นงานจะดูมีขนาดใหญ่เต็มภาพและเห็นรายละเอียดได้ใกล้และชัดเจนมากขึ้น รวมถึงทำให้เห็นว่าในส่วนของใบหน้านั้นไม่ถูกโฟกัสและดูเบลอ ซึ่งก่อนหน้านี้จะสังเกตได้ยากเพราะขนาดของชิ้นงานนั้นดูเล็กกว่านี้

ภาพที่ 3 คือภาพที่ถ่ายใหม่เพื่อให้ได้ความคมชัดของภาพและเห็นรายละเอียดต่างๆบนชิ้นงานได้ชัดเจนมากที่สุด การตัดภาพให้มีพื้นที่รอบชิ้นงานไม่มากจนเกินไปทำให้ชิ้นงานดูมีขนาดใหญ่ แม้ในบางจุดอาจจะดูเบลอไปบ้างด้วยข้อจำกัดของกล้อง แต่ก็ถือว่าน่าพอใจเพราะเห็นรายละเอียดต่างๆของสีและเทคเจอร์ได้ครบถ้วน 

ภาพที่ 4 เป็นงานอีกชิ้นที่ถ่ายด้วยกล้องตัวเดียวกัน แต่เนื่องจากท่าโพสของชิ้นงานนั้นอยู่ในระนาบเดียวกัน การโฟกัสของภาพให้มีความชัดลึกจึงทำได้สะดวกขึ้น และช่วยให้เห็นรายละเอียดทุกส่วนของชิ้นงานได้อย่างคมชัด

2. การถ่ายภาพเพื่อเช็คสีและรายละเอียดบนผลงาน ว่าเพ้นท์ออกมาแล้วเป็นอย่างไร การถ่ายแบบนี้จะถ่ายง่ายๆในขณะที่กำลังเพ้นท์อยู่ ไม่ได้มีการจัดแสงหรือมีกระดาษเป็นฉากหลัง แต่จะใช้ที่รองตัดเป็นฉากหลังแทนเพื่อให้เห็นรายละเอียดบนผลงานได้ชัดเจน ไม่โดนรบกวนจากสิ่งของที่อยู่ด้านหลัง แล้วใช้โคมไฟส่องลงบนโมเดลจากด้านบนและด้านข้างเพื่อลบเงาบนตัวให้น้อยลง

ในภาพที่ 5 จะเห็นว่าสีและรายละเอียดบนที่รองตัดนั้นไม่ได้วุ่นวายจนรบกวนรายละเอียดที่อยู่บนชิ้นงาน และแสงที่ส่องจากโคมไฟทั้งสองช่วยให้มองเห็นสีและรายละเอียดที่ทำเอาไว้ได้ดีขึ้น 

ภาพที่ 6 และ 7 จะเห็นว่าภาพที่ถ่ายมาเมื่อซูมเข้าไปใกล้ๆจะช่วยให้เห็นรายละเอียดต่างๆบนชิ้นงานได้ชัดเจนขึ้นมาก และจะช่วยให้เห็นข้อผิดพลาดหรือความไม่เรียบร้อยต่างๆได้ง่ายขึ้นด้วย ซึ่งจะช่วยให้นำไปแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมได้ 

ส่วนตัวคิดว่าสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาผลงานคือเราต้องรู้ถึงความผิดพลาดของตัวเอง ว่ามีส่วนไหนที่ไม่เรียบร้อยไม่สมบูรณ์ เพื่อที่จะได้นำไปแก้ไขปรับปรุงให้มันดีขึ้นกว่าเดิม การถ่ายภาพให้เห็นรายละเอียดของสีบนชิ้นงานได้อย่างชัดเจน จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราพัฒนาผลงานของตัวเองได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะหากต้องการคำแนะนำจากบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนที่พึ่งเริ่มต้นงานเพ้นท์หรือทำมาจนมีประสบการณ์แล้ว อย่ากลัวที่จะลงภาพงานที่ไม่เรียบร้อยให้คนอื่นเห็น ไม่มีใครที่เก่งมาตั้งแต่ต้น ถ้ายอมรับในความไม่สมบูรณ์ของผลงานตัวเองและตั้งใจปรับปรุงให้ดีขึ้น มันจะพัฒนาขึ้นได้อย่างแน่นอนครับ

หว่งว่าบทความนี้คงจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ไว้ถ้ามีโอกาสและมีเวลาว่างอีกเมื่อไหร่ จะเขียนเบสิคทิปเบื้องต้นให้ได้อ่านกันอีกครับ










No comments:

Post a Comment