Pages

Thursday, August 17, 2023

Basic Tips: 003 การกำหนดขนาดของมิเนียเจอร์และฟิกเกอร์ในงานประกวดสเกลโมเดลระดับสากล

งานประกวด AK Interactive International Competition Thailand 2023 กำลังใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ครั้งนี้เป็นการจัดงานที่มีความสากลมากขึ้นกว่าเดิมเพราะมีความร่วมมือจากงานประกวดใหญ่ๆในต่างประเทศทั้ง MOSON จากประเทศฮังการีและ Freedom Cup จากประเทศใต้หวันมาร่วมในการตัดสินให้รางวัล ส่วนตัวคิดว่าในปีนี้คงจะมีคนสนใจเข้าร่วมประกวดมากกว่าปีที่ผ่านมา เลยถือโอกาสอธิบายให้ฟังถึงความแตกต่างระหว่างประเภทของการประกวดในรุ่น Figures และ Miniatures อ้างอิงตามประเภทของการประกวดในต่างประเทศว่าเขาแบ่งประเภทกันอย่างไร จะได้ไม่เกิดความสับสนและไม่ส่งประกวดกันผิดรุ่นจนต้องโดนตัดสิทธิ์ในการร่วมแข่งขันครับ

งานประกวดในต่างประเทศมักจะนิยมแบ่งประเภทในการประกวดออกเป็นหมวดหมู่และกำหนดรายละเอียดของผลงานในแต่ละประเภทให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่งงานประกวดแต่ละงานก็จะมีการแบ่งประเภทและรายละเอัยดแตกต่างกันไปตามความนิยมของการส่งผลงานในงานประกวดนั้นๆ แต่โดยรวมแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆคือ 

1. Miniatures ผลงานในประเภทนี้มักจะกำหนดให้มีขนาดตั้งแต่เล็กสุดไปจนถึงขนาดใหญ่สุดคือไม่เกิน 54mm ยกเว้นในกรณีที่มิเนียเจอร์ตัวนั้นเป็นโมเดลที่มีขนาดใหญ่กว่า 54 mm แต่ถูกกำหนดจากผู้ผลิตให้อยู่ในมาตราส่วน 28 mm หรือ 32mm เช่น มังกร สัตว์ประหลาด หรือคนยักษ์ เป็นต้น โมเดลเหล่านี้ก็จะถูกรวมอยู่ในการประกวดประเภท Miniatures ด้วยเช่นกัน (ในกรณีนี้จะไม่รวมโมเดลที่มีขนาดใหญ่มากจนเกินไป ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกรรมการ)

2. Figures ผลงานในประเภทนี้มักจะกำหนดให้มีขนาดขั้นต่ำอยู่ที่ 54mm ไปจนถึงใหญ่ที่สุดคือไม่เกิน 120mm (1/16) (ยกเว้นในกรณีที่รวมงานบัสไว้ในประเภทเดียวกับฟิกเกอร์ จะกำหนดขนาดให้รองรับกับงานบัสคือไม่เกิน 200mm (1/9))

ในทั้งสองประเภทนี้ในบางงานประกวดที่มีคนนิยมส่งผลงานกันจำนวนมาก จะมีการกำหนดแยกหัวข้อออกเป็น Historical Figures และ Fantasy Figures หรือ Historical Miniatures หรือ Fantasy Miniatures เพื่อแยกหัวข้อของผลงานที่ส่งเข้าประกวดให้ชัดเจนและตัดสินผลงานได้สะดวกขึ้น แต่ในบางงานประกวดก็อาจจะรวมทั้งสองหัวข้อเอาไว้ในประเภทเดียวและตัดสินร่วมกันเลย

ส่วนงานประเภท Bust ในบางงานประกวดจะแยกเป็นการประกวดประเภท Bust โดยเฉพาะ อาจจะแยกหัวข้อหรือรวม Historical และ Fantasy ไว้ด้วยกัน แต่ในบางงานประกวดจะรวมผลงานประเภทบัสอยู่ในการประกวดเดียวกับประเภท Figures ครับ

สำหรับงานฟิกเกอร์ที่มีขนาดใหญ่มากกว่า 120mm หรือใหญ่มากกว่ามาตราส่วน 1/16 ไม่ว่าจะเป็นโมเดลประเภทการาจคิท, อนิเมโมเดล, Action Figures, Collectible Statues ที่มีมาตราส่วน 1/8, 1/6, 1/4 เป็นต้น 

งานเหล่านี้จะไม่สามารถส่งเข้าประกวดในประเภท Miniatures หรือ Figures ได้ เพราะมีขนาดที่ต่างกันเกินไปและใช้เทคนิคในการทำงานที่แตกต่างกัน ในบางงานประกวดจึงมีการแยกประเภท Open Figures โดยไม่จำกัดมาตราส่วน ไว้ให้สำหรับงานฟิกเกอร์ที่มีขนาดนอกเหนือจากที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งงานประเภทที่กล่าวมาข้างต้นก็จะนำมาลงในประเภทนี้แทนครับ

ข้อมูลทั้งหมดนี้อ้างอิงจากการแบ่งประเภทของงานประกวดต่างๆที่ตัวเองเคยมีส่วนร่วมหรือเคยอ่านรายละเอียดมา แต่ละงานประกวดก็จะมีเกณฑ์ในการแบ่งประเภทและการกำหนดรายละเอียดของแต่ละประเภทแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความนิยมในการส่งผลงานของงานประกวดนั้นๆ 

ส่วนงานของ AK ปีนี้คงต้องรอการประกาศรายละเอียดอย่างเป็นทางการจากทางผู้จัดอีกที ว่าจะมีการแบ่งประเภทและกำหนดรายละเอียดกันอย่างไร ตอนนี้ก็ทำงานเตรียมกันไว้ก่อน ไว้พอมีการประกาศกันออกมาค่อยมาดูกันอีกทีครับว่าผลงานของเราที่ทำเอาไว้สามารถลงประกวดประเภทใดได้บ้าง หากใครมีคำถามอะไรสงสัยก็ลองสอบถามกันมาได้นะครับ ยินดีให้ความช่วยเหลือครับ

#BasicTips



1 comment: