Thursday, July 14, 2022

Tutorials: Painting Warhammer Underworlds: Harrowdeep – The Exiled Dead with Contrast & Shade Paints

#WarhammerPaintathon

ก่อนหน้านี้ทาง Games Workshop ส่งสี Contrast และ Shade ชุดล่าสุดมาให้ลองใช้ครับ ปกติส่วนตัวจะชอบเพ้นท์แบบค่อยๆไล่สีแสงเงาขึ้นมาทีละชั้นจากรองพื้นสีดำ ที่ผ่านมาเลยแทบไม่ค่อยได้ใช้สี Contrast และ Shade สักเท่าไหร่ ครั้งนี้เลยได้โอกาสนำสีเหล่านี้มาลองใช้ในการเพ้นท์แบบจริงจังดูสักที และจะลองนำมาใช้ให้ดูในสองรูปแบบ เพื่อจะได้เป็นแนวทางให้สำหรับท่านที่สนใจที่จะใช้สีเหล่านี้ได้นำไปลองทำตามกันครับ 

สำหรับโมเดลที่นำมาเป็นต้นแบบในครั้งนี้คือเหล่า Arcwalkers จากกล่อง Warhammer Underworlds: Harrowdeep – The Exiled Dead เนื่องจากมีรายละเอียดไม่มากนัก จะได้ไม่ใช้เวลานานเกินไปครับ 😅

สิ่งสำคัญในการใช้สีคอนทราส อันดับแรกต้องทำการรองพื้นตัวโมเดลด้วยสีขาวก่อนครับ เพราะคุณสมบัติของสีคอนทราสจะมีความโปร่งแสงมากกว่าสีปกติทั่วไป ทำให้เมื่อทาลงไปบนพื้นที่สีขาวหรือสีอ่อนแล้ว จะปกคลุมพื้นที่ได้ง่ายและแสดงผลลัพท์ของสีให้เห็นได้ชัดเจน ต่างจากการทาลงบนพื้นที่สีเข้ม ที่สีคอนทราสจะปกคลุมได้ไม่ดีนัก ทำให้สีนั้นดูเข้มกว่าหรือมืดกว่าปกติครับ 

แต่เราก็สามารถนำข้อด้อยของสีอันนี้มาใข้ในการสร้างแสงเงาบนชิ้นงานได้ เหมือนที่กำลังจะทำให้ชมในบทความนี้ครับ 

การพ่นสีรองพื้น ในตอนแรกตั้งใจว่าจะนำสีสเปรย์ของ Citadel Colour อันใหม่คือ White Scar มาทดลองใช้ไปพร้อมๆกับสีคอนทราสใหม่ แต่เนื่องจากช่วงนี้ยังมีปัญหาเรื่องการขนส่งระหว่างประเทศ จึงทำให้สีเดินทางมาล่าช้าไปกว่ากำหนดการ ไว้ถ้าได้สีสเปรย์มาแล้วจะนำมาลองให้ชมกันอีกทีครับ 

สำหรับการพ่นสีรองพื้นจะใช้การพ่นสีด้วยแอร์บรัช โดยเริ่มจากพ่นสีรองพื้นสีดำลงไปบนตัวโมเดลก่อนเป็นชั้นแรก จากนั้นใช้สีขาวมาพ่นในมุมทแยงจากด้านบนลงมาที่ตัวโมเดล สีขาวจะติดอยู่เฉพาะส่วนที่เป็นด้านบนหรือส่วนนูนของชิ้นงาน ส่วนด้านล่างที่ไม่โดนสีขาวจะยังเป็นสีดำอยู่ ทำให้เกิดเป็นแสงเงาขึ้นบนชิ้นงาน วิธีการพ่นสีแบบนี้เรียกว่า Zenithal Priming เหมาะสำหรับการจำลองแสงเงาเบื้องต้น เพื่อให้ผู้เพ้นท์ได้เห็นแสงเงาที่เกิดบนชิ้นงานได้ชัดเจนกว่าการจิตนาการด้วยตัวเอง เมื่อนำวิธีการพ่นสีรองพื้นแบบนี้มาใช้กับสีคอนทราส ก็จะช่วยให้เกิดแสงเงาบนชิ้นงานได้จากความมืดและสว่างของสีรองพื้นที่แตกต่างกัน แม้จะใช้การทาสีคอนทราสเพียงสีเดียวก็ตามครับ

(ลองดูภาพประกอบน่าจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ หรือจะลองเซิจหาคำว่า Zenithal Priming เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมก็ได้ครับ)

สีรองพื้นดำที่ใช้เป็นสียี่ห้อ Stynylrez ที่ผลิตโดย Badger บริษัทผู้ผลิตแอร์บรัชชื่อดัง ซึ่งผลิตสียี่ห้อนี้ออกมาเป็นสี primer สำหรับงานแอร์บรัชโดยเฉพาะ สามารถเทจากขวดแล้วพ่นได้เลย หรือจะผสมกับทินเนอร์ X-20A สำหรับสีสูตรอะครีลิคของ Tamiya ก็ได้ครับ ส่วนตัว ณ ขณะนี้ชอบใช้ยี่ห้อนี้สุดในการพ่นรองพื้นครับ 

ส่วนสีขาวใช้สี Flat White XF-2 ผสมกับทินเนอร์ X-20A ของ Tamiya เช่นกัน 

มีทริคเล็กน้อยในการพ่นสีรองพื้นแบบ Zenithal Priming คือจะผสมสีขาวกับทินเนอร์ให้สีค่อนข้างจางพอสมควร แล้วใช้การพ่นคลุมเป็นละอองจางๆทั้งตัวเพื่อให้สีดำนั้นไม่มืดจนเกินไป จากนั้นจึงค่อยพ่นสีขาวในมุมทแยงจากด้านบนลงไปที่ชิ้นงาน ก็จะช่วยให้รอยต่อระหว่างสีขาวและดำนั้นไม่โดดจากกันมากนักครับ

สำหรับวิธีในการเพ้นท์ อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่าจะทำมาให้ดูสองวิธี คือ 1. การเพ้นท์ด้วยสีคอนทราส ผสมกับสีขาว และสีเฉด กับ 2. การเพ้นท์ด้วยสีคอนทราสและสีเฉดเพียงอย่างเดียว ซึ่งทั้งสองวิธีก็จะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันพอสมควร ลองดูวิธีในการทำได้ตามรูปภาพเลยครับ

การทำสีแบบที่ 1 จะใช้สีคอนทราส กับสีเฉดสำหรับแต่งส่วนของเงา และสีขาวเบส Corax White เพื่อนำมาผสมกับสีคอนทราสสำหรับเพ้นท์เก็บไฮไลท์ เพื่อให้ชิ้นงานนั้นดูมีมิติมากขึ้น โดยเริ่มจากพ่นสีรองพื้นสีดำ จากนั้นพ่นทับด้วย Tamiya XF-64 Red Brown

ใช้สีขาว Tamiya Flat White XF-2 พ่นในมุมทแยงจากด้านบนลงล่าง สังเกตสีที่ตัวโมเดลจะเห็นว่าสีขาวจะติดอยู่ตามส่วนที่อยู่ด้านบนของชิ้นงาน ส่วนพื้นที่ๆสีขาวเข้าไม่ถึงก็จะยังคงสีน้ำตาลเอาไว้ ทำให้เกิดแสงและเงาบนชิ้นงาน ช่วยให้งานนั้นดูมีมิติมากขึ้น 

เริ่มลงสีคอนทราสในส่วนของสีผิวก่อน ด้วยการนำสีคอนทราส Gutrippa Flesh, ,Briar Queen Chill, และ Guilliman Flesh มาผสมรวมกันกับ Contrast medium เล็กน้อย เพื่อให้ได้โทนสีผิวแบบที่ต้องการ ส่วนของแขนขวาเลือกใช้สี Guilliman Flesh เพียงอย่างเดียวเพื่อให้มีสีที่ต่างออกไป


จากนั้นนำสีขาวเบส Corax White มาผสมลงไปในสีผิวทั้งสองส่วน แล้วเพ้นท์ตามสันนูนของกล้ามเนื้อ เพื่อเน้นส่วนของไฮไลท์ให้เกิดมิติบนชิ้นงานมากขึ้น



นำสี Shade 3 สี Druchii Violet, Berserker Blood shade, Poxwalker มาผสมกันแล้วนำไปทาบริเวณที่เป็นร่องบนกล้าาเนื้อ เพื่อเน้นส่วนของเงาให้ดูชัดเจนมากขึ้น และช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับสีผิว



เก็บรายละเอียดของดวงตาด้วยสี Pylar Glacier ร่องเนื้อสีเข้มด้วยสี Sigvald Burgundy ผสมกับสีผิว ส่วนของกางเกง, เส้นผม, แท่งเหล็กและที่ล็อคข้อมือด้วยสี Black Legion และใช้สีดำ Black Legion ผสมกับสีขาวทาไล่แสงเงาส่วนของเหล็กแบบ NMM



เก็บรายละเอียดที่เหลือด้วยสีแดง Baal Red สำหรับสายไฟ สี Gryph-Hound Orange ผสมกับ Garaghak's Sewer สำหรับเข็มขัด และใช้สี Garaghak's Sewer ผสมกับสีขาวเบส Corax White ทาเป็นไฮไลท์บนกางเกง ส่วนของเส้นผมทาเก็บด้วยสีขาวเบส Corax White เช่นกัน



สำหรับสีของฐานที่เป็นพื้นหิน ทาด้วยสี Garaghak's Sewer และ Rattling Grime และนำสองสีนี้มาผสมกับสีขาว Corax White เพื่อทำเป็นคราบฝุ่นที่ติดตามพื้นและร่องหิน ส่วนของสีสนิมที่อยู่บนที่ล็อคข้อมือและโซ่ที่พื้นใช้สี Gryph-Hound Orange และ Iyanden Yellow เป็นอันเสร็จครับ



งานชิ้นนี้ใช้เวลาทำๆหยุดๆไปประมาณ 2-3 ชั่วโมงได้ ตั้งแต่พ่นรองพื้นจนเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งสีคอนทราสและการพ่นรองพื้นแบบ Zenithal Priming ก็ช่วยให้การทำงานนั้นเร็วขึ้นมาก อาจจะเสียเวลาเพิ่มในการเพ้นท์ไฮไลท์เพื่อให้งานดูมีมิติและรายละเอียดชัดเจนขึ้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ออกมาน่าพอใจดีทีเดียว ส่วนตัวคิดว่าวิธีแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่อยากได้งานเพ้นท์แบบเก็บรายละเอียดแล ะให้แสงเงาที่รวดเร็ว ใช้เวลาไม่นานก็สามารถทำเสร็จได้ หรือจะค่อยๆเพ้นท์เก็บรายละเอียดส่วนต่างไปให้สมบูรณ์มากกว่านี้ก็ทำได้เช่นกันครับ






สำหรับการทำสีแบบที่ 2 จะใช้สีคอนทราส กับสีเฉด เป็นหลักเท่านั้น วิธีนี้จะเน้นที่ความรวดเร็วในการทำงาน แต่ก็จะพยายามทำให้ผลงานนั้นดูสมบูรณ์ให้มากที่สุดครับ

การรองพื้นจะทำแบบเดียวกับตัวก่อนหน้านี้คือ Zenithal Priming ด้วยการพ่นรองพื้นดำก่อน ตามด้วยสีน้ำตาล และขาว ตามลำดับ จากนั้นทาสีส่วนของผิวเนื้อด้วย Guilliman Flesh ผสมกับ Gutrippa Flesh เล็กน้อย และผสม Contrast medium เพื่อให้สีนั้นทาได้ง่ายขึ้นไม่แห้งเป็นคราบตามขอบของทีแปรง ส่วนของกางเกงทาด้วยสี Gore-Grunta Fur ผสมกับ Contrast medium เช่นกัน 


สีคอนทราสเมื่อทาลงบนพื้นผิวแล้ว สีจะเคลือบบางๆอยู่ที่พื้นผิว ในบริเวณที่เป็นร่องหรือซอกจะมีปริมาณสีที่รวมกันอยู่มากกว่าบริเวณพื้นราบ สีในนั้นจึงดูเข้มมากกว่าจากการซ้อนทับกันของเม็ดสี ดังนั้นเวลาเพ้นท์สีคอนทราสลงบนพื้นผิวแล้ว จึงต้องคอยใช้พู่กันซับสีส่วนที่กองอยู่ตามซอกร่องต่างๆไม่ให้มันมากจนเกินไป

ส่วนในรูปนี่เป็นวิธีส่วนตัวที่อยากให้ชิ้นงานดูมีมิติมากขึ้น จึงใช้พู่กันเก่าๆจุ่มน้ำแล้วนำมาถูบริเวณส่วนนูนบนกล้ามเนื้อ เพื่อให้สีคอนทราสนั้นหลุดลอกออกและเห็นสีรองพื้นสีขาวที่อยู่ด้านล่างเป็นเหมือนกับไฮไลท์ของกล้ามเนื้อครับ

จากนั้นทาเก็บรายละเอียดต่างๆทั้งดวงตา เส้นผม เนื้อสด เสาเหล็กด้านหลัง และเข็มขัด ด้วยสีคอนทราสสีต่างๆ Frostheart, Pylar Glacier, Black Legion, Doomfire Magenta, Sigvald Burgundy



ใช้สีเฉด Poxwalker ทาบางๆตามร่องกล้ามเนื้อเพื่อลดความสดใสให้สีผิวโดยรวม และทำให้สีผิวดูมีมิติมากขึ้น 


ส่วนของฐานวางที่เป็นพื้นหิน ใช้สี Garaghak's Sewer และ Rattling Grime ทาทับกันไปมา และใช้สีเฉด Agrax Earthshade, Mortarion Grime และ Soulblight Grey มาผสมกันเพื่อเป็นคราบฝุ่นที่ติดตามพื้นและร่องหิน สุดท้ายใช้สี Fuegan Orange ทาบริเวณเสาเหล็กเพื่อจำลองคราบสนิมเป็นอันเสร็จครับ 


สำหรับงานชิ้นที่ 2 นี้ใช้เวลาในการทำไม่นานนัก ประมาณ 15-20 นาทีในการเก็บรายละเอียดสีทุกๆอย่าง โดยภาพรวมแสงเงาและการเก็บรายละเอียดต่างๆอาจจะดูไม่สมบูรณ์เท่ากับชิ้นที่ 1 แต่ก็มีข้อดีในเรื่องของเวลาในการทำที่เร็วกว่ามากครับ วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่ต้องการทำสีตัวโมเดลให้เสร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ได้เน้นในเรื่องของความสวยงามมากนัก โดยที่ใช้สีแค่สองประเภทคือ Contrast และ Shade ก็สามารถจบงานได้ครับ 




สำหรับท่านที่ไม่มีแอร์บรัชแต่ต้องการใช้สีคอนทราส ก็สามารถพ่นสีรองพื้นด้วยสีสเปรย์สีขาวแทนก็ได้เช่นกันครับ เพียงแต่อาจจะต้องใช้สีเฉดช่วยในการสร้างเงาเข้มเพื่อให้งานดูมีมิติมากขึ้นครับ

หวังว่าวิธีการในการใช้สีคอนทราสที่ทำมาให้ดูทั้งสองแบบนี้คงจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ รู้สึกว่าไม่ได้เขียนบทความอธิบายแบบนี้มานานมากๆ ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจตรงไหนหรือมีอะไรสงสัยก็ลองสอบถามมาได้นะครับ ส่วนสีคอนทราสและสีเฉดชุดใหม่นี้ตอนนี้เปิดขายพรีออเดอร์อยู่ ใครสนใจก็ลองสอบถามจากร้านค้าต่างๆดูได้ครับ แล้วพบกันใหม่คราวหน้าครับ 

หมายเหตุ: ได้รับการสนับสนุนผลิตภัณฑ์จาก Games Workshop โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆครับ

Note: Products free of charge, sponsored by Games Workshop 

No comments:

Post a Comment