วันนี้มีวิธีการสร้างฐานมิเนียเจอร์ให้มีเรื่องราวน่าสนใจมาฝากกันครับ ที่ผ่านมาอยากจะเขียนอธิบายวิธีการทำฐานแบบนี้มานานแล้ว แต่มันเป็นเรื่องที่อธิบายได้ค่อนข้างยากก็เลยไม่ได้ทำสักที พอดีต้องขึ้นงานชิ้นใหม่สำหรับเตรียมส่งประกวดก็เลยคิดว่าลองเอามาเขียนอธิบายดู จะได้ช่วยให้เข้าใจและเห็นถึงวิธีการสร้างฐานแบบที่มีความซับซ้อนกันได้ชัดเจนขึ้นครับ
สิ่งสำคัญอย่างแรกในการสร้างฐานเพื่อบอกเล่าเรื่องราวคือ
1. ต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานของตัวโมเดลที่เราจะทำว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร อย่างเช่นถ้าทำงานแนวทหารหรือประวัติศาสตร์ก็ควรรู้ว่าโมเดลตัวนี้อยู่ในช่วงเวลาไหน อยู่ฝ่ายใด เคยใช้ในสมรภูมิไหนและภูมิประเทศของที่นั้นเป็นอย่างไร เป็นต้น ส่วนโมเดลแนวไซไฟแฟนตาซีก็ควรรู้ข้อมูลพื้นฐานในทำนองเดียวกัน แต่เราสามารถใส่จินตนาการเพิ่มเติมเข้าไปได้ในเรื่องต่างๆเพราะไม่ได้อ้างอิงจากสิ่งที่มีอยู่จริง เช่นเรื่องของสถานที่หรือภูมิประเทศในต่างดาวที่ไม่ได้มีอยู่จริง เป็นต้น
ซึ่งข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้จะนำไปสู่
2. การกำหนดลักษณะภูมิทัศน์ของฐานที่จะทำ ว่าจะให้
มีรูปแบบอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลของตัวโมเดล เช่น ป่าดงดิบ ทุ่งหญ้า ในเมือง ผิวดาวเคราะห์ หรือยานอวกาศ เป็นต้น
3. และข้อมูลพื้นฐานของตัวโมเดลจะเป็นตัวกำหนดเรื่องราวหรือแนวคิด ที่ต้องการนำเสนอและเแสดงให้ผู้ชมผลงานได้เห็นว่ากำลังมีอะไรเกิดขึ้นอยู่บนผลงานชิ้นนี้ ผ่านทางตัวโมเดลและรายละเอียดต่างๆบนฐานที่เราใส่ลงไป
ทั้ง 3 สิ่งนี้คือปัจจัยหลักในการสร้างฐานแบบมีเรื่องราว ส่วนที่เหลืออื่นๆเช่น วิธีในการสร้างฐาน การเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ หรือการจัดองค์ประกอบของฐานให้ดูน่าสนใจ สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการเรียนรู้และการฝึกฝนด้วยตนเองจนเกิดความเข้าใจและเกิดความชำนาญ เพื่อที่จะสามารถถ่ายทอดลักษณะของฐานให้ออกมาได้ตามแบบที่คิดเอาไว้ รวมถึงทำให้ฐานมีรายละเอียดสมจริงและช่วยทำให้ตัวโมเดลนั้นดูน่าสนใจมากขึ้นด้วย
ลองมาดูตัวอย่างของงานที่ทำมาให้ชมกันในครั้งนี้ ชิ้นแรกคือฐานสำหรับ Death Guard - Morslug จากชุด Space Marines Heroes 3 แนวคิดของการทำงานชิ้นนี้คือการเพิ่มขนาดพื้นที่ของส่วนฐานให้มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อเพิ่มความน่าสนใจและสร้างเรื่องราวให้กับชิ้นงาน โดยการนำ Primaris Space Marine มาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของฐาน เพื่อสื่อให้เห็นถึงเรื่องราวชัยชนะของฝ่าย Death Guard ที่อยู่เหนือฝ่าย Space Marines จากร่างของผู้แพ้ที่ถูกฝังอยู่ด้านล่างจากการสู้รบที่ผ่านมา นี่เป็นแนวคิดหลักที่ใข้ในการสร้างผลงานชิ้นนี้
สำหรับวิธีการทำฐานเริ่มต้นจากการนำ Assault Intercessor ที่มีท่าทางแบบที่ต้องการมาประกอบให้เรียบร้อย แล้วจึงนำไปติดลงบนฐานในท่านอนหงาย ส่วนของเท้าถูกตัดออกเพื่อไม่ให้ยื่นเกินออกจากขอบของฐาน ส่วนฐานที่นำมาใช้เป็นฐานของงานเก่าๆแบบมีท่อระบายน้ำที่ทำเอาไว้นานแล้ว จากนั้นนำตัว Morslug มาลองจัดวางตำแหน่งให้อยู่กึ่งกลางของฐาน แล้วติดลงบนขาของตัว Assault Intercessor ด้วยกาวซูเปอร์กลู
ขั้นต่อมาคือการนำเศษปูนพลาสเตอร์มาค่อยๆติดเรียงลงบนตัวและรอบๆ Assault Intercessor ด้วยกาวซูเปอร์กลูเพื่อให้ดูเหมือนว่ามันถูกทับอยู่ใต้ดิน ขั้นตอนนี้ใช้เวลาพอสมควรเพราะต้องเลือกเศษปูนที่เหมาะสมมาติดลงไปทีละชิ้น และจัดรูปทรงของปูนให้ได้ตามแบบที่ต้องการ อารมณ์เดียวกับการนั่งต่อจิ๊กซอว์
จากนั้นใช้กาวลาเท็กซ์ผสมน้ำและดินละเอียดจากสวนข้างบ้าน นำมาทาอุดตามรอยต่อระหว่างเศษปูนและทาทับตามส่วนต่างๆเพื่อจำลองพื้นผิวดินทั้งส่วนที่อยู่ใต้ดินและบนดิน
ส่วนของกำแพงแบบแท่งคอนกรีตด้านหลังทำขึ้นมาจากโฟมละเอียดสำหรับงานโมเดล และใช้แท่งพลาสติกกับลวดทองแดงมาทำเป็นรั้วไฟฟ้า ส่วนของกำแพงนี้เป็นองค์ประกอบรองที่เพิ่มขึ้นมาและจัดวางที่ด้านหลังของ Morslug เพื่อเป็นแบคกราวน์ให้กับตัวโมเดลหลักและช่วยบอกเล่าเรื่องราวสถานที่ๆเกิดการสู้รบว่ามีลักษณะแบบไหน ส่วนของรั้วไฟฟ้าที่เป็นลวดทองแดงนอกจากช่วยบอกเล่าเรื่องราวของสถานที่แล้ว ยังเป็นส่วนที่เชื่อมองค์ประกอบของพื้นที่ด้านบนและใต้ดินให้ดูสอดคล้องกัน แต่ไม่ดูแน่นและทึบเกินไปเพราะมีช่องว่างระหว่างลวดที่ทำให้ดูโปร่ง
การจัดองค์ประกอบของงานชิ้นนี้ จะเห็นว่าจุดเด่นจะอยู่ที่ตัวโมเดลหลักที่อยู่ตรงกลาง มีกำแพงด้านหลังและซากมารีนด้านใต้เป็นองค์ประกอบรองที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราวและช่วยเน้นให้ตัวโมเดลหลักนั้นดูโดดเด่นมากขึ้น
การจัดองค์ประกอบเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผลงานนั้นดูโดดเด่นและน่าสนใจ มีรูปแบบในการจัดองค์ประกอบมากมายหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ทำผลงาน นี่เป็นเรื่องที่อธิบายให้ฟังได้ค่อนข้างยากเพราะต้องใช้การเรียนรู้และฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลักการจัดองค์ประกอบศิลป์ ถ้าใครที่เรียนมาทางด้านศิลปะจะทราบว่าการจัดองค์ประกอบเป็นวิชาพื้นฐานที่ต้องใข้เวลาเรียนกันเป็นปี ดังนั้นถ้าสนใจในเรื่องนี้แนะนำให้ลองหาอ่านจากในอินเตอร์เน็ตในหัวข้อ "หลักการจัดองค์ประกอบศิลป์" ซึ่งมีให้อ่านมากมาย หรือถ้าเป็นไปได้ลองหาโรงเรียนพิเศษที่สอนศิลปะและลองเรียนวิชานี้แบบเป็นคอร์สสั้นๆดู การเรียนทฤษฎีไปพร้อมๆกับการลงมือทำจะช่วยให้เข้าใจเรื่องของการจัดองค์ประกอบได้ดีที่สุดครับ
อีกอย่างหนึ่งวิธีการทำงานของตัวเองเวลาสร้างงานฐานต่างๆ จะใช้การจินตนาการเป็นหลัก คือจะมีภาพที่คิดไว้ในหัวคร่าวๆว่าจะมีการจัดวางองค์ประกอบต่างๆแบบไหน แล้วจึงนำองค์ประกอบต่างๆมาค่อยๆจัดวางให้ได้ตามแบบภาพที่คิดเอาไว้ในหัว หลายๆครั้งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการจัดวางเพื่อให้ได้องค์ประกอบที่รู้สึกว่าดูลงตัวที่สุด แต่โดยภาพรวมก็จะยึดถือภาพจากจินตนาการที่คิดเอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเวลาสร้างงาน
วิธีการทำงานแบบนี้ต้องใช้จินตนาการสูงและต้องอาศัยประสบการณ์และความเข้าใจในเรื่องของการจัดองค์ประกอบพอสมควร แนะนำว่าถ้ายังไม่มั่นใจให้ลองใช้การสเก็ตช์ภาพแบบง่ายๆระบุตำแหน่งขององค์ประกอบต่างๆในฉากแบบที่ต้องการ เพื่อให้เห็นเป้าหมายที่จะทำแบบเป็นรูปเป็นร่าง แล้วค่อยลงมือทำตามแบบที่วาดเอาไว้ จะสะดวกกว่าการทำแบบทำไปคิดไปครับ
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เข้าใจเรื่องของการทำฐานวางมิเนียเจอร์แบบมีเรื่องราวกันได้ดีขึ้นนะครับ อย่างที่เกริ่นเอาไว้ว่าเรื่องนี้อธิบายได้ค่อนข้างยาก จึงไม่แน่ใจว่าอธิบายได้ดีพอหรือเปล่า ดังนั้นถ้ามีคำถามอะไรเพิ่มเติมก็ลองสอบถามกันมาได้ครับ แล้วพบกันใหม่ครับ
No comments:
Post a Comment