Acrylic Washes on Ground Surface; Urban Scene
เมื่อไม่นานมานี้ผมบังเอิญไปเจอภาพที่เก็บเอาไว้ในฮาร์ดดิสก์ตัวเก่าๆ เป็นภาพขั้นตอนของการทำเวทเธอร์ริ่งฉากจำลองที่ทำเอาไว้เมื่อหลายปีก่อนครับ เคยตั้งใจว่าจะเอาวิธีนี้มาเขียนลงเมื่อนานมาแล้ว แต่หาภาพไม่เจอจนลืมไป จะทำฉากใหม่เพื่อเอามาเขียนบทความก็ไม่มีเวลา สุดท้ายก็เลยผลัดมาเรื่อยๆ โชคดีที่หาภาพเจอเลยได้เอามาเขียนลงให้ชมกัน หวังว่าจะมีประโยชน์นะครับ
สำหรับในหัวข้อนี้จะอยู่ในส่วนของภาคผนวก ซึ่งเป็นส่วนเสริมต่อเนื่องมาจากบทความ Diorama Techniques - From Basic to Advanced ที่ได้ลงเอาไว้ครับ เพื่อที่จะช่วยให้เข้าใจถึงวิธีการในการทำสีฉากจำลองได้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการทำให้ฉากจำลองนั้นดูมีสภาพที่บ่งบอกถึงอายุ การผ่านการใช้งานมา หรือมีร่องรอยความสกปรก อย่างที่จะเรียกกันอย่างติดปากว่าการเวทเธอร์ริ่ง weathering ครับ
ในครั้งแรกของภาคผนวกนี้ ขอเริ่มที่การวอชสีเพื่อจำลองคราบฝุ่นภายในฉากจำลองด้วยสีอะคริลิคครับ ซึ่งตัวอย่างที่นำมาทำให้ชมกันจะเป็นลักษณะของฉากถนนภายในเมืองที่ถูกทำลายจากแรงระเบิด ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ดังนั้นจึงมีคราบฝุ่นสกปรกต่างๆกระจายอยู่ทั่วทั้งฉากครับ
ผมใช้งานชิ้นนี้เป็นตัวอย่างเพราะว่าจะได้เห็นถึงวิธีการในการทำงานได้อย่างชัดเจนครับ ซึ่งวิธีการในการวอชด้วยสีอะคริลิคนั้นสามารถนำไปปรับใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ด้วยการเปลี่ยนสีที่ใช้ในการวอชแต่วิธีการในการวอชนั้นเหมือนเดิม ทั้งการวอชสีของพื้นดิน พื้นโคลน คราบฝุ่นบนดิน คราบสกปรกตามอาคาร ฯลฯ อยู่ที่เราจะนำไปทดลองทำดูครับ
1. ขั้นแรกเริ่มจากเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการวอชก่อน สีที่ผมใช้จะเป็นสีอะคริลิคแบบหลอดที่ใช้ในการเพนท์รูปทั่วไปครับ สีชนิดนี้ใช้การทำละลายด้วยน้ำ ราคาน่าจะอยู่ตั้งแต่ประมาณไม่เกิน 100 ไปจนถึง 400 บาท ต่อหลอดครับ ซึ่งเหมาะสำหรับนำมาใช้ในการวอชพื้นที่ใหญ่ๆแบบฉากจำลอง มากกว่าการใช้สีสำหรับโมเดลโดยเฉพาะที่จะมีราคาแพงกว่ามากครับ
ผมเองซื้อสีอะคริลิคแบบนี้เก็บไว้ 7-8 สี ส่วนใหญ่จะเป็นโทนน้ำตาล เอาไว้ใช้ในการเวทเธอร์ริ่งแบบต่างๆครับ แต่ในส่วนของการทำคราบฝุ่นนี่ผมใช้เพียงแค่สามสีคือ สีเหลือง (Yellow Ochre) สีน้ำตาลเข้ม (Burnt Umber) และสีขาว (Titanium White)ครับ โดยผสมสีให้ออกโทนสีแบบในภาพคือเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ หรือจำง่ายๆแบบที่รุ่นพี่ของผมชอบเรียกว่าเป็นสีแบบกาแฟใส่นมครับ
สีอะคริลิคสูตรน้ำนั้นจะยึดติดบนพื้นผิวที่มีความด้านหรือสากได้ดีกว่าผิวมันครับ ดังนั้นก่อนที่จะวอชด้วยสีสูตรน้ำ อย่าลืมที่จะพ่นปรับพื้นผิวด้วยเคลียร์ด้านก่อนครับ
2. ในการผสมสีนั้นผมจะผสมเผื่อเอาไว้พอสมควร และผสมให้สีนั้นไม่ข้นหรือไม่เหลวจนเกินไป เพื่อให้สะดวกในการวอชครับ ซึ่งตรงนี้คงจะต้องทดลองดูด้วยตัวเองครับว่าอัตราส่วนระหว่างสีกับน้ำแค่ไหนถึงจะพอดีสำหรับการวอชของเรา อย่างสีที่ผมผสมไว้ในภาพ จะเห็นว่าสีนั้นข้นพอที่เมื่ออยู่ในถ้วยแล้วไม่ใสจนมองเห็นด้านล่างครับ แต่เมื่อนำไปทาลงบนฉากจำลองแล้วก็ไม่ข้นเกินไปจนกลบสีเดิมของฉาก แต่จะไปขังอยู่ตามซอกร่องอย่างที่เห็นในภาพครับ
3. วิธีในการวอชนั้น ทำโดยใช้พู่กันเบอร์ใหญ่ๆจุ่มสีแล้วทาเลยครับ โดยพยายามทาไปในทางเดียวกัน สีอะคริลิคนั้นจะใช้เวลาซักพักกว่าจะแห้ง เพราะฉะนั้นจะมีเวลาพอสมควรในการใช้พู่กันเกลี่ยสีไปในทิศทางที่เราต้องการครับ ซึ่งสีวอชที่เราทาเอาไว้นั้นมันจะเคลือบสีของฉากจำลองเอาไว้หนาหรือบางตามแต่การทาของเราครับ และจะเห็นได้ชัดเมื่อสีนั้นแห้งแล้ว
ในตัวอย่างที่ผมทำให้ดูนั้นจะเป็นพื้นถนนที่ทำจากหินเรียงกัน ดังนั้นเวลาทาในแต่ละส่วนผมก็จะใช้ปลายพู่กันเกลี่ยให้สีนั้นไปขังอยู่ตามร่องหินครับ จะเห็นว่าสีวอชในส่วนอื่นๆนั้นจะเพียงแค่เคลือบเอาไว้บางๆ ส่วนสีตามร่องนั้นจะเข้มและเห็นได้ชัดครับ และเมื่อสีแห้งแล้วสีตามร่องอาจจะจางลงหน่อยแต่ก็จะยังเห็นชัดอยู่ดีครับ เป็นเหมือนกับคราบฝุ่นที่ติดอยู่ตามร่องหิน ส่วนสีในส่วนอื่นๆก็จะดูเหมือนคราบฝุ่นจางๆที่เคลือบถนนหินเอาไว้ แต่ไม่กลบสีเดิมของพื้นถนนครับ
4. ในภาพจะเห็นว่าผมมีถ้วยใส่น้ำเปล่าเตรียมไว้ เพื่อที่เวลาวอชสีแล้ว สีส่วนไหนที่ทาลงไปแล้วดูเข้มหรือข้นเกินไปจนไปกลบสีเดิมของพื้นฉาก ผมจะจุ่มพู่กันกับน้ำ และมาทาเกลี่ยให้สีบริเวณนั้นจางลงครับ ส่วนสีวอชที่ไปเกาะอยู่ตามเศษอิฐเศษหิน หากดูเยอะเกินไปผมจะใช้วิธีเอาพู่กันไปซับกระดาษให้แห้งแล้วเอาพู่กันมาแตะให้ขนพู่กันนั้นซับสีในส่วนที่ไม่ต้องการออกมาครับ เพราะว่าสีอะคริลิคนั้นเมื่อแห้งแล้วจะไม่สามารถละลายได้ใหม่ ดังนั้นเวลาวอชผมจะค่อยๆวอชบางๆไปทีละส่วนเพื่อกันความผิดพลาดครับ และเมื่อสีแห้งแล้วส่วนไหนยังดูมีคราบฝุ่นที่จางหรือน้อยเกินไป ค่อยเอาสีมาวอชอีกรอบและทำแบบนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะพอใจครับ
5. เมื่อวอชสีทับทั้งพื้นถนนและส่วนของซากปรักหักพังเรียบร้อยแล้วครับ ผมทำการวอชสีซ้ำไปมาสองสามรอบจนพอใจ ในภาพตรงบริเวณด้านบนถนนที่ติดกับตัวอาคาร จะเห็นสีวอชนั้นติดอยู่ตามซอกร่องของเศษซากปรักหักพัง ซึ่งเมื่อแห้งแล้วสีตรงส่วนนี้จะดูซีดลงกว่านี้และจะดูเหมือนกับกองฝุ่นที่อยู่ใต้กองเศษอิฐเศษหินครับ
สำหรับตัวอย่างที่นำมาลงนี้ผมใช้เพียงสีเดียวในการวอช แต่หากอยากจะให้มีความหลากหลายของสีมากกว่านี้ก็ได้ครับ อาจจะเพิ่มสีโทนเข้มเข้าไปอีกสีหรือหรือสีที่อ่อนขึ้นอีกสี ตามที่เราต้องการ และใช้วิธีการวอชแบบเดียวกันจนเราพอใจครับ
6. ภาพผลงานเมื่อทำสีเสร็จเรียบร้อยแล้วครับ ส่วนที่พื้นถนนนั้นใช้การวอชด้วยสีอะคริลิคเพียงอย่างเดียวครับ เมื่อพ่นด้วยเคลือบด้านแล้วจะดูเหมือนคราบฝุ่นมากขึ้น ส่วนบริเวณที่เป็นกองอิฐจะมีการเวทเธอร์ริ่งเพิ่มด้วยสีพิกเมนท์ ซึ่งจะนำวิธีการมาเขียนลงอีกทีครับ
7. ตัวอย่างอื่นๆของฉากจำลองรูปแบบเมืองที่โดนทำลายที่ใช้วิธีการวอชพื้นฉากแบบเดียวกันครับ
8. ฉากนี้ทำเป็นพื้นถนนคอนกรีตหรือลาดยางมะตอยแบบในปัจจุบันครับ ผมใช้การพ่นสีคราบฝุ่นบางๆบนถนนบางส่วนด้วยแอร์บรัช แล้ววอชด้วยสีอะคริลิคอีกรอบด้วยสีโทนใกล้เคียงกัน และตกแต่งด้วยสีพิกเมนท์ในบางจุด
พึ่งได้เข้ามาอ่านตอน 16/3/2018 มีประโยชน์มากๆคะ ความรู้แบบนี้อาจารย์มหาลัยที่เราเรียนไม่มีสอน
ReplyDeleteขอบคุณครับ งานประเภทนี้ค่อนข้างจะเฉพาะทาง ไม่ได้มีสอนทั่วไป แต่ก็พอหาอ่านได้ในอินเตอร์เน็ต ถ้ามีปัญหาสงสัยอะไรก็ลองสอบถามมาได้เสมอครับ
Delete