Saturday, June 25, 2016

ว่าด้วยเรื่องของโต๊ะทำงาน และการจัดเก็บสีและอุปกรณ์ต่างๆในการทำงานโมเดล

ก่อนหน้านี้มีคนถามมาถึงเรื่องของการจัดการกับขวดสีที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าจะจัดเก็บอย่างไรดี ซึ่งจริงๆวิธีที่ผมใช้ก็ไม่ได้ประหลาดหรือแปลกใหม่อะไร แต่ก็คิดว่าอาจจะมีหลายๆท่านที่อาจจะยังไม่ทราบโดยเฉพาะท่านที่พึ่งจะเริ่มสนใจงานอดิเรกประเภทนี้ ก็เลยคิดว่าน่าจะนำมาเขียนเป็นบทความ โดยรวมเรื่องของการจัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆในการทำงานไปด้วยเลยคงจะดี จะได้เป็นการแนะนำการจัดโต๊ะทำงานและการจัดวางอุปกรณ์และสีในแบบของผม รวมถึงแนะนำอุปกรณ์คร่าวๆที่ใช้ในการทำงานโมเดลไปพร้อมกันทีเดียว เพื่อให้ท่านที่สนใจไว้ใช้ดูเป็นแนวทางและนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดอุปกรณ์และพื้นที่ในการทำงานของตัวท่านเอง เพื่อให้เหมาะกับความชอบความถนัดและลักษณะวิธีการทำงานของท่านครับ

สำหรับเรื่องของการจัดโต๊ะทำงานนั้น คงจะไม่มีรูปแบบการจัดที่ตายตัว เพราะมันขึ้นอยู่กับความชอบหรือความถนัดในการใช้งานของเรา รวมถึงลักษณะของงานที่ทำก็จะมีผลต่อการจัดโต๊ะด้วย อย่างตัวผมเองงานที่ทำตอนนี้จะเน้นไปที่งานเพนท์มิเนียเจอร์เป็นหลัก การจัดวางโต๊ะและอุปกรณ์ต่างๆก็จะจัดให้เหมาะกับความถนัดและลักษณะการทำงานของตัวเอง ส่วนคนที่ทำงานโมเดลประเภทอื่นๆ อย่างรถถัง เครื่องบิน หรือกันดั้ม ก็อาจจะมีวิธีการจัดโต๊ะที่แตกต่างกันไปตามความชอบของแต่ละบุคคลครับ

โดยโต๊ะทำงานที่ผมใช้อยู่ในปัจจุบัน จะเป็นการนำโต๊ะสำหรับวางคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นโต๊ะสำหรับทำโมเดล เนื่องจากส่วนตัวชอบที่มันมีรางลิ้นชักใต้โต๊ะสำหรับวางคีย์บอร์ด เพราะเหมาะกับการใช้วางอุปกรณ์ในแบบที่ตัวเองถนัดซึ่งจะช่วยให้การทำงานของตัวเองนั้นสะดวกขึ้น ส่วนการจัดเก็บสีและอุปกรณ์อื่นๆผมจะใช้ตู้ลิ้นชักขนาดต่างๆ มาจัดวางไว้บนโต๊ะและรอบๆ เพราะลักษณะการทำงานของตัวเองจะมีอุปกรณ์เล็กๆน้อยๆมากมายที่เอาไว้ใช้ทั้งในการทำโมเดลและทำฉากจำลอง การจัดเก็บด้วยลิ้นชักจะช่วยแยกประเภทของอุปกรณ์ต่างๆไว้เป็นหมวดหมู่ตามแต่ละลิ้นชัก ซึ่งช่วยให้ตัวเองนั้นจำได้ง่าย หยิบใช้งานได้สะดวก และยังช่วยป้องกันฝุ่นด้วยครับ

จากในภาพจะเห็นการจัดโต๊ะทำงานของผมโดยรวม ตรงส่วนพื้นที่ด้านหน้าโต๊ะและลิ้นชักใต้โต๊ะจะเป็นพื้นที่สำหรับทำงาน ส่วนด้านหลังโต๊ะจะวางลิ้นชักขนาดเล็กและอุปกรณ์ต่างๆเช่นพู่กัน ทินเนอร์ กาว ฯลฯ ส่วนด้านข้างโต๊ะก็จะเป็นตู้ลิ้นชักขนาดใหญ่สำหรับเก็บสีและอุปกรณ์ และพื้นที่สำหรับวางแล็ปท็อปและ Lightbox สำหรับถ่ายรูปครับ


ลองมาดูในส่วนของการเก็บขวดสีบ้าง ผมเองเลือกใช้การเก็บสีในตู้ลิ้นชักพลาสติกแบบมีล้อเพื่อที่จะได้สะดวกในการเคลื่อนย้าย และป้องกันสีจากการโดนแดดหรือฝุ่นจับครับ สำหรับตู้ลิ้นชักแบบนี้ในไทยน่าจะหาซื้อได้ตามโฮมโปรหรือโลตัสครับ ซึ่งเวลาซื้อจะต้องเลือกดูแบบที่มีความสูงด้านในลิ้นชักมากกว่า 8 เซ็นติเมตร เพื่อให้สามารถใส่ขวดสีของวัลเลโฮ (Vallejo) ได้พอดี ส่วนพื้นด้านในลิ้นชักก็ควรจะเป็นแบบเรียบเสมอกัน ไม่มีร่อง เพื่อจะได้จัดเรียงขวดได้สะดวก อย่างตอนที่ผมหาซื้อตู้นี้ ก็จะติดขวดสีไปด้วย เพื่อไปลองใส่และเปิดปิดดูว่าพอดีหรือเปล่าครับ
ผมเองใช้สีของวัลเลโฮเป็นหลัก ซึ่งรูปทรงขวดแบบนี้ก็จะมีใช้อยู่หลายยี่ห้อและมีขนาดความสูงของขวดพอๆกัน เช่น Scale75, Andrea, AK, Ammo of MIG เป็นต้น แต่ถ้าใช้สียี่ห้ออื่นอย่าง Citadel, P3, Reaper จะมีขนาดความสูงของขวดที่น้อยกว่าและสามารถหาซื้อตู้ลิ้นชักที่มีความสูงต่อชั้นน้อยกว่านี้ได้ครับ



ภายในของลิ้นชักแบบที่ใช้นี้ เมื่อนำสีมาเรียงแล้วในหนึ่งชั้นจะเก็บสีวัลเลโฮได้ร้อยกว่าขวดครับ ส่วนการจัดเรียงสีของผมก็จะจัดแบบไล่โทนสีไปเป็นกลุ่มเพื่อจะได้ง่ายต่อการจดจำ และวางให้สีที่ใช้บ่อยๆนั้นอยู่ด้านหน้าของลิ้นชัก เช่นสีดำ ขาว เพื่อความความสะดวกในการใช้งานครับ ส่วนตรงที่ลูกศรชี้นั้นเป็นกระดาษลังที่ผมตัดและนำมายัดไว้เพื่ออุดช่องว่างและทำให้ขวดสีนั้นเรียงกันได้อย่างเป็นระเบียบ


ส่วนลิ้นชักอีกชั้นจะมีสีวัลเลโฮที่เหลืออยู่ กับสีอีนาเมลและพิกเมนท์ที่ใช้สำหรับการเวทเธอริ่งรวมอยู่ด้วยกัน ซึ่งรูปทรงและขนาดของขวดที่ต่างกันเมื่อนำมาวางเรียงร่วมกัน เวลาเปิดปิดลิ้นชักจะทำให้ขวดต่างๆไหลมารวมกันไม่เป็นระเบียบ ผมจึงใช้กระดาษแข็งจากกล่องซีเรียลมาตัดให้พอดีกับความกว้างของลิ้นชักแล้วพับให้เป็นรูปตัวแอล จากนั้นติดลงบนพื้นลิ้นชักด้วยเทปใส ก็จะได้ช่องสำหรับกั้นสีแบบง่ายๆ ทำให้จัดเก็บสีได้เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้นครับ



ด้านขวามือของโต๊ะจะเป็นที่วางตู้ลิ้นชักแบบมีล้ออีกหนึ่งตู้ครับ โดยตู้นี้จะใช้เก็บพวกอุปกรณ์ในการทำงานต่างๆเป็นหลัก และแยกเก็บเอาไว้เป็นหมวดหมู่ตามการใช้งานในแต่ละชั้นเพื่อความสะดวกในการจำครับ



อย่างในลิ้นชักชั้นบนสุดก็จะใส่อุปกรณ์ในการทำงานโมเดลต่างๆที่ต้องใช้อยู่เป็นประจำเช่น คีมตัดพลาสติก คัตเตอร์ ปากคีบ สว่านมือ ฯลฯ ส่วนกล่องใส่ของเล็กๆที่วางเรียงอยู่ด้านข้าง จะเป็นกล่องสำหรับใส่วัสดุต่างๆที่ใช้ในการทำฉากหรือฐาน  เช่น ดิน ทราย อิฐทุบ ก้อนกรวด หญ้าเทียม ฯลฯ ซึ่งจะสะดวกเวลานำไปใช้งานพร้อมกันหลายๆกล่องโดยที่ไม่กินพื้นที่บนโต๊ะทำงานมากนัก



ส่วนลิ้นชักชั้นอื่นๆก็จะเก็บอุปกรณ์ในประเภทเดียวกันเอาไว้ร่วมกัน อย่างเช่นลิ้นชักนี้จะรวมอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำฉากหรือฐานต่างๆ เช่น หญ้าเทียม หิมะเทียม ดอกไม้ต้นไม้ต่างๆ เป็นต้นครับ


ในภาพนี้จะแสดงให้เห็นพื้นที่ในการทำงานและการวางอุปกรณ์ต่างๆในแบบของผม โดยจะอธิบายไล่ไปตามตัวอักษรครับ เพื่อจะช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้นโดยเฉพาะท่านที่พึ่งสนใจในงานด้านนี้ จะได้ทราบถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นและดูเป็นตัวอย่างในการจัดวางครับ


A - เป็นพื้นที่สำหรับการทำงานของผมครับ เนื่องจากตอนนี้จะทำงานเพนท์ฟิกเกอร์กับมิเนียเจอร์เป็นหลัก ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการทำงานมากนัก แค่เพียงแผ่นรองตัด(สีเขียว)สำหรับใช้ในการตัดแต่งชิ้นส่วน พื้นที่ว่างบนโต๊ะซีกซ้ายจะใช้สำหรับวางชิ้นงาน และพื้นที่ตรงรางลิ้นชักใต้โต๊ะจะใช้วางกล่องกระดาษที่ตัดมาจากลังเปล่า เอาไว้สำหรับรองเศษผงต่างๆจากการขัดชิ้นส่วนหรือการทำฐานครับ
ส่วนตัวแล้วชอบจัดวางกล่องรองเศษผงไว้แบบนี้ เพราะเวลาขัดงานจะมีไฟส่องชัดเจนและเศษผงไม่สกปรกเลอะเทอะ เวลามีเศษผงเต็มแล้วค่อยนำไปเททิ้งในถังขยะใต้โต๊ะอีกทีครับ

B - เป็นการจัดวางอุปกรณ์ที่ใช้ในการเพนท์สีของผมครับ โดยบนโต๊ะผมจะวางกระดาษเช็ดมือ (napkin) เอาไว้สำหรับซับสีจากพู่กัน และด้านบนกระดาษจะวางถ้วยใส่น้ำไว้สำหรับผสมสีอีกที ทั้งสองสิ่งนี้จะเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากๆ เพราะจะใช้ในการซับสีและเติมน้ำในสีอยู่ตลอดเวลาที่เพนท์งานครับ
ส่วนตัวผมจะชอบใช้กระดาษแบบนี้เพราะจะมีความหนากว่ากระดาษทิชชู่ ทำให้ซับสีได้ดีครับ ธรรมดาจะใช้แบบพับครึ่งแผ่นและวางซ้อนกันสองสามชั้นให้หนาๆ และเมื่่อใช้ซับสีไปแล้วบางส่วน หากทิ้งเอาไว้กระดาษจะแข็งตัวเพราะโดนน้ำ เวลากลับมาใช้ใหม่ผมจะเทน้ำลงไปเล็กน้อยเพื่อให้กระดาษนั้นชุ่มน้ำและนุ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยถนอมขนพู่กันเวลาซับสีลงบนกระดาษครับ

ส่วนตรงรางลิ้นชักใต้โต๊ะผมจะวางจานสีแบบเปียก (wet palette) เอาไว้ เนื่องจากกล่องที่ผมนำมาใช้ทำจานสีจะมีขอบที่สูงพอสมควร หากวางไว้ด้านบนโต๊ะในระดับเดียวกับกระดาษและถ้วยน้ำ ขอบของกล่องที่สูงกว่าจะทำให้ต้องยกมือขึ้นสูง และทำให้เวลาเพนท์งานนานๆมันจะเมื่อยเพราะต้องยกมืออยู่ตลอด หากวางเอาไว้ต่ำกว่าแบบนี้ส่วนตัวแล้วจะสะดวกและถนัดกว่าครับ
(วิธีการทำจานสีแบบเปียก หรือ wet palette หาอ่านได้ที่ลิ้งนี้ครับ [HERE])

C - เป็นอุปกรณ์ในการทำโมเดลที่จำเป็นและใช้อยู่ตลอดเวลาครับ ผมวางไว้ประจำบนโต๊ะเลยเพราะสะดวกกว่าเก็บไว้ในลิ้นชัก ประกอบด้วย มีดอาร์ตไนฟ์ ปากคีบ ไม่บรรทัดเหล็กขนาดเล็ก และพู่กันเบอร์ใหญ่เอาไว้ปัดเศษฝุ่นบนตัวงานครับ

D - กาวน้ำสำหรับติดพลาสติก ที่ผมใช้เป็นของ Tamiya ฝาเขียว เหมาะสำหรับโมเดลพลาสติกทั่วไป ส่วนขวดที่อยู่ข้างๆใช้สำหรับใส่กาวช้าง ทำมาจากขวดสีกันเซ่ที่ไม่ใช้แล้ว นำมาห่อด้วยแผ่นฟอยล์ห่ออาหารที่ปากขวดและกดให้เป็นหลุม ไว้สำหรับหยอดกาวช้างลงไปและนำไปแต้มลงบนงานอีกทีด้วยลวดทองแดงครับ ส่วนฝาเล็กๆที่อยู่ข้างๆกันก็ใช้วิธีทำแบบเดียวกัน แต่อันนี้จะเอาไว้ใช้ในการผสมพุตตี้กับทินเนอร์สำหรับนำไปทาอุดรอยต่อต่างๆบนชิ้นงานโมเดลครับ ข้อดีของการทำที่ใส่กาวช้างหรือพุตตี้ด้วยแผ่นฟอยล์คือสามารถเปลี่ยนใหม่ได้เรื่อยๆครับ


E - ฐานไม้ก๊อก เป็นอุปกรณ์ที่ทำขึ้นเองจากแผ่นไม้ก๊อกซ้อนทับกัน แล้วใช้ไม้บัลซ่ามาติดเป็นขอบทั้งสี่ด้านเพื่อความเรียบร้อย อุปกรณ์นี้ใช้สำหรับเป็นที่เสียบชิ้นส่วนเล็กๆที่แยกมาทำสีต่างหาก โดยใช้ไม้จิ้มฟันมาติดบนปลายไม้ด้วยกาวดินน้ำมัน (UHU Tac หรือ Patafix) แล้วติดชิ้นส่วนที่ต้องการแยกทำสีลงไป จากนั้นนำไปเสียบลงบนฐานไม้ก๊อกครับ นอกจากนี้ก็สามารถทำฐานไม้ก๊อกให้มีขนาดใหญ่เพื่อไว้สำหรับเสียบมินิหรือฟิกเกอร์เวลาเพนท์ได้เช่นเดียวกันครับ
ส่วนเข็มที่เห็นในภาพที่ตรงปลายพันไว้ด้วยลวดทองแดง ผมทำเอาไว้สำหรับใช้แต้มกาวตราช้างเพื่อนำไปทาหรือแต้มบนพื้นที่เล็กๆครับ




F - กล่องสำหรับใส่อุปกรณ์อื่นๆที่ใช้งานบ่อยๆ อย่างเช่น กระดาษทรายเบอร์ต่างๆ ผมจะตัดไว้เป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆแล้วใช้ที่หนีบๆแยกเบอร์เอาไว้ ที่ใช้หลักๆก็จะมีเบอร์ 400, 600, 800, 1000 ครับ นอกจากนี้ก็จะมีกาวช้าง และหลอดหยดสี (dropper) เป็นต้นครับ ส่วนด้านบนกล่องจะเป็นกระดาษเช็ดมือ (napkin) ที่ฉีกออกมาและพับเตรียมไว้ เพื่อความสะดวกเวลาเปลี่ยนอันใหม่


G - อุปกรณ์สำหรับล้างพู่กันแบบต่างๆ แบ่งเป็น
- Brush Cleaner ของ Vallejo ไว้สำหรับล้างพู่กันที่ใช้กับสีน้ำ
- White Spirit ของ Winsor & Newton ใช้สำหรับผสมสีอีนาเมล และใช้ล้างพู่กันที่ใช้กับสีอีนาเมลหรือสีน้ำมัน
- Lacquer Thinner ใช้สำหรับผสมสีสูตรแลคเกอร์ และใช้ล้างพู่กันที่ใช้กับสีสูตรแลคเกอร์ อีนาเมลหรือสีน้ำมัน

สาเหตุที่ต้องแยกการล้างพู่กัน เพราะว่าพู่กันสำหรับสีน้ำนั้นหากนำไปล้างด้วยทินเนอร์ทั่วไปจะทำให้ขนนั้นกระด้าง แตกตัวออกจากกัน และคุณสมบัติในการอุ้มน้ำลดลงครับ

H - แจกันที่เอามาใช้ใส่พู่กันครับ พู่กันที่มีก็จะแบ่งเป็นสองแบบคือพู่กันทั่วไปที่เอาไว้ใช้กับสีสูตรแลคเกอร์ อีนาเมลและสีน้ำมัน กับพู่กันสำหรับสีน้ำโดยเฉพาะที่จะแยกเก็บใส่ถุงหรือในกล่องทรงกระบอกไว้ด้านหลังครับ

ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นการจัดโต๊ะและอุปกรณ์ต่างๆในแบบของผม ที่พยายามจะทำให้มันเหมาะกับความชอบ ความถนัด และลักษณะการทำงานของตัวเองครับ แม้โดยรวมๆแล้วบนโต๊ะจะยังดูค่อนข้างรกอยู่ เพราะของเล็กๆน้อยๆมันเยอะจริงๆ แต่ก็พยายามจะจัดให้มันเป็นระเบียบเป็นสัดส่วนให้มากที่สุด เพื่อความสะดวกในการใช้งานของตนเองครับ หวังว่าบทความนี้คงจะช่วยให้ท่านที่สนใจได้เห็นแนวทางในการจัดพื้นที่ทำงานและนำไปประยุกต์ใช้ได้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ แล้วพบกันใหม่ครับ

4 comments:

  1. ได้เป็นแนวทางไปทำตามบ้างแล้วครับ ขอบคุณครับผม

    ReplyDelete
    Replies
    1. ด้วยความยินดีครับ :)

      Delete
  2. พัดลมดูดอากาษหรือเป่าลมนี้จำเป็นมั้ยครับ

    ReplyDelete
    Replies
    1. คงขึ้นอยู่กับการใช้งาน ความเหมาะสมของสถานที่ และความพร้อมของเราเองครับ

      อย่างเช่นถ้าใช้แอร์บรัชในการพ่นสีบ่อยและโต๊ะทำงานอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ถ้ามีโต๊ะสำหรับพ่นสีและมีพัดลมดูดอากาศอยู่ติดกับโต๊ะทำงาน แบบนั้นก็จะสะดวกแก่การทำงานมากขึ้นครับ แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมา

      หรือถ้ามีโต๊ะทำงานในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวกหรืออยู่ติดระเบียง แบบนี้ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีพัดลมดูดอากาศเพราะสามารถพ่นสีตรงระเบียงได้ เป็นต้นครับ

      อย่างโต๊ะทำงานผมเอง เนื่องจากใช้การเพนท์สีด้วยพู่กันเป็นหลัก และสีที่ใช้เป็นสีสูตรน้ำที่ไม่มีกลิ่นรบกวน จึงไม่จำเป็นต้องมีพัดลมดูดอากาศครับ

      Delete