Saturday, May 30, 2020

Northumbrian Theng Jórvík, 866 (WIP 1)

FeR Miniatures 1/16 scale

I've been working on a few projects lately and switching between historical and fantasy subjects. Here's the first WIP of a historical bust from FeR Miniatures, painted with Kimera Kolors. It was the first time I used Kimera Kolors for painting human skin and I'm pretty happy with the results. Tomorrow I'll post another WIP of the fantasy subject, stay tuned.

งานล่าสุดที่กำลังทำอยู่ครับ เป็นบัสขนาด 1/16 ของยี่ห้อ FeR Miniatures ช่วงนี้ยังคงทำงานหลายๆชิ้นสลับไปมาตามอารมณ์ตัวเอง เลยยังไม่มีอันไหนเสร็จเป็นชิ้นเป็นอันเสียที 😅 แต่ตั้งใจว่าจะทำบัสอันนี้ให้เสร็จก่อน แล้วคงสลับกลับไปทำฟิกเกอร์ทหารต่อ หรือไม่ก็งานแฟนตาซีที่ค้างเอาไว้ คงจะนำความคืบหน้ามาให้ชมกันเรื่อยๆครับ

ในส่วนของการเพนท์สีผิว ครั้งนี้ลองใช้สี Kimera Kolors มาเพนท์สีผิวคนดูบ้าง ก่อนหน้านี้เคยใช้เพนท์สีผิวของ Abaddon ซึ่งเป็นผิวแบบอมนุษย์ที่การผสมสีนั้นไม่ยุ่งยากเท่าไหร่ พอมาครั้งนี้เป็นการผสมสีผิวคน เลยรู้สึกว่าการผสมสีนั้นยุ่งยากและซับซ้อนกว่ามาก ต้องใช้การผสมของหลายๆสีเพื่อให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่เห็นในภาพ
แม้ว่าสียี่ห้อนี้จะต้องอาศัยประสบการณ์ในการใช้งานพอสมควร แต่ผลลัพท์ที่ได้นั้นก็น่าพอใจมาก โดยเฉพาะความด้านของสีแบบในภาพ ที่เป็นผลมาจากคุณสมบัติของตัวสีเองโดยที่ไม่ได้ผสมสิ่งอื่นใดนอกจากน้ำครับ

สำหรับพรุ่งนี้คงจะนำความคืบหน้าของงานแฟนตาซีที่ทำอยู่มาลงให้ชมสลับกันไปครับ





Sunday, May 24, 2020

In Progress. May 2020

My workbench at the moment, more projects coming soon.

ช่วงนี้ยังคงสนุกกับการประกอบอุดขัดงานชิ้นใหม่ๆสลับไปกับการเพนท์ครับ หลายๆชิ้นอยากทำมานานแล้ว พอตอนนี้มีโอกาสเลยเอามาทำให้เสร็จเตรียมพร้อมไว้สำหรับการนำไปทำสีในอนาคตครับ


Wednesday, May 20, 2020

"ความมุ่งมั่นและความพยายาม"

ย้อนไปเกือบ 20 ปีก่อน ตอนที่ยังมีนิตยสาร Hobby Model วางขายอยู่ทั่วไป มีอยู่หนึ่งฉบับที่รวมผลงานของพี่โด่ง นภากาศ ซึ่งเป็นโมเดลเลอร์ที่เชี่ยวชาญการทำโมเดลเครื่องบินคนหนึ่งของประเทศไทย ในบทบรรณาธิการของฉบับนั้น มีท่อนหนึ่งที่เขียนเอาไว้ใจความประมาณว่า "โมเดลเครื่องบินที่คุณเห็นอยู่ในหนังสือฉบับนี้ ผู้ทำไม่ได้ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน ในการทำให้มันเสร็จสมบูรณ์ แต่เขาใช้เวลาตลอดชีวิตของการทำงานด้านนี้ ฝึกฝนและเรียนรู้ จนสามารถทำผลงานให้ออกมาสมบูรณ์เหมือนอย่างที่เห็นในหนังสือฉบับนี้ได้" นี่คือถ้อยคำที่ผมจดจำมาตลอดตั้งแต่ตอนนั้น และเอาไว้คอยเตือนใจตัวเองเสมอมา ว่าผลงานสวยๆที่เราเห็นกันตามสื่อต่างๆนั้น มันต้องใช้การฝึกฝนและความพยายามเป็นอย่างมาก เพื่อจะสามารถทำผลงานให้ออกมาสวยงามได้แบบนั้น มันไม่มีทางลัดใดๆที่จะช่วยให้สามารถทำผลงานแบบนั้นได้ โดยที่ไม่ต้องพยายาม

เพราะฉะนั้นการทำงานประเภทนี้หรืองานศิลปะใดๆก็ตาม หากต้องการพัฒนาผลงานตัวเองให้อยู่ในระดับสูง สิ่งสำคัญคือต้องมีความมุ่งมั่นและความพยายามเป็นที่ตั้ง เพราะการที่จะให้ได้มาซึ่งความสามารถอย่างที่เราตั้งใจและมุ่งหวังไว้ จะต้องลงมือทำฝึกฝนและเรียนรู้ เพื่อพัฒนาฝีมือให้ดีมากขึ้นเรื่อยๆจนกว่าจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งต้องใช้เวลาและความเพียรพยายามเป็นอย่างสูง ยิ่งเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้นั้นสูงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องใช้ความมุ่งมั่นและความพยายามเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น 
นี่คือหลักการที่ยึดมั่นมาโดยตลอด อยากเก่งก็ต้องฝึกฝน อยากทำได้ก็ต้องลงมือทำ ง่ายๆแค่นั้นเอง แต่ในความเป็นจริง หลายๆครั้งมันไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างที่ตั้งใจ ความท้อแท้ หมดไฟ นั้นเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะเมื่อเจออุปสรรคที่ยากจะก้าวผ่าน แต่ถ้าท้อแล้วหยุดอยู่กับที่ก็คงจบเพียงแค่นั้น ถ้าอยากที่จะก้าวผ่านมันไปก็ต้องรวบรวมพลังใจแล้วกลับมาฝ่าฟันอุปสรรคนั้นไปให้ได้ มันอาจต้องใช้ความพยายามมหาศาล หรืออาจต้องใข้เวลานานเป็นปีๆ แต่ถ้ายังคงพยายามอยู่ อย่างน้อยก็ยังมีโอกาสที่จะทำได้สำเร็จมากกว่าการที่ไม่พยายามใดๆเลย

วันนี้ยกเรื่องนี้มาพูดถึงเพราะเห็นว่าช่วงหลังๆ มีคนหันมาสนใจงานประเภทนี้กันมากขึ้น และหลายๆคนก็มีความตั้งใจที่จะพัฒนาผลงานตัวเองให้ดียิ่งๆขึ้น เลยอยากเขียนบทความนี้เพื่อเป็นกำลังใจให้กับทุกๆคนที่กำลังพยายามอยู่ มันอาจจะไม่ง่ายในการที่จะไปให้ถึงจุดหมายอย่างที่ตั้งใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ ถ้ายังมีความมุ่งมั่นและความพยายามอยู่ มันก็คงจะสำเร็จได้ในสักวันครับ

ส่วนภาพที่เอามาลงประกอบนี้ เป็นภาพอาร์ตไนฟ์ที่ผมใข้งานอยู่เป็นประจำ ถ่ายเอาไว้ช่วงปลายปี 2017 ก่อนปลดประจำการไปใช้อันใหม่
เนื่องจากตอนนั้นมีความคิดอยากจะทำฉากจำลอง เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบการทำงานโมเดลมา 25 ปี จึงอยากจะทำฉากที่สื่อถึงการทำงานของตัวเอง และอาร์ตไนฟ์อันเก่านี้ก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความพยายามที่ผ่านมาของตัวเองได้เป็นอย่างดี เลยตั้งใจที่จะให้มันเป็นส่วนหนึ่งของฉากด้วย 

ถ้าลองสังเกตดูในภาพ จริงๆอาร์ตไนฟ์ทั้งสองด้ามนั้นเป็นแบบเดียวกัน แต่เนื่องจากอันเก่านั้นถูกใช้งานมาเป็นเวลานาน จึงทำให้ลวดลายตรงปลอกทองเหลืองนั้นเลือนหายไปจากการถูกสัมผัสนับครั้งไม่ถ้วน แม้จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่มันก็ช่วยแสดงให้เห็นว่ากว่าที่จะพัฒนามาจนถึงจุดนี้ได้ ต้องผ่านการลงมือทำมามากขนาดไหน ซึ่งความมุ่งมั่นและพยายามนี่เอง ที่จะพาเราไปให้ถึงจุดหมายต่อๆไปที่ตั้งใจไว้ ไม่มีอะไรที่ได้มาโดยง่าย แต่ทุกสิ่งนั้นเป็นไปได้ถ้าเรามีความพยายาม
เป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่กำลังพยายามฝึกฝนและพัฒนาผลงานของตัวเองอยู่ครับ 

สำหรับฉากจำลองที่ตั้งใจจะทำเพื่อครบรอบ 25 ปีนั้น เนื่องจากยังมีองค์ประกอบบางส่วนที่ยังไม่สามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจ  จึงพักเอาไว้เพื่อรอเวลาที่จะทำมันได้อย่างสมบูรณ์ และอาร์ตไนฟ์อันเก่านี้ ก็ยังเก็บเอาไว้เพื่อรอใช้ประกอบฉากในอนาคตครับ
เมื่อถึงตอนนั้นคงจะกลายเป็นฉากจำลองเพื่อครบรอบ 30 ปี หรือ 35 ปีแทน ไว้ถ้าสามารถทำให้เสร็จได้เมื่อไหร่ คงจะนำภาพมาให้ชมกันแน่นอนครับ


Saturday, May 9, 2020

MG Gunner (WIP 2)

2nd SS Pz.Div Das Reich, Kharkov 1943
Alpine Miniatures 1/35 scale

A little update on this project. It was quite difficult for me to take a good photo of the dark background. I'll try to make it better next time.

ความคืบหน้าเล็กน้อยครับ งานชิ้นนี้รู้สึกว่าถ่ายภาพกับฉากหลังสีดำยากมาก เลยออกมาดูไม่ชัดเท่าไหร่ ไว้ตอนทำเสร็จแล้วจะพยายามถ่ายภาพให้ดีกว่านี้ครับ 




Wednesday, May 6, 2020

Reviews : WWII German MG42 Gunner & MG42 Tripod Carrier Totenkopf Division, Kharkov 1943

I just received the latest bust from Life Miniatures, MG42 Gunner. I've waited for so long to see they sculpted this bust to go along with their MG42 Tripod Carrier that they released a long time ago. Both pieces are beautifully sculpted and the details are so great. They will definitely be a wonderful pair on the display when they're finished. The MG42 Gunner is a limited kit produced only 200 copies. They still have some kits left on their webstore, get it before it's gone.

https://www.lifeminiatures.com/

ผมพึ่งได้รับงานบัสชิ้นล่าสุดของยี่ห้อ Life Miniatures มาครับ MG42 Gunner เป็นงานที่ผมรอคอยให้ค่ายนี้ออกมานานมากๆ หลังจากที่เคยออก MG42 Tripod Carrier ไว้เมื่อหลายปีก่อน ในที่สุดก็ทำออกมาคู่กันเสียที เลยถือโอกาสนี้เอาชิ้นส่วนของบัสทั้งสองมารีวิวให้ชมกันครับ

MG42 Gunner และ MG42 Tripod Carrier เป็นงานบัสในขนาด 1/10 ของ Life Miniatures ซึ่งปั้นโดย Sang-Eon Lee ผู้เป็นเจ้าของบริษัทและรับหน้าที่ทั้งปั้นและลงสีภาพหน้ากล่องด้วยตัวเอง โดย MG42 Tripod Carrier นั้นผลิตออกมาตั้งแต่ปี 2013 ส่วน MG42 Gunner พึ่งจะเปิดให้พรีออเดอร์เมื่อเดือนที่ผ่านมานี่เอง
ทั้งสองชิ้นผลิตออกมาด้วยวัสดุเรซิ่นคุณภาพดี มีรอยตะเข็บต่างๆให้ต้องอุดขัดน้อยมาก ส่วยรายละเอียดต่างๆนั้นหล่ออกมาได้คมชัด แม้แต่ชิ้นส่วนเล็กๆอย่างเช่นบุหรี่หรือหูกระวินก็มีมาให้ด้วย โดยที่เราไม่ต้องทำขึ้นมาเองครับ

เนื่องจากทั้งสองชิ้นนั้นจะมีปืนกลและขาตั้งปืนกลให้มาด้วย จึงทำให้มีชิ้นส่วนมากพอสมควรสำหรับงานประเภทบัส โดย MG42 Tripod Carrier จะมีชิ้นส่วนทั้งหมด 23 ชิ้น ส่วน MG42 Gunner จะมีชิ้นส่วนทั้งหมด 26 ชิ้น ส่วนภาพอ้างอิงสำหรับการประกอบปืนกลและขาตั้งปืนกลนั้นจะพิมพ์มาให้ตรงด้านข้างกล่องของทั้งสองกล่องครับ

สำหรับ MG42 Gunner ผลิตออกมาแบบจำนวนจำกัดเพียงแค่ 200 ชิ้นเท่านั้น และเปิดให้พรีออเดอร์ไปตั้งแต่เดือนที่แล้ว ตอนนี้จึงยังมีสินค้าเหลืออีกไม่มากนัก หากสนใจลองติดต่อทาง Hobby Studio Thailand ดูครับ เห็นมีนำเข้ามาขายอยู่จำนวนหนึ่งครับ

https://www.facebook.com/hobbystudiothailand/
https://www.lifeminiatures.com/

 ภาพหน้ากล่องของทั้งสองชิ้น

ภาพหน้ากล่อง MG42 Gunner เป็นภาพตัวต้นแบบที่ยังไม่ได้ลงสี เนื่องจากเป็นการเปิดให้พรีออเดอร์ล่วงหน้าจึงยังไม่มีภาพของชิ้นงานที่ลงสีมาให้ดูเป็นตัวอย่าง คาดว่าทางผู้ปั้นคงจะนำภาพชิ้นงานที่ลงสีเสร็จแล้วมาเผยแพร่ให้ดูเป็นตัวอย่างกันอีกทีในเร็วๆนี้

ถ้าได้เลขเบอร์ 42 คงจะฟินมากกว่านี้อีกนิดนึง 😆

ด้านข้างกล่องเป็นภาพอ้างอิงสำหรับใช้ในการประกอบตัวปืน MG42

ชิ้นส่วนทั้งหมดที่มีมาให้ในกล่อง

หน้าตาคมคาย และส่วนหัวประกอบได้ลงตัวมาก



ชิ้นส่วนของปืนกล MG42 ในภาพจะเห็นชิ้นส่วนด้านบนขวาที่เป็นตัวประกับลำกล้องปืนนั้นเบี้ยวอยู่ กรณีแบบนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการนำชิ้นส่วนไปต้มน้ำร้อนหรือเป่าด้วยลมร้อนจากไดร์เป่าผม แล้วจึงดัดให้ชิ้นส่วนนั้นกลับมาตรงตามเดิม

บุหรี่, หูกระวิน และสายสะพายปืน เป็นชิ้นส่วนเล็กๆที่หล่อออกมาได้ดีมาก


ภาพหน้ากล่องที่เป็นฝีมือการปั้นและลงสีของ Sang-Eon Lee กล่องที่เห็นจะเป็นกล่องรุ่นแรกที่ใช้กระดาษสีน้ำตาลอ่อน ก่อนที่ภายหลังจะเปลี่ยนมาเป็นกล่องสีดำแบบในปัจจุบัน 

ด้านข้างกล่องเป็นภาพอ้างอิงสำหรับใช้ในการประกอบขาตั้งของปืนกล MG42

ชิ้นส่วนที่ให้มาทั้งหมด 





ชิ้นส่วนของขาตั้งปืนกล MG42














Tuesday, May 5, 2020

Reviews : Tablewar - Display Tower: Half-size Case Mk.III & Frontier Wargaming - Miniature Case (S)

สวัสดีครับ วันนี้มีรีวิวมาให้ชมกันอีกแล้ว พอดีพึ่งจะซื้อกล่องใส่โมเดลสำหรับการเดินทางอันใหม่มา ก็เลยอยากมารีวิวและเล่าประสบการณ์ในการใช้งานให้ฟัง เพราะเห็นช่วงหลังๆเริ่มมีคนเดินทางไปร่วมประกวดงานที่ต่างประเทศกันมากขึ้น เลยเอามารีวิวให้ดูเผื่อเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่สนใจครับ อีกอย่างเคยบอกเอาไว้ตั้งแต่สองปีที่แล้วว่าจะมารีวิวให้ดู แล้วก็ลืมไปเลย 😅 คราวนี้ได้โอกาสเลยมารีวิวให้ดูกันสองแบบสองยี่ห้อเลยครับ

ก่อนอื่นขอเล่าให้ฟังถึงความจำเป็นในการใช้กล่องสำหรับการเดินทางแบบนี้ในอเมริกาก่อน โดยเฉพาะการเดินทางโดยเครื่องบินที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกได้อย่างมาก เนื่องจากการตรวจตราสัมภาระต่างๆก่อนขึ้นเครื่องที่นี่จะเข้มงวดมาก ตั้งแต่ตรงจุดตรวจสัมภาระไปจนถึงประตูขึ้นเครื่อง ที่ผ่านมาขนงานไปประกวดขึ้นเครื่องทุกรอบ โดนเรียกตรวจทุกรอบ แม้จะเปิดกล่องให้ดูแล้วแต่บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ล้วงมือเข้าไปจับโดยไม่ทันได้ดึงออกมาให้ดู เลยทำให้เกิดความเสียหายบ้าง แต่อย่างน้อยมันก็ยังช่วยให้การโดนเรียกตรวจสอบนั้นทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เพราะพอเขาเห็นว่ามันไม่ใช่ของผิดกฎหมายหรืออันตรายใดๆก็จะปล่อยให้เราผ่านตามปกติ และไม่ต้องมาเสียเวลากับการแพคงานอีกรอบ

ที่เคยเจอตื่นเต้นสุดคือตอนเดินเข้าเกทไปยังตัวเครื่องบิน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจใส่ชุดแบบหน่วยสวาทสะพายปืนกลยืนอยู่สองท่าน ด้วยความที่เราหน้าตาเป็นมิตรและเดินถือกล่องแปลกๆ เลยถูกเรียกให้หยุดและขอตรวจเช็คตรงทางเดินขึ้นเครื่องเลย โดยเขาคอยบอกกำกับให้เราทำตามที่เขาสั่ง คือให้นั่งลงกับพื้นโดยชันเข่าข้างหนึ่ง วางกล่องลงเบื้องหน้า แล้วให้เราเป็นคนเปิดให้ดูว่าภายในมีอะไร แล้วเขาก็ยืนดูเราเปิดกล่องพร้อมกับถามคำถามไปด้วย ส่วนเราเองก็เปิดกล่องและอธิบายว่านี่คืออะไรและเรากำลังจะไปไหนไปทำอะไร พอเขาเห็นว่าไม่มีอะไรก็ปล่อยให้เราเดินไปขึ้นเครื่องได้ แต่ก็กลายเป็นคนสุดท้ายที่ได้ขึ้นเลย ถ้าเป็นที่อื่นการตรวจเช็คอาจจะไม่เข้มงวดเท่าที่นี่ก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยการถือกล่องแบบที่สามารถเปิดปิดได้สะดวกและมีกระจกให้มองเห็นภายในมันก็ช่วยให้สะดวกต่อการตรวจค้น และลดความเสียหายที่อาจจะเกิดกับผลงานได้มากกว่าครับ

Display Tower: Half-size Case Mk.III

ทีนี้มาดูที่ตัวกล่องกันบ้างดีกว่า อันแรกที่เอามาให้ดูเป็นกล่องขนาดใหญ่ของยี่ห้อ Tablewar ชื่อรุ่นตามที่เขียนไว้ด้านบนครับ ราคาอยู่ที่ $117 ไม่รวมค่าส่ง มีขนาด 51cm W, 25.5cm D, 27.2cm H ซึ่งเป็นขนาดที่เขาออกแบบมาให้สามารถใส่เข้าไปในช่องเก็บของด้านบนที่นั่งของเครื่องบินได้อย่างพอดีครับ อันนี้ลองใส่มาแล้วกับหลายสายการบิน สามารถใส่เข้าไปได้ทุกครั้ง อาจจะต้องวางตะแคงคว่ำหรือหงายบ้าง ขึ้นอยู่กับรูปแบบช่องเก็บของๆแต่ละลำ แต่ใส่ได้ไม่มีปัญหาครับ ตัวกล่องเป็นอลูมิเนียมที่แข็งแรงดีทีเดียว และมีน้ำหนักพอสมควร กล่องอันนี้จะมีตัวล็อคทั้งหมด 5 จุด โดยจะเป็นตัวล็อคฝาด้านหน้า 3 จุด และตัวล็อคฝาด้านบน 2 จุด สำหรับฝาด้านหน้าจะเป็นกระจกเพื่อให้มองเห็นภายในกล่องและสามารถเปิดได้กว้าง 180 องศา รวมถึงสามารถถอดฝาด้านหน้าออกจากกล่องได้เลยเพียงแค่ดึงตัวฝาให้ที่คล้องตรงบานพับนั้นหลุดออกมา ส่วนฝาด้านบนเมื่อปลดตัวล็อคทั้งสองข้างออกจะสามารถเปิดให้พับไปด้านหลังได้ โดยจะมีห่วงเหล็กช่วยค้ำอยู่ทึ่ด้านหลังกล่องทำให้ฝาด้านบนนั้นเปิดค้างไว้ได้

ตัวกล่องจะมาพร้อมกับฐานวางงาน 2 อันและกล่องใส่ของ โดยตัวฐานวางงานที่ให้มาทั้งสองอันจะเป็นแค่กรอบที่มีช่องว่างอยู่ตรงกลาง เราต้องเลือกซื้อชิ้นส่วนถาดสีเทามาติดภายในกรอบต่างหากเพื่อให้สามารถวางผลงานได้ โดยจะมีถาดหลายแบบให้เลือกซื้อในเว็บไซต์ของ Totalwar เพื่อให้เหมาะกับการขนโมเดลหรือมินิแบบต่างๆ อย่างในภาพที่เห็นตรงส่วนสีเทาคือ diorama tray ที่เหมาะสำหรับการวางผลงานชิ้นใหญ่ๆ
ส่วนด้านใต้ของฐานวางงานจะมีร่องอยู่ทั้งสองข้างเพื่อให้เสียบเข้ากับรางที่ติดอยู่ด้านข้างของกล่อง และสามารถเลือกระดับความสูงของฐานแต่ละชั้นได้ตามต้องการ ส่วนกล่องนั้นจะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมที่ไม่มีร่อง จึงต้องวางที่พื้นด้านล่างของกล่อง ส่วนรายละเอียดอื่นๆจะลงอธิบายไว้ในภาพอีกทีครับ

Miniature Case (S)

กล่องที่สองที่นำมาแนะนำกันเป็นของยี่ห้อ Frontier Wargaming ครับ มีขนาด 25cm W, 11.5cm D, 31cm H ราคาประมาณ $60 ไม่รวมค่าส่ง วัสดุทำจากไม้อัดหนาประมาณ 5mm ที่นำมาต่อเข้าด้วยกันเป็นกล่องและทาสีย้อมไม้เคลือบเอาไว้ ตัวกล่องมีความแข็งแรงพอสมควร ถ้าไม่ตกจากที่สูงหรือโดนค้อนทุบก็ไม่น่ามีปัญหา ส่วนหูหิ้วทำจากไนล่อนถักหุ้มด้วยที่จับยางดูแข็งแรงและทนทานดี
ฝาด้านหน้าของกล่องที่ให้มาจะสลักชื่อยี่ห้อ FW เอาไว้ แต่ผมเลือกที่จะเอาสติ๊กเกอร์มาติดทับทั้งหมด ส่วนด้านในเมื่อเปิดฝาออกมาจะเห็นตัวล็อคทองเหลืองที่เป็นแบบกดเพื่อให้ฝาด้านหน้านั้นล็อคเข้ากับตัวล็อคที่อยู่ข้างในกล่อง ตอนแรกก็คิดว่าที่ล็อคแบบนี้น่าจะมีปัญหาทำให้ฝากล่องปิดไม่แน่น แต่พอได้มาลองใช้จริงแล้วมันปิดได้แนบสนิทมากๆ เวลาเปิดฝาจึงต้องออกแรงดึงนิดหน่อยเพื่อให้ฝานั้นเปิดออก
ด้านในกล่องจะมีถาดวางผลงานให้มา 2 ชิ้น ตัวถาดทำจากไม้และด้านบนของถาดเป็นแผ่นแม่เหล็ก เพื่อให้สามารถล็อคผลงานที่ติดแม่เหล็กไว้ด้านใต้ฐานได้ นอกจากนี้ภายในกล่องจะมีรางไม้ติดอยู่ที่ด้านข้างกล่องทั้งสองด้าน ให้เลือกปรับความสูงของถาดวางผลงานได้ 5 ระดับตามต้องการ ส่วนพื้นที่ภายในกล่องนั้นมีไม่มากนักเพราะเป็นกล่องขนาดเล็ก แต่ก็สามารถขนงานมิเนียเจอร์บนฐานวงกลมได้มากกว่า 10 ชิ้น หรือถ้าเป็นงานฟิกเกอร์หรือมิเนียเจอร์ที่ติดบนฐานไม้ก็สามารถขนได้ 4-5 ชิ้นขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความสูงของชิ้นงาน

ส่วนตัวซื้อกล่องนี้มาเพิ่มเติมไว้ใช้ในกรณีที่ต้องขนผลงานจำนวนไม่มาก ซึ่งจะสะดวกกว่าการที่ต้องแบกกล่องขนาดใหญ่ไปทั้งกล่องเพื่อขนผลงานแค่ไม่กี่ชิ้น นอกจากนี้ด้วยความที่กล่องนั้นมีขนาดเล็ก จึงสามารถใส่เข้าไปในเป้สะพายหลังได้ ในกรณีที่ต้องการขนผลงานจำนวนมากเกินที่จะใส่กล่องใหญ่เพียงใบเดียว ก็สามารถแบ่งมาใส่ที่กล่องเล็กนี้และใส่ลงในเป้เพื่อถือขึ้นเครื่องได้ครับ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมจะลงไว้ในภาพครับ

สำหรับการติดตั้งผลงานลงบนฐานวางของทั้งสองกล่อง ผมจะใช้ Blu Tac, UHU Tac (UHU Patafix) หรือที่เรียกกันว่ากาวดินน้ำมันครับ โดยจะบิกาวดินน้ำมันเป็นก้อนเล็กๆหลายๆก้อนติดไว้ที่ใต้ฐานโมเดลแล้วนำไปกดลงบนฐานวางงานให้แน่นที่สุด จากนั้นเอากาวดินน้ำมันมาติดให้รอบระหว่างรอยต่อฐานโมเดลกับฐานวางงานและกดให้แนบมากที่สุดอีกที วิธีนี้จะช่วยให้ผลงานติดอยู่บนฐานวางได้อย่างแข็งแรงสามารถคว่ำได้โดยที่ไม่หลุดออกมา และสามารถลอกกาวดินน้ำมันออกได้โดยง่าย ไม่มีคราบกาว และไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อฐานโมเดลด้วยครับ ก็หวังว่าบทความนี้คงจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย หากสนใจกล่องทั้งสองแบบนี้สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ด้านล่างครับ และถ้ามีคำถามอะไรเพิ่มเติมก็สามารถสอบถามมาได้ครับ




Display Tower: Half-size Case Mk.III ภาพโดยรวมของกล่อง จะเห็นว่ามีสติ๊กเกอร์ติดไว้เยอะมาก อย่างหนึ่งคือความชอบส่วนตัวให้มันดูมีสีสัน อีกอย่างคือให้มันจำได้ง่ายว่านี่คือกล่องของเรา เพราะกล่องแบบนี้คนนิยมใช้เยอะมาก เวลานำผลงานไปประกวด ส่วนใหญ่จะนิยมเก็บกล่องที่ขนผลงานมาไว้ใต้โต๊ะที่จัดแสดงผลงาน การทำสัญลักษณ์ลงบนกล่องก็จะช่วยป้องกันความสับสนได้


ตัวล็อคกล่องจะเป็นเหล็กคล้องที่เปิดปิดได้ง่าย และมีรูสำหรับคล้องกุญแจได้ (ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัวล็อคแบบนี้เขาเรียกว่าอะไรครับ)


การเปิดฝากล่องด้านหน้าต้องปลดล็อคสามตัว ซึ่งตัวล็อคทั้งสามนี้ช่วยให้กล่องนั้นปิดได้แน่นและแข็งแรงมาก


ฐานวางงาน 2 อันและกล่องใส่ของที่แถมมาให้


รางด้านข้างที่ใช้สำหรับเสียบฐานวางงานเข้าไป สามารถเลือกระดับความสูงได้ตามต้องการ ส่วนฐานวางงานที่เห็นได้ติดถาดสีเทา diorama tray ไว้เรียบร้อย และใช้สีส้มเขียนลูกศรไว้เตือนว่านี่คือด้านที่หันหน้าออกติดกับกระจก
ส่วนตัวเวลาขนผลงานจะใช้ฐานวางงานแค่อันเดียวและเสียบไว้ตรงรางด้านล่างสุดแบบในภาพ เพราะส่วนมากจะใช้ขนงานฟิกเกอร์หรือ vignette ที่ตั้งอยู่บนฐานไม้จึงมีความสูงพอสมควร แต่ด้วยขนาดกล่องที่ค่อนข้างใหญ่ เพียงแค่ฐานวางงานเพียงอันเดียวก็สามารถขนฟิกเกอร์ได้มากกว่าสิบตัว



ที่เห็นในภาพ ชิ้นล่างเป็นฐานวางงานที่ให้มาพร้อมกับกล่อง จะไม่มีตัวถาดตรงกลางแถมมาให้ ส่วนชิ้นบนเป็นฐานวางงานที่ติดตัวถาดสีเทาแล้วเพื่อให้สามารถวางผลงานต่างๆลงไปได้


เมื่อเปิดฝากล่องด้านบนออก ฝากล่องจะเปิดค้างอยู่ในลักษณะนี้


ตรงบานพับด้านหลังกล่องจะมีห่วงเหล็กคอยช่วยค้ำฝากล่องด้านบนเอาไว้

บานพับของฝากล่องด้านหน้าสามารถถอดออกจากตัวกล่องได้



นำผลงานแบบต่างๆมาลองจัดวางให้ดูเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงขนาดพื้นที่ภายในกล่อง


Miniature Case (S) ฝาด้านหน้าติดด้วยสติ๊กเกอร์เพื่อให้จดจำได้ง่าย


ภายในกล่องเมื่อเปิดออกจะเห็นตัวล็อคทองเหลืองที่ติดไว้ด้านในของฝาด้านหน้าและเพดานด้านในกล่อง


ด้านบนของกล่องจะมีช่องไว้สอดนิ้วเพื่อเปิดฝาด้านหน้า แต่ต้องออกแรงนิดหนึ่งเพราะฝานั้นปิดได้สนิทมาก


ถาดวางผลงานที่มีมาให้ 2 ชิ้น ทำมาจากไม้อัดและปิดทับผิวด้านบนด้วยแผ่นแม่เหล็ก


ลองนำชิ้นงานหลายๆแบบมาใส่เพื่อให้เห็นถึงขนาดของกล่องครับ ด้านข้างภายในกล่องจะมีรางให้ปรับระดับความสูงของถาดวางได้ตามต้องการ


กล่องนี้มีขนาดเล็กพอที่จะใส่เข้าไปในเป้สะพายหลังได้





ฝาด้านหน้าของกล่องจะสลักโลโก้ FW มาให้แบบในภาพนี้ที่โชว์อยู่ในเว็บไซต์