Saturday, November 28, 2020

Reviews : How to Paint Bellerofonte By Francesco Farabi

วันนี้มีหนังสือมารีวิวให้ชมกันครับ เป็นหนังสือ e-book ของ Bellerofonte Studio ในเครือ Kimera Models ซึ่งชื่อของสตูดิโอนี้มีที่มาจากผลงานชื่อเดียวกันคือ Bellerofonte ที่ได้รับรางวัล Best of Show จาก Crystal Brush เมื่อปี 2019 และถูกนำมาผลิตขายในจำนวนจำกัดในเวลาต่อมา ซึ่งผมได้เคยรีวิวฟิกเกอร์ชุดนี้เอาไว้ก่อนหน้านี้ (Click Here for Reviews : Bellerofonte) โดยในตอนที่ซื้อฟิกเกอร์มาก็จะมีระบุเอาไว้ด้วย ว่าจะได้รับไฟล์หนังสือสอนวิธีการทำสีในภายหลัง แต่เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมาจึงทำให้หนังสือเล่มนี้เสร็จล่าช้าไปกว่าเดิมมาก หลังจากที่ผ่านไปเกือบปีจึงพึ่งมีโอกาสได้อ่านและนำมารีวิวให้ชมกันครับ

สำหรับตัวหนังสือนั้นทำออกมาเป็นรูปแบบ e-book ใช้สกุลไฟล์ pdf ขนาด 50.09 mb ในราคา 30€ มีทั้งหมด 112 หน้ากระดาษ โดยเนื้อหาของหนังสือจะอธิบายแนวคิดและวิธีในการลงสี Bellerofonte อย่างละเอียด ตั้งแต่เรื่องของทฤษฎีสี แนวคิดในการสร้างผลงาน การเลือกใช้เทคนิคในการเพ้นท์ วิธีการเพ้นท์ของฟิกเกอร์ทั้งสามตัว Pegasus, Chimera และ Bellerofon รวมไปถึงเรื่องของการเพ้นท์ NMM และ Freehand 

ในภาพรวม หนังสือเล่มนี้จะเน้นอธิบายในเรื่องของแนวคิดในการทำผลงานชิ้นนี้ รวมไปถึงทฤษฎีต่างๆที่นำมาใช้ เพื่อให้ผู้อ่านนั้นได้เข้าใจถึงที่มาที่ไปและเหตุผลในการเลือกใช้เทคนิคหรือการเลือกใช้สีในส่วนต่างๆ ส่วนวิธีในการทำนั้นจะอธิบายเรื่องของเทคนิคที่ใช้แบบละเอียด ทั้งทฤษฎีในการทำและสีที่เลือกใช้ แต่จะเป็นการอธิบายแบบให้อ่านทำความเข้าใจทั้งหมด แล้วค่อยดูภาพชุดขั้นตอนในการทำเพื่อประกอบความเข้าใจอีกทีในตอนท้าย จะไม่ใช่ภาพขั้นตอนแบบที่อธิบายรายละเอียดของแต่ละภาพว่าทำอย่างไร ดังนั้นในการอ่านบทความจึงต้องมีการเลื่อนดูภาพสลับไปมากับการอ่านเนื้อหาเพื่อทำความเข้าใจ ซึ่งอาจจะไม่ถูกใจคนที่ชอบอ่านหนังสือแบบที่มี step-by-step อธิบายขั้นตอนในแต่ละภาพอย่างละเอียด

ส่วนตัวแล้วชอบอ่านหนังสือในแบบที่อธิบายถึงแนวคิดในการทำงานแบบนี้มากกว่า เพราะจะช่วยให้เราเห็นถึงวิธีในการคิดและเหตุผลของศิลปินผู้สร้างงาน เพื่อที่เราจะได้นำไปปรับใช้ในการสร้างผลงานของเราเองได้ครับ ส่วนตัวมองว่าแม้การเรียนรู้วิธีในการเพ้นท์เทคนิคต่างๆนั้นสำคัญ แต่การเรียนรู้ถึงวิธีคิดในการสร้างผลงานนั้นก็สำคัญมากเช่นกัน เพราะจะช่วยให้เราสามารถสร้างผลงานในแบบของตัวเราเอง ที่แตกต่างไปจากภาพหน้ากล่องได้ และหนังสือเล่มนี้ก็อธิบายเรื่องของแนวคิดในการทำงานได้เป็นอย่างดี ดังนั้นถ้าสนใจที่จะเรียนรู้ถึงเรื่องของวิธีคิดในการสร้างผลงาน นี่เป็นหนังสืออีกเล่มที่ดีมากและแนะนำให้ได้ลองอ่านกันครับ

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมและการสั่งซื้อ สามารถเข้าไปดูได้ตามลิ้งที่ลงไว้ครับ

https://www.pegasoworld.com/product/bellerofonte-tutorial-francesco-farabi-pdf/




Einstein (WIP2)

I borrowed my brother's iPhone 12 Pro Max for taking some shots on my project to see how it looks. This is straight from its camera without any editing, I'm very impressed.

ยืม iPhone 12 Pro Max ของพี่ชายมาลองถ่ายรูปงานดูว่าเป็นอย่างไร นี่เป็นภาพจากกล้องที่ไม่ได้ใช้การแต่งรูปใดๆช่วย ภาพอาจจะดูเบลอเล็กน้อยเพราะไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้อง แต่รายละเอียดในภาพและสีนั้นใกล้เคียงชิ้นงานจริงมาก สงสัยคงจะได้ยืมมาใช้อีกบ่อยๆครับ



Friday, November 20, 2020

Einstein (WIP1)

 Playing with textures, there's still a long way to go. Stay tuned!




Friday, November 6, 2020

Reviews : Citadel Colour Painting Handle

พึ่งได้รับที่จับสำหรับเพ้นท์รุ่นใหม่ของซิทาเดลมา เลยเอามารีวิวให้ชมกันว่าเป็นอย่างไรครับ 

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าส่วนตัวไม่ได้ใช้ที่จับของซิทาเดลรุ่นเก่า เนื่องจากเคยไปลองใช้ที่ร้าน GW แล้วรู้สึกว่ามันสั้นและจับได้ไม่ถนัดมือจึงไม่ได้ซื้อไว้ เพราะฉะนั้นการรีวิวในครั้งนี้คงไม่สามารถเปรียบเทียบการใช้งานระหว่างทั้งสองรุ่นได้ แต่จะอ้างอิงตามความรู้สึกส่วนตัวที่มีต่อการใช้งานของที่จับรุ่นใหม่เท่านั้นครับ

เมื่อได้รับของมา สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดคือการออกแบบรูปทรงที่แตกต่างไปจากเดิมมาก ที่จับรุ่นใหม่ออกแบบให้ส่วนฐานนั้นกว้างขึ้น เพิ่มความสูงมากกว่าเดิม ตัวยึดงานแบบใหม่ที่มีรูปทรงโค้งเหมาะสำหรับการยึดฐานทรงกลม และเพิ่มส่วนคอคอดด้านใต้ตัวจับเพื่อให้สามารถจับได้ถนัดมากขึ้น 

เมื่อลองใช้งานดู รู้สึกว่าจับได้กระชับมือดี ส่วนคอคอดนั้นออกแบบให้รับกับอุ้งมือ จึงช่วยให้การเปลี่ยนมุมในการจับนั้นทำได้ง่าย และช่วยให้การเพ้นท์ส่วนต่างๆของมินิทั้งซ้ายขวาหรือบนล่างนั้นทำได้อย่างสะดวก 

เมื่อวางที่จับลงบนโต๊ะ ส่วนฐานที่กว้างและการที่มีน้ำหนักอยู่นิดหนึ่ง ช่วยให้สามารถวางบนพื้นราบได้อย่างมั่นคงทีเดียว ถ้าไม่ไปชนหรือกระแทกแรงๆจะไม่ล้มเองแน่นอน อย่างในภาพ Sepsimus แม้ขนาดของงานจะมีความสูงและน้ำหนักมากกว่าปกติจากธงที่เพิ่มเข้ามา แต่ก็สามารถวางที่จับบนพื้นได้อย่างมั่นคงและไม่สั่นไหวไปมา

สำหรับส่วนที่ยึดชิ้นงานนั้น สามารถยึดจับฐานทรงกลมขนาด 25mm, 28mm, 32mm, 40mm ส่วนที่นำมาลองใช้งานครั้งนี้คือฐานขนาด 28mm และ 40mm โดยที่ยึดชิ้นงานจะแบ่งเป็นช่องด้านบนสำหรับฐานขนาด 28-40mm และช่องด้านล่างสำหรับฐานขนาด 25mm ซึ่งการใส่ฐานเข้ากับที่ยึดก็สามารถทำได้อย่างสะดวก ฐานขนาด 28mm สามารถใช้มือจับตัวฐานและดันเข้ากับขอบที่ยึดให้อ้าออกจนล็อกได้เลย ส่วนฐานขนาด 40mm ต้องใช้มือหนึ่งจับที่ฐานและดันเข้ากับขอบที่ยึดด้านหนึ่ง และใช้อีกมือช่วยดันที่ยึดอีกด้านออกจะช่วยให้ใส่ได้ง่ายขึ้น

ในภาพจะเห็นว่าลองเอาฐานของ Primaris ขนาด 28mm ใส่ในช่องด้านล่างดูก็สามารถทำได้ แต่จะใส่ค่อนข้างยากหน่อยเพราะต้องดันที่ยึดให้อ้าออกจนสุดและจะทำให้ที่ยึดนั้นแบะออกเล็กน้อย ทางที่ดีคือใส่กับช่องด้านบนจะดีกว่าเพราะใส่ได้ง่ายและยึดได้แน่นหนาดีอยู่แล้ว



การยึดจับของที่ยึดนั้นทำได้ดีมาก เมื่อลองนำฐานทั้งสองแบบใส่และพลิกกลับหัวและเขย่าแรงๆหลายๆครั้ง ตัวฐานก็ยังถูกล็อกอยู่กับที่ได้อย่างมั่นคงโดยที่ฐานนั้นไม่หมุนเปลี่ยนมุมเอง แต่ก็ไม่ได้ล็อกแน่นจนขยับไม่ได้ เพราะสามารถใช้นิ้วจับที่ขอบฐานหน้าหลังเพื่อหมุนเปลี่ยนทิศเวลาเพ้นท์ได้

โดยรวมแล้วที่จับรุ่นใหม่นี้สะดวกต่อการใช้งานมาก โดยเฉพาะถ้าใช้ในการเพ้นท์มินิที่ติดลงบนฐานทรงกลม น่าเสียดายที่ที่จับอันนี้ไม่สามารถยึดจับฐานที่ขนาดใหญ่กว่านี้ได้ ส่วนฐานรูปทรงแบบอื่นยังไม่แน่ใจว่าจะใช้ได้หรือเปล่า คงจะต้องทดลองดูในภายหลังครับ หวังว่ารีวิวนี้คงจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยครับ
สำหรับท่านที่สนใจที่จับรุ่นใหม่นี้ ตอนนี้มีวางจำหน่ายแล้ว ลองสอบถามได้จากตัวแทนจำหน่ายใกล้บ้านท่านครับ