Wednesday, December 21, 2022

Hobby Model ฉบับที่ 89 ปี 2002

ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 20 ปีของหนังสือ Hobby Model ฉบับที่ 89 ซึ่งเป็นฉบับที่ผลงานของตัวเองได้ขึ้นเป็นภาพหน้าปกและเป็นไฮไลท์ของเล่มครั้งแรกและครั้งเดียวก่อนที่หนังสือจะปิดตัวลงในฉบับที่ 100 ครับ เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจในชีวิตการทำโมเดลของตัวเอง ที่ครั้งหนึ่งเคยมีส่วนร่วมเขียนบทความให้กับหนังสือเกี่ยวกับโมเดลของคนไทยฉบับนี้ จนได้รับความไว้วางใจจากทีมงานและให้เกียรติรวบรวมผลงานของเรามาลงเป็นภาพหน้าปกและเป็นไฮไลท์ประจำฉบับ ช่วงเวลาที่ได้เป็นนักเขียนให้กับที่นี่ แม้จะเป็นเวลาแค่ไม่กี่ปีและเป็นเพียงส่วนเล็กๆของหนังสือ แต่ก็ได้รับประสบการณ์ต่างๆและมิตรภาพดีๆมากมาย ที่สำคัญมันกลายเป็นการปลูกฝังความชอบในการเขียนหนังสือให้กับตัวเองโดยไม่รู้ตัว จนส่งผลให้ตัดสินใจเริ่มทำบล็อกส่วนตัวและเพจในเฟซบุ๊คเพื่อเขียนบทความต่างๆมาจนถึงปัจจุบันครับ

จำได้ว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วตอนที่หนังสือเล่มนี้ออกวางจำหน่ายก็ไปซื้อมาเก็บเอาไว้ส่วนตัว และซื้อส่งมาให้พี่ชายกับแม่ที่อยู่ที่อเมริกาด้วย พอตัวเองย้ายมาอยู่ที่นี่มีวันหนึ่งพี่ชายจัดของแล้วเจอหนังสือเล่มนี้เก็บไว้อยู่เลยหยิบมาให้ ก็เลยเอามาเก็บต่อจนไม่นานมานี้นึกขึ้นได้ว่าปีนี้ครบรอบ 20 ปีแล้วก็เลยหยิบมาถ่ายรูปเพื่อระลึกความหลังกันครับ

จุดเริ่มต้นของการที่ได้เข้าไปเขียนบทความให้กับหนังสือ Hobby Model เริ่มมาจากการที่ตัวเองนำผลงานไปส่งในงานประกวดที่หนังสือ Hobby Model เป็นผู้จัดที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว จำไม่ได้แล้วว่าปีอะไรแต่ตอนนั้นน่าจะอายุประมาณ 19-20 ปี แล้วผลออกมาเราได้รับรางวัลจากการประกวดหลายรางวัล ทางทีมงานของหนังสือเลยมาพูดคุยว่าสนใจอยากจะเขียนบทความให้กับหนังสือหรือเปล่า จริงๆตอนนั้นไม่เคยเขียนบทความใดๆมาก่อนเลยและไม่รู้ด้วยว่าจะต้องทำอย่างไร ที่ผ่านมาทำโมเดลด้วยตัวคนเดียวมาตลอด ไม่มีเพื่อนที่เล่นมาด้วยกันหรือรู้จักใครในวงการ อาศัยอ่านจากหนังสือแล้วก็ลองหัดลองทำด้วยตัวเอง แต่ก็คิดว่าถ้าได้เขียนบอกเล่าวิธีการทำงานของเราให้คนอื่นได้อ่านบ้างก็น่าจะดี เหมือนกับที่เราก็เรียนรู้วิธีการของคนอื่นๆมาจากในหนังสือเช่นกัน ก็เลยตัดสินใจลองทำดู

ในตอนนั้น การทำงานของตัวเองยังใช้การทาสีด้วยมือเพียงอย่างเดียว เพราะยังไม่มีแอร์บรัชใช้ เลยเลือกเขียนอธิบายวิธีการทำงานและการทำฉากของตัวเอง และอาศัยวิธีการเขียนบทความของคนอื่นๆมาเป็นตัวอย่าง ผลงานชิ้นแรกที่ได้ลงในหนังสือเป็นฉากจำลองขนาดเล็กเรื่องราวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกี่ยวกับปืนต่อสู้อากาศยาน Flak 38 ของฝ่ายเยอรมันที่ถูกทิ้งเอาไว้ในซากอาคาร  และมีทหารอเมริกันมาเจอเข้าและกำลังสำรวจพื้นที่กัน

วิธีการเขียนบทความสมัยยี่สิบกว่าปีที่แล้วที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ จะใช้การเขียนลงบนกระดาษฟุลสแค๊ปหรือกระดาษที่เอาไว้ใช้เขียนรายงาน เขียนร่างบทความลงไปก่อนหนึ่งรอบ จากนั้นอ่านทบทวนแล้วแก้ไขเพิ่มเติมให้ใจความนั้นครบถ้วนสมบูรณ์แบบที่ต้องการนำเสนอ แล้วจึงมาเขียนคัดลอกแบบบรรจงลงบนกระดาษอีกรอบ เพื่อที่จะได้นำบทความที่เขียนเสร็จสมบูรณ์แล้วไปมอบให้กับกองบรรณาธิการนำไปพิสูจน์อักษรและตีพิมพ์ลงในหนังสืออีกที สมัยนั้นการจะเขียนบทความแต่ละครั้งจึงต้องมานั่งเขียนซ้ำกัน 2-3 รอบ ไม่สะดวกสบายเหมือนเดี๋ยวนี้ที่เขียนไปแก้ไปในคอมหรือในมือถือได้ทันทีเลย

ส่วนตัวโมเดลที่ทำเสร็จแล้วก็ต้องขนไปถ่ายรูปที่กองบก. เพื่อให้ช่างภาพประจำนิตยสารเป็นผู้ถ่ายให้ในสตูดิโอของสำนักพิมพ์ ที่มีการจัดแสงมีการใช้ฉากหลังและใช้การถ่ายด้วยกล้องฟิลม์ จนได้ภาพสวยๆออกมาอย่างที่เราเห็นกัน ตอนที่เริ่มเขียนบทความแรก กองบก.นั้นอยู่แถวท่าพระ เป็นตึกแถวเล็กๆที่ด้านล่างเป็นแท่นพิมพ์ขนาดใหญ่ หลังจากนั้นไม่นานก็มีการเปลี่ยนแปลงทีมบรรณาธิการและย้ายจากที่เดิมมาอยู่ในอาคารของสำนักพิมพ์อนิเมทที่ตั้งอยู่ในซอยฝั่งตรงข้ามเดอะมอลล์ท่าพระ ตอนนั้นตัวเองบ้านอยู่ที่สมุทรปราการบนถนนศรีนคริทร์ซึ่งไกลมากๆ แล้วก็ย้ายไปอยู่แถวรังสิตยิ่งไกลมากกว่าเดิม การจะไปที่สำนักพิมพ์แต่ละครั้งเลยใช้เวลามากพอสมควร ยิ่งครั้งไหนทำงานชิ้นใหญ่ต้องขนใส่แท็กซี่ไปก็ต้องเสียค่าแท็กซี่ครั้งละหลายร้อย

ถ้าจำไม่ผิดสมัยนั้นค่าเขียนบทความครั้งแรกเป็นเงิน 500-600 บาท จากนั้นก็ได้เพิ่มขึ้นมาบ้างแต่ก็ไม่ได้เยอะเท่าไหร่ เอาจริงๆแค่ค่าโมเดลที่ทำในแต่ละครั้งก็มักจะมากกว่าค่าบทความที่ได้แล้ว แต่ก็ยังทำมาเรื่อยๆเพราะรู้สึกสนุกกับการที่ได้ทำงานให้เสร็จแบบมีเป้าหมายและชอบที่จะได้เขียนบทความอธิบายวิธีการทำงานต่างๆของตัวเอง 

ในครั้งแรกที่เขียนบทความส่งไป เราเลือกที่จะใช้ชื่อคนเขียนบทความเป็นชื่อจริงของตัวเองคือ "ต่อลาภ" ซึ่งในสมัยนั้นคนเขียนบทความในหนังสือจะใช้นามแฝงกันแทบทั้งหมด เคยมีคนถามเหมือนกันว่าทำไมถึงใช้ชื่อจริงในการเขียนบทความ ไม่ใช้นามแฝงเหมือนคนอื่นๆเขา คำตอบคือตัวเองในตอนนั้นไม่รู้ว่าควรจะต้องใช้นามแฝงในการเขียนหนังสือหรือเปล่า แต่ว่าตอนนั้นเริ่มที่จะซื้อหนังสือโมเดลต่างประเทศมาหัดอ่านภาษาอังกฤษ แล้วก็เห็นโมเดลเลอร์ต่างชาติทุกท่านที่ลงผลงานในหนังสือต่างประเทศใช้ชื่อจริงของตัวเองกันหมด ก็เลยคิดว่าใช้ชื่อจริงของตัวเองตามเขาก็ดูเป็นสากลดี แถมสะดวกตรงที่ไม่ต้องมานั่งคิดชื่อนามแฝงด้วย จนผ่านมาหลายปีให้หลังพอได้มาเขียนบทความให้หนังสือฉบับอื่น ทางพี่ บก. ขอให้ช่วยใช้นามแฝงเพื่อที่จะให้ดูมีความหลากหลายของนักเขียน ก็เลยใช้ชื่อนามแฝงว่า "Silk" ไปครั้งหนึ่ง 

ช่วงที่เขียนบทความให้หนังสือ มีโอกาศได้ไปที่กองบก. อยู่หลายครั้ง เป็นห้องทำงานเล็กๆอยู่ภายในอาคารของสำนักพิมพ์ มีพี่ๆหลายๆท่านนั่งทำงานกันอยู่ที่โต๊ะของแต่ละคน ทั้งนั่งปั้น ประกอบอุดขัด นั่งทำฉาก เพ้นท์สี พ่นสี ฯลฯ เตรียมผลงานที่จะลงในหนังสือฉบับถัดไป สำหรับตัวเองในตอนนั้นนี่คือสถานที่ทำงานในฝันที่จะได้อยู่กับงานโมเดลทั้งวัน เวลามีโอกาสไปที่นี่แต่ละครั้งก็เลยชอบไปนั่งดูเขาทำงานกันอยู่นานๆ แต่ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนเงียบๆพูดไม่เก่ง ก็เลยมักจะนั่งดูเขาทำงานกันเงียบๆไม่ได้พูดจากับใครหรือไม่ก็ขอยืมหนังสือเขามานั่งดูเงียบๆคนเดียว พอมานึกถึงในตอนที่โตขึ้นก็คิดว่าตอนนั้นเขาคงจะอึดอัดกันน่าดูที่ไอ้น้องคนนี้มันมานั่งเงียบๆดูเขาทำงานกันเป็นขั่วโมง 😅 ในตอนนั้นได้มีโอกาสเห็นการทำงานของพี่ๆหลายๆท่านที่เราชื่นชม แล้วก็ทำให้ได้รู้จักกับพี่หลายๆท่านที่คบหาสมาคมกันจนถึงปัจจุบัน รู้สึกโชคดีมากๆที่ตัวเองได้มีโอกาสไปอยู่ตรงนั้นและได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำหนังสือเล่มนี้

ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นเขียนบทความให้กับหนังสือ Hobby Model อยู่ประมาณ 4-5 ปี จำไม่ได้แน่นอนว่าเขียนไปทั้งหมดกี่บทความ แต่คิดว่าไม่ได้เยอะมากนักเพราะเป็นช่วงที่กำลังเรียนมหาลัยอยู่ด้วย เลยมีเวลาทำโมเดลเฉพาะช่วงที่ว่าง จนมาถึงช่วงที่เรียนปี 3 ทางพี่บก.จึงได้มาคุยว่าสนใจที่จะทำผลงานลงเป็นไฮไลท์ของเล่มหรือเปล่า ตอนนั้นดีใจมากไม่คิดว่างานที่ตัวเองทำจะได้รับการยอมรับมากขนาดนั้น เพราะหนังสือฮอบบี้โมเดลจะเน้นไปที่เรื่องของโมเดลจากภาพยนตร์หรืออนิเมต่างๆมากกว่างานประเภทสเกลโมเดล ผลงานบนหน้าปกของแต่ละฉบับที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานโมเดลในแนวทางนั้นเกือบทั้งหมด เรียกว่านับครั้งได้เลยที่จะมีผลงานบนหน้าปกเป็นงานแนวทหาร ก็เลยรับปากว่าจะทำและตั้งใจทำออกมาให้ดีที่สุด ใช้เวลาทำอยู่นานหลายเดือนเหมือนกัน ในที่สุดก็เสร็จออกมาเป็นผลงาน 5 ชิ้นที่ได้ตีพิมพ์ลงในฉบับนี้ในหัวข้อ Mini Diorama เพราะในสมัยนั้นยังไม่รู้จักคำว่า Vignette กัน งานฉากจำลองที่มีขนาดเล็กก็จะเรียกกันติดปากว่ามินิไดโอครับ

ผลงานที่ลงหน้าปกชื่อ Battle Front, Germany 1945 เป็นผลงานที่ทำเพื่อส่งประกวดและได้รับรางวัลที่ 1 มาจากงานประกวดที่เดอะมอลล์บางกะปิ รายละเอียดต่างๆภายในฉากสร้างขึ้นมาเองทั้งหมด ตอนที่นำผลงานทั้งหมดไปถ่ายรูปที่กองบก. วันที่ไปรับงานกลับทางพี่บก.มาคุยกับเราว่าทางผู้บริหารสำนักพิมพ์ชอบผลงานชิ้นนี้มาก และอยากขอซื้อผลงานชิ้นนี้ไว้ ใจจริงไม่ได้ต้องการที่จะขายผลงานชิ้นนี้เลยเพราะเป็นงานที่ตั้งใจทำมาก แต่ด้วยความที่เกรงใจพี่บก.ที่ดูเหมือนจะโดนกดดันมาอีกที ก็เลยจำใจขายให้ไปในราคาน่าจะ 4,000-5,000 บาท ซึ่งก็เสียดายมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ก็คิดว่าเป็นการตอบแทนที่ให้โอกาสได้เขียนบทความให้กับที่นี่มาโดยตลอด หลังจากนั้นก็หยุดพักการเขียนไปเพราะว่าขึ้นปี 4 ทั้งเรียนหนักและต้องทำธีสิส มามีเวลาว่างอีกทีก็ตอนมาข่วยพี่หมึกข้างขวดทำฟิกเกอร์ประกอบผลงานฉากจำลองขนาดใหญ่ของอ็อตโต คาริอุส เพื่อฉลองหนังสือฉบับที่ 100 น่าเสียดายที่หนังสือฉบับที่ 101 นั้นไม่ได้ถูกตีพิมพ์ บทความครึ่งหลังของฉากจำลองชิ้นนี้ที่รวมภาพผลงานที่เสร็จแล้วจึงไม่เคยถูกตีพิมพ์ออกไป และหนังสือ Hobby Model ที่อยู่คู่วงการโมเดลของไทยมาอย่างยาวนานก็ปิดฉากลงที่จำนวน 100 ฉบับ มีเพียง 3 ฉบับที่เป็นการรวบรวมผลงานของนักเขียนมาลงเป็นหน้าปกและไฮไลท์ของเล่มหรือ Best Of คือฉบับของพี่โด่ง นภากาศ ที่ทำโมเดลเครื่องบิน ฉบับของเราที่ทำโมเดลฉากจำลองขนาดเล็ก และฉบับของคุณนรินทร์ ที่รวบรวมงานปั้นของเขาเอาไว้ (งานชิ้นหนึ่งที่อยู่ในใจมาตลอดคือพรีเดเตอร์ vs ซามูไรที่เขาออกแบบและปั้นเอง ตอนนั้นมีโอกาสได้ไปเห็นตอนที่กำลังทำฉากปราสาทของงานชิ้นนี้ ทึ่งมากๆในการออกแบบพรีเดเตอร์ในสไตล์ของตัวเองและรายละเอียดต่างๆบนชิ้นงานและฉากก็ทำได้สุดยอดมากๆ)

สำหรับตัวเอง การได้เป็นนักเขียนให้กับหนังสือนี้ เป็นจุดเริ่มต้นให้ตัวเองหัดเขียนบทความอย่างจริงจัง และช่วงเวลาหลายปีนั้นก็เป็นการฝึกฝนการเขียนหนังสือของตัวเองใหัพัฒนาขึ้นเรื่อยๆไปพร้อมๆกับการฝึกฝนการทำโมเดลของตัวเอง ในตอนนั้นไม่เคยรู้เลยว่าจะมีคนอ่านบทความของเรามากน้อยแค่ไหน รู้แค่ว่ามันสนุกมากที่ได้ทำงานออกมาเรื่อยๆและสามารถบอกเล่าให้คนอื่นอ่านได้ ก็เลยพยายามทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด และพยายามหาหัวข้อที่น่าสนใจมาทำเพื่อที่จะให้บทความนั้นมีความหลากหลาย จนผ่านมาหลายปีให้หลังพอได้เจอผู้คนตามงานโมเดลต่างๆถึงได้รู้ว่าที่ผ่านมามีคนคอยตามอ่านบทความของเราอยู่พอสมควร ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าการเป็นนักเขียนตัวเล็กๆในนิตยสารเกี่ยวกับงานอดิเรกทึ่เป็นเรื่องเฉพาะทางและไม่ได้มีคนสนใจมากนัก จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆได้ขนาดนี้ มันเป็นความภาคภูมิใจที่ได้รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองตั้งใจทำนั้นมันมีประโยชน์กับคนอื่นจริงๆ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ยังคงพยายามเขียนบทความต่างๆลงในบล็อกและในเพจของตัวเองมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ก็มีพี่ที่สนิทกันท่านหนึ่งเคยบอกเอาไว้นานแล้วให้คอยระวังตัว ถึงแม้จะเป็นวงการเล็กๆแต่ถ้ามีฝีมือโดดเด่นมีชื่อเสียงเกินหน้าเกินตาก็จะมีคนไม่พอใจหรือถูกหมั่นไส้เอาได้ เพราะคนประเภทนี้มันมีอยู่ในทุกๆที่ในทุกวงการ ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรเพราะไม่คิดว่าการที่ได้มาเขียนบทความแบบนี้จะไปสร้างความไม่พอใจให้กับใครได้ และส่วนตัวก็ไม่ได้รู้จักใครในวงการหรือเคยไปทำอะไรแย่ๆกับใครไว้ ก็ตั้งใจทำงานของตัวเองต่อไปไม่ได้สนใจอะไร จนผ่านมาหลายปีให้หลังถึงมีคนมาบอกว่า เคยมีคนแอบอ้างว่าเป็นเราโทรไปด่าเขาเกี่ยวกับเรื่องการทำงานโมเดลของเขา ทำให้เขาเกลียดเรามานานหลายปีโดยที่ตัวเราเองไม่เคยรู้เรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย กว่าจะเข้าใจกันได้ก็กินเวลาหลายปี แม้จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าใครที่เป็นคนแอบอ้าง 

พี่ที่สนิทกันเคยบอกไว้ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากเป็นนักเขียนให้กับหนังสือโมเดล เพราะจะได้เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองและสามารถนำไปใช้ในการรับจ้างทำงานได้สะดวกมากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับโอกาสนี้ แล้วอยู่ดีๆมีเด็กที่ไหนก็ไม่รู้ได้มาทำตรงนี้ก็อาจจะทำให้มีคนอิจฉาไม่พอใจจนกลายเป็นการมากลั่นแกล้งกัน ตอนนั้นจึงได้เข้าใจว่าคนขี้อิจฉาริษยาคนที่จิตใจคับแคบและไม่ต้องการเห็นคนอื่นได้ดีกว่าตัวเองนั้นมีอยู่จริงๆ คนแบบนี้มีอยู่ทุกที่ทุกวงการและทุกยุคสมัย แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังเห็นบางท่านที่ต้องเผชิญกับคนประเภทนี้อยู่เนืองๆ อยากบอกท่านเหล่านั้นหรือท่านอื่นๆหากต้องเจอกับคนประเภทนี้ว่า สิ่งที่ควรทำคืออย่าไปให้ค่าให้ความสำคัญกับคำพูดหรือการกระทำของคนพวกนี้ เพราะเขาไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับชีวิตของเราเลยแม้แต่น้อย ควรให้ความสำคัญกับคนที่เข้าใจเราและตั้งใจฝึกฝนผลงานของตัวเองต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วผลงานของเราจะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถของตัวเราเองได้ดีที่สุด ไม่ใช่ใครก็ไม่รู้ที่ไม่มีตัวตนไม่มีความสามารถอะไรมาเป็นคนบอกครับ

จริงๆตั้งใจว่าจะเขียนเล่าเรื่องของการทำหนังสือในอดีตว่าเป็นอย่างไร ไปๆมาๆกลับมาจบที่เรื่องดราม่าเสียได้ 😅 พอดีนึกถึงเรื่องราวสมัยก่อนแล้วมันจะมีเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวด้วยก็เลยเอามาเล่าให้ฟังกันเป็นอุทาหรณ์ เพราะแม้จะผ่านมายี่สิบปีก็ยังมีคนแบบนี้อยู่และคงจะมีมาอีกเรื่อยไปตามธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าเรามีภูมิคุ้มกันที่จะรับมือกับคนพวกนี้ก็ไม่มีใครสามารถทำอะไรกับจิตใจเราได้ เป็นกำลังใจให้กับทุกๆท่านที่ตั้งใจฝึกฝนการทำงานของตัวเองครับ 😃

สุดท้ายนี้หวังว่าจะชอบบทความระลึกความหลังเคล้าดราม่าอันนี้กัน 😆 ไว้มีโอกาสจะหาอะไรมาเขียนให้อ่านเล่นกันอีก แล้วพบกันใหม่ครับ























No comments:

Post a Comment