Saturday, December 17, 2011

Weathering AFV part 2

 " Chipping , Sponge Technique
& Running Rust Effect "

5.Chips - การจำลองร่องรอยขูดขีด สีกระเทาะ และสนิม ในการทำเทคนิคนี้ผมมองว่ามันดูเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของรถถังครับ การที่รถถังมีร่องรอยขูดขีด รอยข่วน รอยกระเทาะต่างๆนั้น มันสื่อให้เห็นถึงการที่รถถังคันนี้ได้ผ่านการใช้งานมาแล้วในช่วงเวลานึง ส่วนการที่จะเลือกทำให้มีร่องรอยต่างๆมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการและรสนิยมของโมเดลเลอร์แต่ละท่านเอง ที่อยากจะทำให้ดูเก่าหรือโทรมขนาดไหนครับ 
จุดสำคัญในการทำเทคนิคนี้ มีอยู่ 2 อย่างครับ
1.การผสมสี โดยเฉพาะถ้าเป็นสีกันเซ่ ต้องผสมให้ใสพอสมควร เพราะสีที่ใสพู่กันจะอมสี ได้นานกว่า และทำให้ทาเป็นเส้นเล็กได้ง่ายขึ้นครับ ทางทีดีผสมสีแล้วเทสบนกระดาษดูก่อนครับ
2.พู่กัน เลือกใช้เบอร์ 0 พิเศษ โดยการเอาเบอร์ 0 ธรรมดามาเล็มขนให้เรียวและเล็กขึ้น เพราะการทำเทคนิคนี้ ถ้ารอยขูดขีดดูเล็กมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดูสมจริงครับ

ในการทำรถถังคันนี้ ผมจะแบ่งการทำ chips ไว้ 3 รอบครับ เพื่อสื่อถึงร่องรอยของสีที่โดนขูดขีดหรือลอกออกไปใน 3 ระดับ

1.ร่องรอยที่โดนขูดขีดในแค่ระดับตื้นๆ และขูดสีพื้นที่เป็นสีทรายรวมถึงสีเขียวที่เป็นลายพรางครับ ใช้สีเหลืองทรายที่ผสมเผื่อไว้ในตอนพ่นสีพื้น นำมาผสมขาวเพิ่มเข้าไปนิดหน่อยให้สว่างขึ้น แล้วนำไปขีดเป็นเส้นเล็กๆแบบอิสระ ตามจุดที่คิดว่าน่าจะโดนเสียดสีบ่อยๆ อย่างเช่น บังโคลนข้าง บันไดขึ้นลง และบริเวณขอบมุมต่างๆ



 
2.ร่องรอยที่โดนขูดขีดในระดับกลาง ที่ลึกไปถึงสีเขียวเทา ซึ่งเป็นสีเดิมของรถถังอิตาลี่ครับ ใช้สีเขียวเทาที่ผสมเผื่อไว้ตอนทำลายพราง นำมาแต้มและขีดลงไปบนสีเหลืองทรายอ่อนที่ลงไว้ตอนแรกอีกที โดยให้เห็นขอบของสีอ่อน บางจุดก็เว้นไว้บ้าง ไม่จำเป็นต้องทาทับทั้งหมดครับ

  
3.ร่องรอยที่โดนขูดขีดในระดับลึก ไปจนถึงพื้นเหล็ก และทำให้เหล็กบางส่วนกลายเป็นสนิมครับ ในขั้นตอนนี้ธรรมดาแล้วผมจะใช้สีกันเซ่ เบอร์ 42 สีน้ำตาลไหม้เป็นหลักครับ แต่ในครั้งนี้ ผมทดลองใช้สีอะครีลิคของ Vallejo สี flat brown เพื่อจำลองสีของสนิมครับ ซึ่งพอใช้แล้วรู้สึกว่าทำงานได้ง่ายกว่ามากครับ เพราะเนื้อสีจะละเอียด และไม่แห้งเร็ว ทำให้สามารถทาเป็นเส้นเล็กๆได้ดีกว่า และเวลาใช้ก็เพียงเขย่าขวดก่อน บีบออกมาแล้วใช้ทาได้เลยครับ พอสีเริ่มข้นขึ้นก็ผสมน้ำเพิ่มเข้าไปนิดหน่อย
ส่วนการทานั้น เลือกแต้มและขีดลงไปบนรอยที่ทำไว้ครับ ไม่ต้องทับทั้งหมดเว้นไว้ให้เห็นสีเดิมบ้าง และนำสีนี้ไปแต้มและขีดลงในส่วนพื้นที่ว่างๆ ซึ่งยิ่งเราแต้มหรือขีดลงไปมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้รถถังดูเก่าและโทรมมากขึ้นครับ 



 
ภาพสุดท้ายจะเห็นได้ชัดว่าสีของ Vallejo สามารถทำเส้นและจุดเล็กๆได้ดีมากครับ 


Sponge Technique - อีกเทคนิคในการทำ Chips นอกเหนือไปจากการใช้มือเขียนหรือแต้มเอา คือการใช้ฟองน้ำจุ่มสี แล้วกดลงบนโมเดลครับ เอฟเฟ็คที่ได้จะเป็นสะเก็ดและจุดเล็กๆกระจายอยู่รอบๆพื้นที่ๆเรากดลงไป เหมาะสำหรับการทำรอยขูดขีด ในบริเวณพื้นที่กว้างๆครับ อย่างตรงบันไดขึ้นลงที่จะต้องโดนเหยียบบ่อยๆ ทำให้สีหลุดร่อนออกได้ง่ายกว่าจุดอื่นๆ หรือตรงบริเวณที่สนิมกินเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยให้ร่องรอยของการเสียดสีหรือการกระเทาะในจุดใหญ่ๆ ดูมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้นครับ

วิธีการทำ ตัดฟองน้ำสำหรับล้างจานออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วใช้ปากคีบจับ นำไปจุ่มสี แล้วลองไปกดลงบนกระดาษดูก่อนครับ กดหลายๆรอบจนเห็นสีที่ติดกับกระดาษเป็นสะเก็ดเล็กๆแล้วจึงค่อยไปกดลงบนโมเดล ส่วนสีที่ใช้ สามารถใช้ได้ทั้งสีกันเซ่ สีอะครีลิค หรือ สีน้ำมันครับ และฟองน้ำที่ใช้นั้นยิ่งความละเอียดของรูฟองน้ำมาก จุดสีที่ออกมาก็จะยิ่งละเอียดครับ

ส่วนที่ผมทำ ใช้สีอะครีลิค Vallejo สีน้ำตาล มาผสมกับดำให้เข้มขึ้นครับ แล้วนำไปกดลงบริเวณที่โดนเสียดสีบ่อยๆ 




Running Rust Effect - มาต่อที่การทำคราบสนิมที่ไหลมาจากรอยกระเทาะเหล่านี้ครับ โดยใช้สีน้ำมันสี raw umber และสี burnt sienna มาผสมกันครับ จริงๆแล้วสี burnt sienna จะมีสีออกน้ำตาลแดงอมส้มคล้ายกับสีสนิมอยู่แล้ว แต่ผมผสมสี raw umber เข้าไปหน่อย เพื่อเบรคสีไม่ให้มันสดเกินไปครับ
นำสีทั้งสองไปบีบใส่เศษกระดาษลัง เพื่อให้กระดาษมันดูดน้ำมันในสีออกครับ ทำให้สีหนืดขึ้นและทาเกลี่ยได้ง่ายขึ้น จากนั้นเอาพู่กันเบอร์ 0 พิเศษ ทาเป็นเส้นเล็กๆเป็นแนวตั้ง ลากลงจากจุดที่มีสนิมอยู่ เลือกทาแค่บางจุดก็พอครับ ไม่จำเป็นต้องทำสนิมไหลออกมาจากทุกจุด


จากนั้นเอาพู่กันเบอร์ 0 หรือ 1 นำไปจุ่มกับเทอร์เพ็นไทน์ และซับกับกระดาษให้พู่กันหมาดๆครับ แล้วนำไปทาเกลี่ยสีน้ำมันที่ทาไว้ให้ลากลงเป็นทาง ซึ่งในขั้นตอนนี้ จุดสำคัญจะอยู่ที่การทาเกลี่ยสี ด้วยเทอร์เพ็นไทน์ครับ ถ้ารู้สึกว่าสีน้ำมันที่ทาไว้เยอะเกินไป ก็ใช้เทอร์เพ็นไทน์ค่อยๆเกลี่ยสีออก และควบคุมให้สีที่ลากลงมายาวหรือสั้นตามความพอใจ



หลังจากที่ทำการ Chips และ running rust effect เรียบร้อยหมดแล้วครับ สภาพในตอนนี้จะดูโทรมขึ้นมาก และก่อนที่จะสู่ขั้นตอนการทำคราบฝุ่นต่างๆ ต้องนำไปพ่นเคลียร์เคลือบผิวไว้อีกรอบหนึ่งครับ เพื่อกันสีอะครีลิคและสีน้ำมันจะจางหายหรือหลุดลอกจากการทำงานขั้นต่อไป





No comments:

Post a Comment