Saturday, December 17, 2011

Weathering AFV part 3

 " Rain Marks , Dusting & Oil effects "

6.Rain Marks - การจำลองคราบฝุ่น ที่เกิดจากการชะล้างของน้ำฝน
ในขั้นตอนนี้ผมจะใช้สีอะครีลิคสูตรน้ำของทามิย่าครับ โดยใช้สี buff ผสมกับ deck tan ให้สีอ่อนลง และผสมน้ำลงไปพอสมควรให้สีค่อนข้างใส เพราะถ้าสีข้นไป เวลาทาจะเห็นเส้นชัดเจนเกินไปและบดบังทั้ง
ลายพรางหรือรอยถลอกที่ทำไว้ครับ จากนั้นใช้พู่กันเบอร์ 0 พิเศษ ทาลากลงตามแนวตั้งครับ เทคนิคนี้เวลาทาเนื่องจากสีที่ใส จะทำให้เหมือนกับว่าเอาน้ำไปลากลงบนผิวงาน ต้องรอสีแห้งซักพักครับ ถึงจะเห็นได้ชัดเจนขึ้น แล้วจึงทาทับไปอีกที ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องทาทับกันไปมา 3-4 รอบเพื่อให้สีมันชัดเจนขึ้นมาครับ



หลังจากทำเสร็จครับ ลองสังเกตุที่บริเวณฝาครอบห้องเครื่องและด้านข้างป้อม (ลูกศรชี้) จะมีคราบไหลเป็นทาง สีจะดูเหมือนฟิลม์ใสๆและไม่บดบังรายละเอียดของลายพรางหรือรอยถลอกต่างๆครับ



7.Dusting - การทำคราบฝุ่น คราบดิน โคลน
ในขั้นตอนนี้จะรวมการทำคราบฝุ่นทั้งหมดรอบคันครับ โดยเริ่มทำในส่วนช่วงล่างก่อน วิธีการจะคล้ายกับตอนทำสายพานครับ คือใช้สีสูตรน้ำมันของทามิย่า XF-57 Buff มาผสมกับพิกเมนท์ของ MIG สี Light dust บวกกับทรายละเอียดนิดหน่อย และใช้ Turpentine ผสมให้สีเหลวขึ้น จากนั้นนำไปทาในบริเวณช่วงล่างและจุดที่คิดว่าน่าจะมีทรายสะสมอยู่ครับ เพราะว่าทรายนั้นจะต่างกับดินหรือโคลนที่จะกระเด็นไปติดได้ทุกๆส่วน ผมจึงเลือกทาให้ติดอยู่ตามร่องตามซอกต่างๆแทนครับ จากนั้นทาสีดำเทาบริเวณหน้าสัมผัสของยางที่เสียดสีกับสายพาน และนำสายพานที่ทำไว้มาติดลงไป และตกแต่งคราบฝุ่นทรายต่างๆอีกทีครับ





ส่วนคราบฝุ่นที่ติดอยู่บนตัวรถ ใช้ pigment ของ MIG กับ Thinner for wash ของ MIG เช่นเดียวกัน จริงๆแล้วพิกเมนท์นั้นสามารถใช้ turpentine หรือทินเนอร์สูตรน้ำมันของทามิย่า X-20 มาทำละลายได้ครับ แต่เท่าที่ลองมา ทั้งเทอร์เพ็นไทน์และทินเนอร์ทามิย่า เมื่อนำมาใช้ในการละลายพิกเมนท์แล้ว เวลาแห้งจะมีคราบสีตกค้างจากการที่สีแห้งไม่พร้อมกันอยู่ครับ ดังนั้นแนะนำว่าใช้ของที่เค้าทำมาไว้คู่กันจะสะดวกสุดครับ


วิธีการทำคือนำทั้ง 3 สีมาบดให้ละเอียดบนแผ่นรองก่อนด้วยพู่กันครับ จากนั้นใช้พู่กันแต้มทั้ง 3 สีไปโปะลงในบริเวณที่คิดว่าน่าจะมีฝุ่นสะสม โดยไม่จำเป็นต้องให้สีมันผสมกันครับ


นำพู่กันจุ่ม Thinner for wash ของ MIG มาแตะลงบนผิว และใช้พู่กันเกลี่ยให้สีทั้งหมดผสมกันครับ โดยพยายามเกลี่ยให้สีนั้นสะสมอยู่ตามร่องตามมุมต่างๆ


เมื่อแห้งสนิทแล้วสีจะชัดเจนขึ้นครับ


Thinner for wash นั้นจะช่วยเพียงแค่ยึดสีไว้กับพื้นผิวเท่านั้น ไม่ได้ติดแน่นเหมือนกับ Pigment Fixer ดังนั้นเราจึงสามารถปัดหรือเช็ดส่วนที่เกินออกได้ครับ ผมใช้นิ้วถูเพื่อที่สีจะได้ติดอยู่เฉพาะบริเวณที่นิ้วไม่สามารถเข้าถึงครับ


เมื่อทำเสร็จทั้งหมดแล้วครับ ในการทำเทคนิคนี้ถ้ายังไม่พอใจกับผลที่ได้ ก็สามารถทำซ้ำได้เรื่อยๆครับ จนเมื่อพอใจแล้วจึงค่อยนำไปพ่นเคลียร์ทับเพื่อให้สีฝุ่นมันยึดเกาะได้ทนนานครับ แต่การที่พ่นเคลียร์นั้น
จะทำให้สีของพิกเมนท์นั้นเข้มขึ้น ดังนั้นเวลาทำจึงต้องผสมให้สีของพิกเมนท์ มันดูสว่างกว่าที่ต้องการ
อยู่พอสมควรครับ


8.Oil effects - การใช้สีน้ำมัน จำลองคราบน้ำมัน 
ขั้นตอนนี้จะทำเป็นขั้นตอนสุดท้ายครับ โดยหลังจากที่เก็บสีคราบฝุ่นดินต่างๆ รวมถึงติดอุปกรณ์ต่างๆลงไปทั้งหมดแล้ว นำไปพ่นเคลียร์ด้านคลุมบางๆให้ทั่วทั้งคันเพื่อปรับสภาพผิวของโมเดลให้ด้านอีกครั้งหนึ่งครับ จากนั้นใช้สีน้ำมัน raw umber ผสมกับ turpentine นิดหน่อยให้สีค่อนข้างข้นไม่ใสจนเกินไปครับ เวลาทาแล้วจะได้เป็นคราบสีน้ำตาลจางๆ และใช้พู่กันเบอร์ 0 ทาตามจุดที่คิดว่าน่าจะมีคราบน้ำมันอยู่ อย่างเช่นบริเวณดุมล้อที่จะมีน้ำมันหล่อลื่น หรือบริเวณถังน้ำมันหรือห้องเครื่องที่จะมีคราบน้ำมันหยดหรือหกเป็นทางจากการเติมน้ำมันครับ

การทาสีคราบน้ำมันนี้ จะค่อยๆทาไปทีละนิดและทีละส่วนครับ เพราะเป็นการทำงานในขั้นตอนสุดท้ายก่อนจบงาน ถ้าทาเยอะเกินไปจนสกปรกจะแก้ได้ยากครับ ดังนั้นในการทาจะใช้การทาลากเป็นเส้นเล็กๆตามแนวตั้ง รวมถึงการแต้มหรือจุดสี และให้ความเหลวของสีน้ำมันนั้นซึมออกไปรอบๆจุดหรือเส้นที่ลากไว้เองครับ

สีน้ำมันเมื่อแห้งแล้วจะเงาในระดับนึงครับ ถ้าอยากจะให้เงามากหน่อยก็ใช้สีเคลียร์มันสูตรน้ำมันของทามิย่ามาผสมเข้าไปด้วยก็ได้ครับ
  


ถ้าสีที่ทาข้นเกินไป ใช้พู่กันจุ่มเทอร์เพ็นไทน์ให้หมาดๆ มาทาเกลี่ยขอบของสีอีกที ให้เป็นคราบจางๆ
ทีซึมออกมาครับ




No comments:

Post a Comment