Friday, March 20, 2015

ว่าด้วยเรื่องของ อีพ็อกซี่ พุตตี้ (Epoxy Putty) สำหรับงานโมเดล

สวัสดีครับ วันนี้มีบทความมาฝากกัน เกี่ยวกับเรื่องของ อีพ็อกซี่ พุตตี้ (epoxy putty) ครับ (เป็นบทความที่ผมเคยเขียนเอาไว้ลงในเว็บหนึ่งนำมาเรียบเรียงใหม่) ก่อนหน้านี้สังเกตเห็นมีคนมาถามเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่พอสมควรตามกลุ่มต่างๆ เลยคิดว่าทำเป็นบทความขึ้นมาเลยน่าจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายกว่า และเป็นประโยชน์กับน้องๆรุ่นใหม่ๆ เพราะหลายๆท่านอาจจะยังไม่รู้จักอุปกรณ์ในการทำโมเดลประเภทนี้กันมากนัก ซึ่งส่วนตัวผมมองว่ามันเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญในการทำโมเดลชิ้นหนึ่งเลย โดยเฉพาะคนที่ชอบในเรื่องของการดัดแปลงตกแต่งเพิ่มเติมจะมีโอกาสให้ต้องใช้อุปกรณ์นี้อย่างแน่นอน ซึ่งอีพอคซี่ พุตตี้ที่มีขายและเป็นที่นิยมอยู่ในท้องตลาดก็มีอยู่หลายยี่ห้อ และแต่ละยี่ห้อก็จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป ผมจึงเขียนบทความเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของแต่ละยี่ห้อตามประสบการณ์ที่เคยใช้มา เพื่อจะได้เห็นถึงลักษณะของการนำไปใช้งานและสามารถพิจารณาได้ว่าอีพ็อกซี่ พุตตี้แบบไหนที่เหมาะสำหรับการทำงานของคุณครับ
สำหรับในเมืองไทย เนื่องจากอุปกรณ์ตัวนี้ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่ คนส่วนมากจึงรู้จักแค่เพียงสองยี่ห้อที่หาซื้อได้ง่ายคือ อีพ็อกซี่ พุตตี้ ของ ทามิย่า (Tamiya) และ อัลเทโก้ (Alteco) จึงทำให้ตัวเลือกในการทำงานนั้นค่อนข้างจำกัด เพราะจริงๆแล้วยังมีอีพ็อกซี่ พุตตี้อีกหลายๆยี่ห้อที่ทำออกมาเพื่อให้เหมาะสมสำหรับงานโมเดลโดยเฉพาะ ผมจึงหวังว่าบทความนี้น่าจะช่วยให้ได้ทราบถึงตัวเลือกในการทำงานที่มากขึ้น และสามารถลองหามาใช้ได้ แต่อาจจะต้องสั่งซื้อผ่านทางร้านค้าออนไลน์ต่างๆในต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าบางยี่ห้อนั้นยังไม่มีจำหน่ายในไทย หรือหากตัวแทนนำเข้าโมเดลหรือร้านค้าต่างๆเห็นบทความนี้แล้วคิดว่าน่าสนใจ จะลองสั่งมาขายดูบ้าง ก็จะเป็นประโยชน์แก่คนทำโมเดลมากครับ จะได้มีทางเลือกในการสร้างผลงานที่หลากหลายกันมากกว่าเดิม

ก่อนที่จะดูข้อดีข้อเสียของแต่ละยี่ห้อ ขอเกริ่นให้ฟังสักเล็กน้อยก่อนสำหรับท่านที่ยังไม่รู้จัก ว่า อีพ็อกซี่ พุตตี้ นั้นคืออะไร ถ้าให้อธิบายง่ายๆก็คือกาวประเภทหนึ่งที่สามารถใช้ในการอุดรอยต่างๆไปจนถึงสามารถที่จะปั้นขึ้นรูปได้ โดยลักษณะการใช้งานจะเป็นการนำส่วนผสมสองส่วนมาผสมกันเพื่อให้เกิดปฎิกริยาเคมีทำให้อีพ็อกซี่ พุตตี้ นั้นแข็งตัวครับ ซึ่งส่วนผสมทั้งสองส่วนนั้นจะแบ่งเป็น ส่วนของเรซิ่น (Resin ) และตัวทำแข็ง (Hardener) ซึ่งเวลาใช้งานจะต้องนำทั้งสองส่วนมานวดผสมเข้าด้วยกันจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน (สังเกตจากสีของทั้งสองส่วนจะผสมจนกลายเป็นสีกลาง) เพื่อที่จะให้อีพ็อกซี่ พุตตี้นั้นแข็งตัว และระยะเวลาในการแข็งตัวก็จะขึ้นอยู่กับส่วนผสมของทั้งสองส่วน คือถ้าอยากให้แข็งตัวไวก็ใส่ตัวทำแข็งให้มากกว่า หรือใส่เรซิ่นให้มากกว่าหากต้องการให้แข็งตัวช้าลง เป็นต้น แต่โดยปกติแล้วก็มักจะผสมทั้งสองส่วนแบบเท่าๆกันครับ นอกจากนี้ระยะเวลาในการแข็งตัวของแต่ละยี่ห้อก็จะแตกต่างกันไปตามสูตรเฉพาะของยี่ห้อนั้นๆครับ ซึ่งช่วงเวลาในขณะที่อีพ็อกซี่ พุตตี้ยังนิ่มๆอยู่ ก่อนที่จะแข็งตัวจนแห้งสนิทนี้เอง ที่จะเป็นระยะเวลาในการนำมันไปใช้งาน ทั้งการปั้น การอุด นำไปรีดเป็นแผ่น คลึงให้เป็นเส้นเชือกเล็กๆ ฯลฯ และหลังจากทิ้งไว้จนแห้งสนิทแล้วจะสามารถนำไปตัด ขัด เฉือนแต่งได้ตามสะดวกครับ

ทีนี้เราลองมาไล่ดูกันไปทีละอันเลยครับ เริ่มจากของที่คุ้นเคยและหาซื้อได้ง่ายก่อน

อัลเทโก้ (Alteco)
เริ่มด้วยยี่ห้อที่หาซื้อได้ง่ายสุดๆ มีแทบจะทุกร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ในราคาโดยประมาณ 120 บาท ปริมาณที่ให้มามีเยอะพอสมควร หลังจากผสมทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันแล้วจะใช้เวลาในการแข็งตัวค่อนข้างเร็ว คือประมาณ 30-50 นาที* เนื้ออีพ็อกซี่จะค่อนข้างนิ่ม นวดได้ง่ายและจะมีความเหนียวมาก ต้องใช้วาสลีนหรือแป้งทาที่มือหรืออุปกรณ์เพื่อให้สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น รวมถึงสามารถใช้ทินเนอร์ผสมเข้าไปในเนื้ออีพ็อกซี่เมื่อมันเริ่มที่จะแข็ง เพื่อที่ให้มันอ่อนตัวลงและยืดระยะเวลาในการทำงานได้อีกเล็กน้อย (ส่วนน้ำเปล่า ยังไม่เคยลองครับ) เมื่อแห้งสนิทแล้วจะแข็งแรงทนทานมาก แม้จะรีดมาเป็นแผ่นบางๆก็ยังคงรูปได้ดี แต่เนื้อที่แข็งมากนี้ก็เป็นผลเสียต่อการขัดตัดแต่งเช่นกัน

สถานที่จำหน่าย:  ตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างทั่วๆไป 
ข้อดี:  เนื้อละเอียดและเหนียวมาก ยึดติดกับพื้นผิววัสดุต่างๆได้ดีมาก สามารถใช้ปั้นขึ้นรูปและกดแต่งพื้นผิวได้ดี (คม) นอกจากนี้เนื้อที่ละเอียดและเหนียวยังช่วยให้สามารถนำมารีดให้เป็นแผ่นบางๆได้ดีอีกด้วย
ข้อเสีย:  เวลาในการทำงานน้อยเพราะแข็งตัวไว และเมื่อแห้งสนิทแล้วจะแข็งมากๆ ทำให้ทั้งการขัดการตัดแต่งนั้นทำได้ลำบาก รวมถึงการที่มันเหนียวและเกาะผิววัสดุได้ดีจึงต้องวางแผนในการทำงานให้ดีๆ เพราะหากผิดพลาดไปจะแก้ไขได้ลำบาก
ส่วนตัว:  เคยใช้เอามาแต่งชิ้นส่วนกันพลา โดยปั้นเสริมไว้แต่ไม่ได้กดให้ผิวมันเรียบเพราะกะว่าจะมาขัดทีหลัง แต่พอแห้งแล้วมันแข็งมากๆ จำได้ว่าต้องเอาตะไบเหล็กมาขัดกันเลย เข็ดมาก ผมจึงมองว่ามันเหมาะสำหรับคนปั้นที่มีประสบการณ์ในการปั้นให้เสร็จสมบูรณ์โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาขัดแต่งทีหลังมากนัก หรืองานที่ไม่ต้องเน้นพื้นผิวแบบเรียบเนียนหรือได้ระนาบครับ

ภาพตัวอย่างงานที่ใช้อีพ็อกซี่ พุตตี้ ของ อัลเทโก้ มารีดเป็นแผ่นบางๆเพื่อทำเป็นธง สามารถจัดแต่งรูปทรงได้ดีและจะคงรูปอยู่อย่างนั้น เช่นตัวอย่างของผ้าที่จัดให้ดูพริ้วเหมือนโดนลมพัด หลังจากที่ทิ้งไว้จนแห้งแล้วต้องใช้กระดาษทรายเบอร์หยาบๆมาขัดก่อนเพราะผิวจะแข็ง ขัดยาก แล้วจึงค่อยไล่ไปที่เบอร์ละเอียด ดังนั้นจึงมีรอยขูดขีดเล็กๆบนพื้นผิวทั่วไปหมดและต้องมาอุดขัดเก็บผิวในขั้นสุดท้ายอีกทีด้วยพุตตี้ของทามิย่า 


สังเกตดูตรงส่วนของหูคล้องธงที่เป็นรอยยับทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ผมใช้มิลลิพุตมาปั้นเสริมในภายหลังเพราะสามารถควบคุมและขัดตกแต่งได้ง่ายกว่า แล้วจึงค่อยอุดรอยต่อระหว่างส่วนทั้งสองด้วยพุตตี้ของทามิย่าและขัดให้เรียบเนียนอีกที


ส่วนอันนี้เป็นงานทึ่เคยใช้อัลเทโก้ปั้นเสริมที่บอกไว้ครับ ทำเอาไว้หลายปีแล้วถึงตอนนี้ก็ยังคงอยู่ในสภาพแบบที่เห็น และคิดว่าคงจะปล่อยไว้ไม่ทำต่อแล้ว

--------------------------------------------------------------------------------------------------


ทามิย่า (Tamiya)
เป็นอีกหนึ่งยี่ห้อที่หาซื้อได้ค่อนข้างง่ายในเมืองไทย มักจะมีขายตามร้านโมเดลที่ขายอุปกรณ์ในการทำงานด้วย ที่นำมาแนะนำกันจะเป็นแบบ quick type ราคาโดยประมาณ 190 บาท ปริมาณที่ให้มาถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับของอัลเทโก้ น่าจะประมาณไม่ถึงหนึ่งในสาม หลังจากผสมทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันแล้วจะใช้เวลาในการแข็งตัวประมาณ 1-1 ชั่วโมงครึ่ง* เนื้ออีพ็อกซี่จะไม่นิ่มจนเกินไป นวดได้ง่ายเช่นกันแต่ไม่เหนียวติดมือเท่าของอัลเทโก้ สามารถใช้วาสลีนหรือน้ำช่วยให้ไม่ติดที่อุปกรณ์และมือ รวมถึงสามารถใช้ทินเนอร์ผสมเข้าไปในเนื้ออีพ็อกซี่เมื่อมันเริ่มที่จะแข็ง เพื่อที่ให้มันอ่อนตัวลงและยืดระยะเวลาในการทำงานได้  เมื่อแห้งสนิทแล้วจะแข็งกำลังดี ไม่แข็งมากเหมือนของอัลเทโก้ และมีความเหนียวทนทานพอสมควร ไม่เปราะหรือแตกหักง่าย

สถานที่จำหน่าย:  ร้านจำหน่ายสเกลโมเดลต่างๆ และร้านขายกันพลาที่ขายอุปกรณ์ในการทำงานด้วย รวมถึงร้านค้าโมเดลแบบออนไลน์ 
ข้อดี:  การยึดเกาะผิวทำได้ดีกับทุกวัสดุ เนื้อละเอียดและมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถใช้งานได้หลากหลายทั้งการอุดรอยเล็กๆ การปั้นขึ้นรูป การรีดเป็นแผ่นบางๆ รวมถึงการกลึงให้เป็นเส้นเล็กๆยาวโดยที่ไม่ขาดออกจากกันก็ทำได้ดีมาก เมื่อแห้งสนิทแล้วไม่แข็งจนเกินไป สามารถตัดขัดแต่งได้ง่ายและให้พื้นผิวที่ละเอียด
ข้อเสีย:  ราคาแพงเมื่อเทียบกับปริมาณที่ให้มา จึงไม่เหมาะกับงานขึ้นรูปขนาดใหญ่
ส่วนตัว:  เท่าที่เคยใช้มาเป็นยี่ห้อที่ครบเครื่องมาก เหมาะกับการนำมาใช้ในงานทุกประเภท ติดอย่างเดียวที่ราคานั้นแพงเกินไป

ภาพตัวอย่างงานที่ใช้อีพ็อกซี่ พุตตี้ ของ ทามิย่า ครับ นำมาใช้ในการปั้นขึ้นรูปเสื้อผ้า จะเห็นว่าสามารถเก็บรายละเอียดต่างๆได้คมชัดดี กดรอยได้ง่ายและรีดให้บางได้ดีมากเช่นกัน ในงานชิ้นนี้ผมใช้พู่กันจุ่มทินเนอร์ช่วยในการเกลี่ยผิวและกดรอยเล็กๆบางส่วน เพราะทินเนอร์จะทำให้อีพ็อกซี่นั้นนิ่มลง แต่ก็ต้องระวังเพราะถ้าทินเนอร์มากเกินไปจะทำให้มันนิ่มจนเสียรูปทรงได้ อีกอย่างคือถ้าผสมทินเนอร์เข้าไปแล้วระยะเวลาในการแข็งตัวจะช้ากว่าเดิม ผมจึงมักจะทิ้งไว้ข้ามคืนเพื่อความแน่นอน จึงค่อยมาปั้นเสริมหรือขัดอีกทีครับ


อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้งาน กระสอบทรายที่เห็นในภาพปั้นด้วยอีพ็อกซี่ของอัลเทโก้ครับ (สีครีม) เพราะต้องใช้จำนวนเยอะของอัลเทโก้จึงประหยัดกว่ามาก ส่วนของทามิย่าเอามาใช้ปั้นเป็นเชือกเส้นเล็กๆที่มัดรอบปากถุง (สีเหลือง) เพราะอีพ็อกซี่ของทามิย่านั้นสามารถนำมาคลึงให้เป็นเส้นเล็กๆโดยที่ไม่ขาดออกจากกันได้ดีกว่ามากครับ รวมถึงยังจัดแต่งรูปทรงได้ง่ายกว่าด้วย

--------------------------------------------------------------------------------------------------


มิลลิพุต (Milliput)
เป็นยี่ห้อที่รู้จักกันแพร่หลายโดยเฉพาะทางฝั่งยุโรป ผลิตออกมาหลายแบบตามแต่การใช้งานโดยจะแบ่งตามสีของเนื้อวัสดุ ส่วนแบบที่นำมาแนะนำกันจะเป็นแบบธรรมดาสีเหลืองเทา ราคาโดยประมาณ 200-400 บาท (ขึ้นอยู่กับค่าส่ง) ปริมาณที่ให้มาจะเยอะกว่าของอัลเทโก้ประมาณเกือบครึ่งเท่า หลังจากผสมทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันแล้วจะใช้เวลาในการแข็งตัวประมาณ 1-2 ชั่วโมง* เนื้ออีพ็อกซี่จะนิ่มค่อนข้างมากไปทางเหลว จะคล้ายๆกับสีโป๊วแต่แข็งตัวกว่าหน่อย ทำให้เวลานำมานวดเข้าด้วยกันก็จะเหลวติดที่มือ ผมใช้น้ำในการช่วยไม่ให้ติดที่นิ้วหรืออุปกรณ์เวลานวดหรือตัดแต่ง แต่ต้องคอยระวังหากมันโดนน้ำมากเกินไปจะยุ่ยและแตกตัวออกจากกัน เมื่อแห้งสนิทแล้วจะแข็งแต่เปราะพอสมควร โดยเฉพาะถ้าทำเป็นชิ้นส่วนบางๆหรือเล็กๆ

สถานที่จำหน่าย: ยังไม่มีจำหน่ายในไทย ต้องสั่งซื้อจากทางร้านค้าออนไลน์ในต่างประเทศหรือทางอีเบย์  (ทางยุโรปจะถูกกว่า)
ข้อดี:  การยึดเกาะผิวทำได้ดีกับทุกวัสดุ เนื้อละเอียดและนิ่ม เหมาะแก่การนำไปอุดรอยต่อต่างๆได้ดี หากต้องการนำไปใช้ในการปั้นขึ้นรูปหรือรีดเป็นแผ่นบางๆ จะต้องผสมทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง ให้เนื้ออีพ็อกซี่นั้นเริ่มแข็งตัวในระดับหนึ่ง จะทำให้นำมารีดหรือปั้นได้ง่ายขึ้น รวมถึงปั้นคลึงเป็นเส้นเล็กๆได้แต่จะไม่ได้เส้นที่ยาวนักเพราะจะขาดจากกันง่าย เมื่อแห้งสนิทแล้วจะไม่แข็งจนเกินไป สามารถขัดและตัดแต่งได้ง่าย
ข้อเสีย:  การที่เนื้อนิ่มมากทำให้ควบคุมได้ยาก เวลาใช้งานจึงคล้ายกับสีโป๊ว คือพอกให้เป็นทรงที่ต้องการแล้วค่อยมาขัดเก็บเมื่อแห้ง หรืออีกวิธีคือทิ้งให้เริ่มแข็งตัวแล้วค่อยนำมาปั้นขึ้นรูป แต่ถ้าเทียบกันแล้วยี่ห้ออื่นๆจะทำได้ดีและสะดวกกว่า รวมถึงเมื่อแห้งสนิทแล้ว แม้ว่าจะแข็งตัวดีแต่จะมีความเปราะมากกว่ายี่ห้ออื่นๆ จึงไม่เหมาะกับงานที่ทำเป็นแผ่นบางๆหรือชิ้นส่วนเล็กๆ เพราะจะหักได้ง่ายมาก
ส่วนตัว:  ผมแนะนำว่ายี่ห้อนี้เหมาะสมกับคนทำงานโมเดลบ้านเราที่ไม่ได้เน้นไปทางปั้น อย่างเช่นงานอุดร่องกว้างๆหรือขึ้นรูปแบบที่เป็นรูปทรงง่ายๆไม่ซับซ้อนเกินไป เพราะสามารถใช้งานได้หลากหลายและราคาไม่แพงนักถ้าเทียบกับปริมาณและคุณภาพที่ได้ โดยเฉพาะถ้าสามารถหาแหล่งซื้อราคาถูกได้ (ผมเคยซื้อมาในราคาประมาณแค่ร้อยกว่าบาทรวมค่าส่ง)

ภาพตัวอย่างงานที่ใช้มิลลิพุตครับ แบบที่เห็นจะใช้การผสมทั้งสองส่วนแล้วทิ้งไว้ให้เริ่มแข็งตัว จากนั้นนำไปรีดให้ได้ความหนาที่ต้องการ นำมาตัดให้ได้ขนาด แล้วติดลงบนต้นแบบเพื่อดัดให้ได้รูปทรงที่ต้องการ โดยทาวาสลีนไว้ที่ต้นแบบเพื่อให้สามารถถอดแยกออกจากกันได้ จากนั้นจึงค่อยมาพอกส่วนอื่นๆเพิ่มและขัดตัดแต่งจนได้แบบที่ต้องการครับ 


จะเห็นว่าถ้าทำเป็นชิ้นส่วนหนาๆและไม่มีรายละเอียดเล็กๆมากจะไม่ต้องกลัวเรื่องความเปราะเท่าไหร่ แต่ก็ยังต้องคอยระวังอยู่ดีเพราะถ้ากระแทกแรงๆก็หักได้เหมือนกันครับ


อีกหนึ่งตัวอย่างที่ใช้มิลลิพุตในการอุดรอยตะเข็บตรงแขนและตกแต่งรายละเอียดต่างๆครับ จะเห็นว่าสามารถนำมาคลึงเป็นเส้นเล็กๆแบบในภาพได้ แต่ไม่สามารถทำเป็นเส้นยาวๆได้ จึงเหมาะกับการทำเป็นขนหรือหนามสั้นๆ แต่ข้อควรระวังก็คือมันจะเปราะและหักได้ง่ายมากๆครับ

--------------------------------------------------------------------------------------------------


กรีนสตัฟฟ์ (Green Stuff)
เอกลักษณ์ของกรีนสตัฟฟ์คือเนื้อวัสดุที่เป็นสีเขียว จากการผสมส่วนของสีเหลืองและน้ำเงินเข้าด้วยกัน ผมไม่แน่ใจว่าต้นฉบับนั้นเป็นของยี่ห้ออะไร เพราะว่ามีคนทำออกมาหลายเจ้ามากๆ แต่ที่จะรู้จักกันกว้างขวางหน่อยก็เป็นของดูโร (Duro) กับอีกอันที่เอามาแนะนำกันนี้ครับ คือของซิทาเดลหรือเกมส์ เวิรค์ชอพครับ (Citadel) ราคาโดยประมาณ 350 บาท ปริมาณที่ให้มาจะมากกว่าของทามิย่าหน่อย แต่จะไม่เยอะเท่าอัลเทโก้ หลังจากผสมทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันแล้วจะใช้เวลาในการแข็งตัวประมาณ 1-1 ชั่วโมงครึ่ง* เนื้ออีพ็อกซี่จะค่อนข้างแข็ง ไม่นิ่มมากและยืดหยุ่นดี แต่จะมีความเหนียวน้อยกว่ายี่ห้ออื่นๆ ทำให้การจับการปั้นนั้นทำได้ง่าย แทบจะไม่ต้องใช้น้ำช่วยในการทำให้มันไม่ติดที่นิ้วหรืออุปกรณ์เวลานวดหรือตัดแต่ง  เมื่อแห้งสนิทแล้วจะมีลักษณะคล้ายๆกับยางแข็ง แต่ยังสามารถบิดงอได้โดยเฉพาะถ้าเป็นส่วนที่ลอยตัวออกมาจากชิ้นงาน

สถานที่จำหน่าย: มีจำหน่ายในร้านเฉพาะสำหรับคนที่เล่นเกมเทเบิ้ลท็อปในเมืองไทย ไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป หรือต้องสั่งซื้อจากทางร้านค้าออนไลน์ในต่างประเทศหรือทางอีเบย์
ข้อดี:  เนื้อละเอียดและยืดหยุ่นดี เพราะการที่ไม่เหนียวมากจึงสามารถเกลี่ยผิวให้เรียบได้ง่ายด้วยอุปกรณ์ปั้นต่างๆ และทำให้ปั้นเก็บรายละเอียดต่างๆได้ดี รวมถึงการนำไปรีดเป็นแผ่นบางๆหรือคลึงให้เป็นเส้นเล็กๆก็สามารถทำได้ดีเช่นกัน เมื่อแห้งสนิทแล้วจะมีลักษณะคล้ายๆกับยางแข็ง แต่ยังสามารถตัดและขัดได้
ข้อเสีย:  การยึดเกาะผิวทำได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะวัสดุประเภทโลหะจะแทบไม่เกาะเลย จึงไม่เหมาะกับการใช้อุดร่องรอยต่างๆเท่ายี่ห้ออื่นๆ และเนื่องจากลักษณะผิวที่ไม่มีความเหนียวมากนัก เมื่อนำมาใช้งานซักพักจนเริ่มจะเข็งตัวขึ้น การที่จะนำส่วนที่เหลือมาปั้นรวมกันใหม่ให้รวมเป็นเนื้อเดียวกันจะทำได้ยาก เพราะมันจะไม่ผสานรวมกันได้ใหม่เหมือนของยี่ห้ออื่นๆ จึงต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำงานพอสมควร นอกจากนี้การที่เมื่อแห้งสนิทแล้วมีลักษณะคล้ายกับยางทำให้บางครั้งส่วนที่ปั้นอาจจะเสียรูปทรงหรือเกิดริ้วรอยได้ง่าย รวมถึงทำให้การขัดผิวนั้นทำได้ลำบากกว่ายี่ห้ออื่นๆ
ส่วนตัว:  หากมองในแง่ของการนำมาใช้ในการปั้นแล้วก็ถือว่าเหมาะสมและทำได้ดีมากๆ เพราะสามารถพลิกแพลงใช้ในการปั้นได้หลากหลาย แต่อาจจะต้องอาศัยประสบการณ์ในการปั้นซักหน่อย การปั้นเก็บงานให้เรียบร้อยได้โดยที่ไม่ต้องมาขัดเก็บผิวอีกรอบ จะช่วยให้ทำงานสะดวกมากขึ้น เพราะการขัดผิวงานดูจะยุ่งยากกว่าของยี่ห้ออื่นๆเนื่องจากการที่ผิวคล้ายยางและบิดงอได้นั่นเอง

ภาพตัวอย่างงานที่ใช้กรีนสตัฟฟ์ครับ ในงานนี้เอามาใช้ปั้นรีดเป็นแผ่นบางๆเพื่อทำเป็นธง เนื่องจากลักษณะที่คล้ายยางเมื่อแข็งตัวจึงทำให้เวลาปั้นแล้วจัดทิศทางหรือทรงของผ้าได้ลำบาก เพราะมันจะคอยคืนตัวอยู่ตลอด ผมเลยต้องใช้มิลลิพุตมาปั้นเป็นส่วนรอยยับของผ้าในภายหลัง เพราะจะคุมได้ง่ายกว่า แต่ก็มามีปัญหาตอนขัดอีกที เพราะว่ามันจะนิ่มและยวบไปมาทำให้การขัดผิวนั้นทำได้ไม่สะดวกนัก

--------------------------------------------------------------------------------------------------


แมจิค สคัลป์ (Magic Sculpt)
เป็นผลิตภัณฑ์ตัวสุดท้ายที่จะมาแนะนำกันและเป็นตัวที่ผมกำลังใช้อยู่ในปัจจุบันครับ ราคาโดยประมาณ 400-500 บาท (ตัวที่ผมใช้และเขียนข้อมูลจะเป็นกระปุกเล็กสุดมีขนาดบรรจุประมาณ 1/4 ปอนด์หรือประมาณ 4  ออนซ์ ส่วนราคาที่อ้างอิงจะเป็นราคาตามตัวอย่างในภาพซึ่งเป็นกระปุกรุ่นใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมมีขนาดบรรจุประมาณ 1/2 ปอนด์หรือประมาณ 8 ออนซ์) กระปุกเล็กแบบที่ผมใช้ปริมาณที่ให้มาจะมากพอๆกับของมิลลิพุต หลังจากผสมทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันแล้วจะใช้เวลาในการแข็งตัวประมาณ 1-1 ชั่วโมงครึ่ง* เนื้ออีพ็อกซี่จะอยู่กลางๆ ไม่นิ่มและไม่แข็งจนเกินไป และมีความเหนียวพอสมควรพอๆกับของทามิย่า ผมใช้น้ำในการช่วยไม่ให้ติดที่นิ้วหรืออุปกรณ์เวลานวดหรือตัดแต่ง เมื่อแห้งสนิทแล้วจะคล้ายๆกับของทามิย่า ต่างกันที่จะมีความแข็งและเปราะมากกว่าหน่อย แต่ยังทนทานและไม่แตกหักง่ายนัก

สถานที่จำหน่าย: ยังไม่มีจำหน่ายในไทย ต้องสั่งซื้อจากทางร้านค้าออนไลน์ในต่างประเทศหรือทางอีเบย์ (จะมีสินค้าของอีกยี่ห้อชื่อ Apoxie Sculpt ซึ่งเท่าที่เคยอ่านผ่านๆจะมีลักษณะใกล้เคียงกับแมจิค สคัลป์ มีขายอยู่ในร้านค้าออนไลน์เกี่ยวกับอุปกรณ์ปั้นของไทย ในราคาประมาณห้าร้อยกว่าบาทครับ)
ข้อดี:  การยึดเกาะผิวทำได้ดีกับทุกวัสดุ เนื้อละเอียดและมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถใช้งานได้หลากหลายทั้งการอุดรอยเล็กๆ การปั้นขึ้นรูป รวมถึงการปั้นรีดเป็นแผ่นบางๆ แม้การปั้นคลึงเป็นเส้นเล็กๆจะยังไม่ดีเท่าทามิย่า แต่ก็ถือว่าทำได้ดีในระดับนึง เมื่อแห้งสนิทแล้วจะแข็งแต่ไม่เปราะจนเกินไป ยังสามารถตัดขัดแต่งได้สะดวกและให้พื้นผิวที่ละเอียด
ข้อเสีย:  เท่าที่พอจะนึกออกตอนนี้ก็คงจะเป็นเรื่องของการหาซื้อที่ค่อนข้างลำบากกับราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ยังดีที่ในหนึ่งชุดสองกระปุกนั้นยังให้ปริมาณที่มากกว่าพอสมควรเมื่อเทียบกับของทามิย่า
ส่วนตัว:  ถือว่าเป็นยี่ห้อที่พอใจมากที่สุดในตอนนี้ทั้งในเรื่องของคุณภาพ ราคาและปริมาณที่ได้ เพราะสามารถใช้งานได้หลากหลายทั้งอุดรอยต่อ การปั้นขึ้นรูปแบบต่างๆ แม้ว่าในเรื่องของการใช้งานบางอย่างยี่ห้ออื่นๆอาจจะทำได้ดีกว่า แต่เมื่อดูโดยภาพรวมแล้วก็ถือว่าน่าพอใจสุดครับ

ภาพตัวอย่างงานที่ใช้แมจิค สคัลป์ในการปั้นครับ จะเห็นว่าเอาไปใช้งานได้หลากหลาย ทั้งการอุดร่องบริเวณช่วงขาและเกราะไหล่ การปั้นตกแต่งรายละเอียดต่างๆตรงส่วนคอและหลังสะโพก และการนำไปรีดเป็นแผ่นบางๆเพื่อใช้ทำเป็นแถบผ้าด้านหน้า นอกจากนี้ยังเอามารีดเป็นแผ่นหนาๆแล้วทิ้งให้แห้ง จากนั้นใช้คีมตัดมาตัดให้เป็นรอยบิ่นแตก เพื่อเอามาใช้ตกแต่งเป็นพื้นปูนซีเมนต์ที่พังบนฐานอย่างในภาพด้วยครับ


สำหรับการเก็บรักษาอีพ็อกซี่ พุตตี้ บางยี่ห้อจะบรรจุมาเป็นห่อกระดาษฟอยล์หรือถุงพลาสติก หลังจากที่เปิดห่อเพื่อนำมาใช้งานแล้ว ควรจะเก็บเอาไว้ในที่มิดชิดและอากาศเข้าไม่ได้อย่างเช่น ซองแบบซิปล็อค ขวดหรือกล่องที่มีฝาปิดได้สนิท และเก็บในที่ๆแสงส่องไม่ถึง เพราะแม้ว่าจะยังไม่ได้นำทั้งสองส่วนมาผสมกัน แต่ส่วนที่เป็นเรซิ่นจะมีโอกาสแข็งตัวได้มากกว่า ดังนั้นการเก็บให้ถูกวิธีจะช่วยยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้นครับ
สุดท้ายนี้ ทั้งหมดที่เขียนมาเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมนะครับ และเป็นการประเมินการแบบกะเอาคร่าวๆ จึงอาจจะไม่มีความแม่นยำในเรื่องของระยะเวลาในการแข็งตัวของแต่ละยี่ห้อมากนัก ซึ่งคนอื่นๆที่เคยลองใช้สินค้าเหล่านี้มาแล้วอาจจะมีความรู้สึกต่อตัวผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากผมก็ได้ แต่อย่างน้อยก็คงพอจะช่วยให้เห็นแนวทางคร่าวๆแล้วว่าแต่ละยี่ห้อนั้นเป็นอย่างไร นอกจากนี้แล้วยังมียี่ห้ออื่นๆอีกหลายอันที่ไม่ได้กล่าวถึงเพราะผมเองยังไม่มีโอกาสได้ลองใช้ ทั้ง Apoxie Sculpt, BeeSPutty, Mr.Epoxy Putty (Gunze Sangyo), Andrea Sculp (Andrea Miniatures) etc. ดังนั้นทางที่ดีที่สุดก็คือแนะนำว่าลองหามาทดลองด้วยตัวเองดูครับ อาจจะช่วยให้ค้นพบแนวทางในการทำงานใหม่ๆที่เหมาะกับคุณก็เป็นได้ครับ

หมายเหตุ* หมายถึงระยะเวลาที่เริ่มแข็งตัวจนเริ่มที่จะปั้นหรือกดรายละเอียดได้ยากขึ้น และอาจจะต้องทิ้งไว้อีกชั่วโมงหรือหลายชั่วโมงจนกว่าจะแห้งสนิท (ปกติผมจะทิ้งไว้หนึ่งคืนแล้วค่อยมาขัดเก็บงานอีกวันหนึ่ง)

Wednesday, March 18, 2015

Night Lords Night Raptor (part 6)

A little more progress on this project. The main body is finished. I painted the gold areas on the armor with NMM technique and added a lot of wear and tear on it, also used an OSL technique to create glow effects on the eyes and chest.

ตอนนี้ทำสีในส่วนของลำตัวเสร็จแล้วครับ ผมใช้เทคนิคการทำสีแบบ NMM (Non-Metallic Metal) ในบริเวณลวดลายประดับสีทองบนเกราะ และตกแต่งให้ดูเก่าด้วยการเติมรอยขูดขีดต่างๆ นอกจากนี้ก็ใช้เทคนิคการทำสีแบบ OSL (Object Source Lighting) มาทำสีในส่วนของดวงตาและหน้าอกเพื่อทำให้ดูเหมือนว่าสีตรงบริเวณนั้นกำลังเรืองแสงอยู่ครับ




Thursday, March 12, 2015

Raven Guard Assault Marine (ver.2.0)

A few months ago I sold this piece to a buyer in Europe, but it was lost during the shipment. I couldn't track it and didn't know how to find it, so the buyer got full refund from this mistake. After the problem solved, a month later this piece came back to me. I thought it was lost but maybe it had stuck somewhere before they sent it back to my address.
However, the parcel came back in a bad shape. After I opened it, the mini was broke down from the base and every parts on it were fell apart. It also had some chips and scratches on the colors. It looked terrible, but at least I'm happy I got it back and I'm glad the buyer didn't receive it in this condition. Therefore, I decided to repair it and repaint on some areas. After finished the repair, it  looks almost the same as before, just a few minor changes from the first version.

If you are interested in this piece, I listed it for auction on eBay. Please take a look [HERE]

หลายเดือนก่อนผมได้ลงขายงานชิ้นนี้ผ่านทางอีเบย์ให้กับผู้ซื้อในยุโรป แต่ว่ามันเกิดสูญหายระหว่างการขนส่งและผมไม่สามารถติดตามที่อยู่ของพัสดุได้ สุดท้ายแล้วจึงคืนเงินเต็มจำนวนให้กับผู้ซื้ออันเนื่องมาจากความผิดพลาดนี้ หลังจากที่แก้ปัญหาไปแล้วประมาณหนึ่งเดือนให้หลัง งานชิ้นนี้ได้ถูกส่งกลับมาหาผม ซึ่งตอนแรกผมคิดว่ามันคงจะหายไปแล้ว แต่คาดว่าพัสดุมันอาจจะไปติดค้างอยู่ซักที่ก่อนที่จะถูกส่งกลับมายังที่อยู่ของผม
อย่างไรก็ตาม พัสดุที่ส่งกลับมานั้นอยู่ในสภาพที่กล่องยุบและบุบ และเมื่อผมเปิดออกดูก็เป็นไปตามคาดคือชิ้นงานนั้นเสียหาย ตัวมินินั้นหักออกมาจากส่วนของฐาน และชิ้นส่วนต่างๆของมินิก็แยกออกจากกัน รวมไปถึงร่องรอยขูดขีดของสีบนตัวมินิที่กระจายอยู่รอบๆตัว แต่อย่างน้อยก็ยังดีที่ผมได้มันกลับคืนมาและโชคดีที่ผู้ซื้อไม่ได้รับมันไปในสภาพแบบนี้ 

สุดท้ายแล้วผมจึงตัดสินใจซ่อมมันทั้งส่วนของฐานและการเพนท์สีใหม่ในบางจุด ซึ่งผลที่ออกมาก็ดูใกล้เคียงกับแบบเดิม อาจจะแตกต่างกันแค่เพียงบางจุด และผมนำมันไปลงขายอีกรอบบนอีเบย์ครับ หากสนใจในงานชิ้นนี้ก็ลองเข้าไปดูได้ตามลิ้งค์นี้ครับ [HERE]












Monday, March 9, 2015

Night Lords Night Raptor (part 5)

I haven't updated anything from this project for a while. Here are some more photos of work in progress. I have already finished painting some parts such as right hand and jump pack. I decided to paint an afterburner (OSL effect) on the jet engines with red and orange tones, in order to make it contrast with the cold colors of the armor. More to come soon. :)

วันนี้มีภาพงานมาลงเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยครับ หลังจากที่เว้นระยะไปพอสมควร ตอนนี้ผมทำสีในบางส่วนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช่น แขนขวา กับจั๊มพ์แพ็คที่ติดด้านหลังครับ โดยผมเลือกทำสีในส่วนด้านในของท่อไอพ่นด้วยสีโทนแดงและส้ม เพื่อจำลองลักษณะของไอพ่นที่กำลังเผาไหม้อยู่ และให้สีตรงจุดนี้นั้นดูตัดกับสีของชุดเกราะครับ ส่วนความคืบหน้าเพิ่มเติมจะนำมาลงอีกทีครับ