Thursday, March 31, 2016

3rd SS-Panzer-Division "Totenkopf"

Hungary 1945
Converted from Dragon (DML6194) 1/35 scale plastic kit
Click here for the finished vignette [Casualties of War]


















Saturday, March 26, 2016

Casualties of War (part 9)

Here is the finished base before gluing the figures in place. The weathering on the debris was done with enamel products from Ammo of Mig: Damp Earth, Earth, Light Dust, Rainmarks Effects; and pigments from various brands: Light Dust, Europe Earth, Gulf War Sand, Russian Earth. I also added some pieces of broken window glass on window frame, sill and area underneath its; it was made from miniature blister pack. The downspout was made from plastic tube and electric cord made from copper wire.
Actually this vignette is already finished but I have not taken a photo yet. I decided to wait for the new camera and will post the final photo maybe after the SCAHMS show next month.

วันนี้มีภาพงานมาอัพเดทอีกเล็กน้อยครับ จริงๆผลงานชิ้นนี้ผมทำเสร็จทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากตอนนี้ยังรอกล้องใหม่อยู่เลยคิดว่าคงจะนำภาพงานที่สมบูรณ์มาลงได้ประมาณช่วงเดือนหน้าครับ วันนี้เลยนำภาพเฉพาะส่วนของฉากที่ทำเสร็จแล้วมาลงให้ชมก่อน และคงจะนำภาพฟิกเกอร์ที่เสร็จแล้วมาลงอีกทีครับ
สำหรับการทำเวทเธอริ่งบริเวณซากปรักหักพัง ผมใช้ผลิตภัณฑ์สูตรอีนาเมลของ Ammo of Mig มาทำในส่วนของคราบดินคราบฝุ่นต่างๆ โดยใช้สี Damp Earth, Earth, Light Dust และ Rainmarks Effects จากนั้นก็จะตกแต่งคราบฝุ่นและผงฝุ่นในบางจุดอีกรอบด้วยสีพิกเมนท์ Light Dust, Europe Earth, Gulf War Sand และ Russian Earth ครับ นอกจากนี้ก็จะมีรายละเอียดที่ใส่เพิ่มเข้าไปเพื่อให้ฉากนั้นดูสมบูรณ์ขึ้น เช่น เศษกระจกแตกบนบานหน้าต่างและบริเวณรอบๆ ทำจากแผ่นพลาสติกใส สายไฟทำจากลวดทองแดง และท่อน้ำทิ้งทำจากแท่งพลาสติกครับ




Friday, March 18, 2016

ข้อคิดจากงานประกวดในต่างประเทศ

สำหรับบทความนี้จะต่อเนื่องจากเรื่องของงานประกวดในต่างประเทศที่ลงไว้ก่อนหน้านี้ครับ เพื่ออธิบายให้เห็นว่างานประกวดในต่างประเทศนั้นแตกต่างกับงานประกวดในบ้านเราอย่างไร ไว้ดูเป็นกรณีศึกษาว่าทำไมเขาถึงจัดงานประกวดติดต่อกันได้อย่างต่อเนื่องมาเป็นสิบๆปี 

โดยจะแบ่งออกเป็นหัวข้อย่อยดังนี้ครับ

1. สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดของงานประกวดในต่างประเทศที่แตกต่างจากบ้านเราก็คือ การเก็บเงินค่าส่งผลงานเข้าประกวดและค่าเข้าชมงานครับ ซึ่งเงินที่เก็บนี้ก็จะนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าสถานที่ และค่าใช้จ่ายในการสร้างถ้วยหรือเหรียญรางวัลในครั้งต่อๆไป นอกจากนี้ก็จะมีการขอสปอนเซอร์จากบริษัทโมเดลและกลุ่มชมรมต่างๆมาช่วยสนับสนุนในการประกวด ซึ่งการบริหารจัดการที่ดีก็จะทำให้มีทุนสำรองไว้สำหรับการจัดงานในครั้งต่อๆไปได้อย่างต่อเนื่องทุกปี อย่างเช่นในงานประกวดครั้งนี้รู้สึกว่าจะจัดมาเป็นปีที่ 26 แล้วครับ

เนื่องจากงานประกวดครั้งนี้เป็นการจัดงานในพิพิธภัณฑ์ จึงเก็บค่าเข้าชมในราคาปกติของพิพิธภัณฑ์คือคนละ 15$ โดยสามารถเดินชมในส่วนต่างๆของพิพิธภัณฑ์ได้นอกเหนือไปจากห้องที่ใช้จัดงานประกวด ส่วนคนที่นำโมเดลมาประกวด ก็จะจำกัดให้ส่งได้ไม่เกินสิบชิ้นต่อคน (ส่วนงานประกวดที่อื่นๆก็จะมีค่าเข้าและการจำกัดจำนวนชิ้นงานแตกต่างกันไป บางที่อาจจะให้จ่ายเพิ่มต่อชิ้น หากมีผลงานที่ต้องการส่งมากกว่าที่กำหนด)
อีกหนึ่งช่องทางในการระดมทุนสำหรับงานประกวดที่นิยมทำกันก็คือ การขายสลากจับรางวัลโมเดลครับ โดยทางผู้จัดจะขอบริจาคโมเดลจากผู้สนับสนุนหรือบริษัทโมเดลเพื่อมาใช้ในการจับสลาก จากนั้นก็จะขายสลากให้กับผู้ที่สนใจในราคาถูก (อันละ 1$) ยิ่งซื้อสลากมากยิ่งมีโอกาสถูกรางวัลมาก และถ้างานประกวดใหญ่ๆก็จะมีของรางวัลให้เลือกมากเช่นกัน อย่างงานประกวดนี้จะมีของรางวัลมากกว่า 30 รายการให้ได้ลุ้นกันครับ

2. อย่างที่บอกเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าการแบ่งรุ่นของการประกวดนั้นแบ่งค่อนข้างละเอียด เพื่อที่จะได้ง่ายต่อการตัดสินในแต่ละประเภท เพราะจะเป็นโมเดลที่อยู่ในยุคหรือในประเภทเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ในการประกวดประเภทรถถังจะแบ่งออกเป็นรุ่นย่อยๆที่เฉพาะเจาะจงเช่น 1/72, 1/48, 1/35 รถถังสงครามโลกครั้งที่ 1/2, 1/35 รถถังยุคหลังสงครามโลก, 1/35 รถประเภทล้อยาง, ปืนใหญ่และจรวดไม่จำกัดมาตราส่วน เป็นต้น หรือถ้าเป็นโมเดลประเภทไซไฟก็จะแบ่งออกตามหัวข้อที่คนนิยม เช่น Star Wars, Star Trek, Gundam, All other Sci-Fi เป็นต้นครับ
ส่วนตัวมองว่าการที่แบ่งรุ่นในการประกวดหลากหลายแบบนี้ แม้จะทำให้บางรุ่นอาจจะมีผลงานเข้าร่วมแค่ไม่กี่ชิ้น แต่ถ้ามองในภาพรวมแล้วมันจะช่วยกระตุ้นให้คนมาร่วมส่งผลงานได้มากขึ้น ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ส่งงานและจำนวนชิ้นงานที่เข้าร่วม เพราะว่ามีตัวเลือกให้สามารถเข้าร่วมได้มากกว่าการที่จำกัดการประกวดไว้แค่เพียงไม่กี่ประเภทครับ

3. การตัดสินการประกวดในต่างประเทศจะแบ่งออกเป็นสองประเภทหลักคือ

3.1 การตัดสินแบบให้รางวัลตามลำดับที่ 1, 2, 3 การตัดสินแบบนี้จะมีรางวัลสูงสุดแต่ละประเภทเพียงรางวัลเดียวคือ รางวัลที่ 1 และจะมีรางวัลรวมทั้งหมดในแต่ละประเภทเพียง 3-5 รางวัล (รวมชมเชย)

3.2 การตัดสินแบบ Open System จะเป็นการตัดสินที่ไม่ได้นำโมเดลแต่ละชิ้นที่ร่วมประกวดในรุ่นนั้นๆมาเปรียบเทียบกันเอง แต่จะใช้เกณฑ์ในการให้คะแนนที่กำหนดขึ้นมาเป็นมาตราฐานในการตัดสิน และดูว่าโมเดลแต่ละชิ้นที่ประกวดนั้นอยู่ในเกณฑ์คะแนนระดับไหน แล้วจึงตัดสินรางวัลตามเกณฑ์คะแนนที่ได้ ซึ่งรางวัลในประเภทนี้จะนิยมให้เป็นเหรียญรางวัลตามลำดับคะแนนคือ ทอง เงิน ทองแดง และอาจจะมีเหรียญหรือใบประกาศสำหรับรางวัลชมเชย
ส่วนจำนวนรางวัลสูงสุดที่ได้นั้นจะไม่มีการจำกัดจำนวนไว้ อยู่ที่ว่าจะมีผลงานทำได้ถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้กี่ชิ้น อาจจะมีผลงานที่ได้เหรียญทองมากกว่าห้าชิ้นหรืออาจจะมีรางวัลสูงสุดที่ได้เพียงแค่เหรียญเงินก็ได้ ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการตัดสินและคุณภาพของผลงานที่เข้าประกวด

ซึ่งการตัดสินทั้งสองประเภทก็จะมีข้อดีข้อเสียต่างกันไปตามมุมมองของแต่ละคน ดังนั้นคงจะไม่สามารถบอกได้ว่าวิธีการตัดสินแบบไหนนั้นดีกว่า ขึ้นอยู่กับมุมมองของคนที่ส่งผลงานว่าชอบวิธีการตัดสินแบบไหนครับ อย่างในงานประกวดนี้ก็จะใช้การตัดสินทั้งสองแบบ อย่างเช่นโมเดลประเภทรถยนต์ หรือเครื่องบิน จะใช้การตัดสินแบบให้ถ้วยรางวัลที่ 1, 2, 3 ส่วนโมเดลประเภทฟิกเกอร์จะตัดสินแบบโอเพ่น ให้เป็นเหรียญรางวัล เป็นต้น

4. เรื่องของการจัดแสดงผลงาน จะนิยมวางผลงานลงบนโต๊ะที่ไม่มีรั้วกั้น โดยไม่มีตู้หรือกระจกครอบป้องกันผลงาน (ยกเว้นจะเตรียมมาเอง) และวางเรียงแยกประเภทที่ส่งประกวดเอาไว้เป็นหมวดหมู่ตามแต่ละโต๊ะ นอกจากนี้จะมีกระดาษให้เจ้าของผลงานเขียนชื่อผลงาน ประเภท และเขียนอธิบายถึงส่วนรายละเอียดที่ทำเพิ่มเติมหรือชุดแต่งที่ใช้ เอาไว้วางคู่กับผลงาน เพื่อช่วยให้คนที่มาชมผลงานนั้นเข้าใจถึงงานชิ้นนั้นๆได้ดียิ่งขึ้น บางคนอาจจะเตรียมภาพผลงานที่ดัดแปลงก่อนทำสี มาแสดงคู่กันกับผลงานก็ได้ 
ที่สำคัญแม้จะวางผลงานเอาไว้บนโต๊ะโล่งๆ และมีเด็กๆเข้ามาชมงานอยู่เนืองๆ แต่ผู้ปกครองที่มาด้วยก็จะเป็นคนคอยดูแลคอยสอนถึงวิธีการดูงานที่ถูกต้องว่าทำอย่างไร เป็นการปลูกจิตสำนึกที่ดีให้แก่เยาวชนที่น่าชื่นชมมากครับ

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าการจัดงานประกวดในต่างประเทศจะพยายามหารายได้จากส่วนต่างๆ เช่น การเก็บค่าส่งผลงาน ค่าเข้าชม ซื้อสลาก ค่าเช่าร้านสำหรับคนที่ต้องการขายสินค้าในงานประกวด หรือเก็บจากสมาชิกเป็นค่าสมาชิกชมรมประจำปี (ในกรณีที่จัดงานประกวดของแต่ละชมรม) เพื่อที่จะได้มีทุนไว้สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆที่จำเป็นสำหรับงานประกวด โดยที่ไม่ต้องคอยหวังพึ่งจากสปอนเซอร์เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะหากมีการแบ่งประเภทในงานประกวดที่หลากหลาย หรือการตัดสินแบบโอเพ่นที่ไม่ได้จำกัดจำนวนรางวัลที่จะแจกแล้ว แน่นอนว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนของถ้วยหรือเหรียญรางวัลที่มากพอสมควร (ในงานประกวดใหญ่ๆอาจจะแจกรางวัลกันมากกว่าร้อยรางวัลเลยทีเดียว) ดังนั้นการที่มีรายได้จากส่วนต่างๆเข้ามา จะทำให้ภาระค่าใช้จ่ายนั้นไม่ตกอยู่เฉพาะที่กลุ่มผู้จัดงานเพียงฝ่ายเดียว และค่าใช้จ่ายที่ผู้ส่งประกวดหรือผู้เข้าชมต้องเสีย ก็ไม่ได้มากจนกลายเป็นภาระเช่นเดียวกัน จึงเหมือนกับว่าทั้งสองฝายนั้นช่วยแบ่งเบาภาระให้กันและกัน และช่วยให้งานประกวดนั้นยังคงจัดต่อไปได้อย่างต่อเนื่องทุกๆปีครับ

ทั้งหมดนี้คือข้อแตกต่างที่ผมได้เห็นจากการที่ได้มาร่วมในงานประกวดครั้งนี้ และรู้สึกประทับใจในหลายๆเรื่อง ทั้งในส่วนของผู้ส่งผลงานที่ตั้งใจทำผลงานกันมาอย่างเต็มที่ ผู้เข้าชมที่เดินดูผลงานกันอย่างเรียบร้อย รวมถึงผู้จัดงานที่ทำงานได้อย่างเป็นระบบ งานนี้จัดเสร็จสิ้นในเวลาเพียงวันเดียว โดยเริ่มเปิดรับสมัครและเริ่มนำผลงานมาจัดแสดงกันตอนสิบโมงเช้า กรรมการมาตัดสินช่วงบ่าย และประกาศรางวัลและจับสลากกันช่วงเย็น งานเลิกและเก็บของกันเสร็จเรียบร้อยก่อนหกโมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาปิดทำการของพิพิธภัณฑ์ เป็นงานประกวดที่ราบรื่นมากๆและทุกๆคนก็ดูมีความสุขสนุกสนานกันดีครับ

สุดท้ายนี้ หวังว่าบทความนี้อาจจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย หากมีคนอ่านแล้วคิดว่าน่าสนใจและนำวิธีการเหล่านี้ไปลองใช้กับงานประกวดในบ้านเราดูบ้างก็คงจะดีครับ อาจจะช่วยทำให้งานประกวดนั้นทำได้อย่างต่อเนื่องหรือมีผู้สนใจมาร่วมส่งมากขึ้นก็เป็นได้ครับ