Monday, July 30, 2012

2.2. Making building from card board part 1 - general building

(การทำอาคารด้วยกระดาษ ตอนที่ 1 - อาคารแบบทั่วไป)
ในตอนที่ 1 นี้ จะเป็นการทำอาคารด้วยกระดาษแบบที่ไม่มีร่องรอยความเสียหายจากการโดนทำลาย รวมถึงอาคารแบบที่เราไม่ต้องการให้เห็นภายในของตัวอาคารครับ ตัวอย่างที่ทำมาให้ดูจะเป็นรูปแบบของอาคารโรงนาในแถบชนบทของยุโรป ซึ่งมีโครงสร้างอาคารแบบง่ายๆและไม่ซับซ้อน และทำออกมาในมาตราส่วน 1/35 ซึ่งสามารถนำวิธีการนี้ไปปรับใช้ในการสร้างอาคารที่มีรูปทรงที่ซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงการทำอาคารในมาตราส่วนอื่นๆ ได้เช่นเดียวกันครับ

ข้อดีของการทำอาคารด้วยกระดาษนั้น จะแตกต่างกับการทำอาคารด้วยปูนพลาสเตอร์ตรงที่จะช่วยลดน้ำหนักในการสร้างตัวอาคารได้มากครับ เพราะปูนพลาสเตอร์นั้นจะไม่เหมาะกับการทำอาคารที่มีความสูงมากๆหรือสูงหลายๆชั้น เนื่องจากเวลาทำส่วนของผนัง จะไม่ได้ใช้แผ่นปูนที่มีความหนามากนัก (ในมาตราส่วน 1/35 จะหนาเพียง 1-2 ซม.)เพื่อให้เหมาะสมกับมาตราส่วนที่ทำ จึงไม่สามารถที่จะรับน้ำหนักมากๆได้ ทำให้มีโอกาสที่จะหักหรือพังได้ง่ายกว่า ส่วนการทำอาคารกระดาษนั้นถ้าเลือกใช้กระดาษที่มีความหนาและแข็งตัว อย่างเช่นกระดาษชั้น หรือกระดาษโฟโต้บอร์ด ที่มีความหนาเพียง 6 มม. ก็สามารถจะสร้างอาคารที่มีความสูงมากๆได้ โดยที่รูปทรงนั้นยังคงรูปได้ดีและมีความแข็งแรงทนทานกว่า
ข้อดีอีกอย่างคือการทำอาคารด้วยกระดาษจะใช้เวลาในการทำงานน้อยกว่าปูนพลาสเตอร์ โดยเฉพาะอาคารแบบปิดที่มองไม่เห็นภายในและมีรายละเอียดบนตัวอาคารไม่มากนัก ถึงแม้กระดาษที่ใช้จะมีความหนาไม่มาก แต่เมื่อประกอบเข้าด้วยกัน และมองไม่เห็นภายในแล้ว ก็จะดูหลอกตาเหมือนกับเป็นอาคารที่มีความหนาแบบเดียวกับการใช้ปูนพลาสเตอร์ครับ



วิธีการที่นำมาลงนี้ ต้องขอขอบคุณ พี่โปรในป่า และคุณ M4Sherman แห่งเวป Thaimsot ที่นำวิธีการทำมาลงให้ดูและเป็นแรงบันดาลใจให้ลองทำอาคารในแบบวิธีนี้ด้วยนะครับ ลองดูกันไปทีละขั้นเลยครับ 
กระดาษที่นำมาใช้ทำตัวบ้านเป็นกระดาษชั้น ( แบบเดียวกับที่ใช้ในหัวข้อ 1.1. การทำฐานวางโมเดล ) โดยผมจะเลือกใช้อยู่ 2 ความหนา คือ 3 มม. และ 6 มม. ครับ

1. ขั้นตอนแรกจะต้องทำการวัดขนาดของตัวบ้านทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านหน้าบ้าน ด้านหลัง ด้านข้างทั้งสองด้าน รวมถึงหลังคาและพื้น โดยใช้ฟิกเกอร์ขนาด1/35มาวางเทียบเพื่อกำหนดสัดส่วน (ขออภัยที่ไม่ได้ถ่ายขั้นตอนนี้ไว้ครับ ในครั้งหน้าจะนำภาพวิธีการมาลงให้ดูกันอีกทีครับ )ทั้งความกว้างและความสูงของประตูหน้าต่าง ส่วนรูปแบบของอาคารที่จะทำ ถ้านึกไม่ออกก็ลองเซิจหาในเน็ท หรืออาจจะลองทำเลียนแบบของสำเร็จที่มีขายอยู่ อย่างของยี่ห้อ Mini Art หรือ Verlinden Productions ก็ได้ครับ
แผ่นกระดาษส่วนที่เป็นผนังหน้าบ้าน ผมจะใช้แบบความหนา 3 มม. เพราะสามารถที่จะตัดหรือเจาะช่องประตูและหน้าต่างได้ง่ายกว่า รวมถึงจะได้ทำรอยแตกของตัวบ้านที่มองเห็นผนังอิฐได้ด้วย โดยการตัดกระดาษให้ดูเหมือนรอยแตกหัก จากนั้นค่อยเอาแผ่น 3 มม. อีกแผ่นที่วัดขนาดไว้เท่ากันมาประกบอีกที ส่วนขอบของประตูหรือหน้าต่าง ถ้าต้องการให้ดูมีความหนามากขึ้น ให้ใช้กระดาษตัดเป็นแถบยาว และติดตามขอบด้านในของประตูหรือหน้าต่าง เพราะส่วนนี้จะเป็นส่วนที่มองเห็นได้ชัด จะได้ดูหลอกตาว่าอาคารนั้นดูมีความหนามากขึ้น ส่วนผนังอื่นๆใช้กระดาษแบบ 6 มม. จะมีความหนาและแข็งแรงกว่า ประกอบทั้งหมดเข้าด้วยกันด้วยกาว UHU (อาจจะตัดกระดาษเสริมเป็นคานไว้ด้านในเพิ่มด้วยก็ได้ครับ เพื่อให้ผนังบ้านนั้นแข็งแรงมากขึ้นและไม่โก่งหรือบิดงอ)
การทำก้อนอิฐ ผมใช้แผ่นไม้ก็อก
(cork) สำหรับงานโมเดลสถาปัตย์ หาซื้อได้ตามแผนกเครื่องเขียนเช่นเดียวกัน นำมาตัดเป็นก้อนแล้วเรียงติดลงไปด้วยกาวลาเท็กซ์ จากนั้นใช้เสปรย์กระป๋องสีดำพ่นด้านในของตัวบ้าน เพื่อที่เวลาติดประตูแล้วมองลอดเข้าไปจะดูเป็นเงามืดๆและมองไม่เห็นสีของกระดาษครับ ถ้าตัวอาคารที่ทำนั้นมีหน้าต่างหรือกระจกก็ใช้สีดำพ่นหลอกด้านในแบบนี้เช่นเดียวกันครับ 


2. ด้านนอกก็ใช้สีดำพ่นเช่นเดียวกัน เพื่อที่กระดาษจะได้ดูดสีและทำให้ผิวกระดาษแข็งตัวและสามารถขัดหรือโดนน้ำได้ครับ จากนั้นใช้พุตตี้ (Tamiya Putty) ผสมกับทินเนอร์ให้ข้นๆ เอาพู่กันเบอร์ใหญ่ที่พังแล้วหรือเก่าๆมาแปะๆและกดลงไปให้พื้นผิวนั้นดูขรุขระ วิธีนี้จะเป็นการช่วยลบรอยต่อระหว่างแผ่นกระดาษไปด้วยในตัวครับ 


3. เมื่อทิ้งให้แห้งสนิทซัก 1 วันแล้วใช้กระดาษทรายมาขัดหรือลูบอีกที ตามแต่ความต้องการให้ผิวอาคารนั้นขรุขระมากน้อยแค่ไหน ก็จะได้พื้นผิวของอาคารแบบที่เห็นครับ 


4. ใช้ดินสอพองผสมกับน้ำ มาทาให้ทั่วร่องอิฐครับ แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดออก ดินจะไปอุดอยู่ตามร่องอิฐดังภาพ ส่วนหลังคาใช้กระดาษแข็ง อารต์การ์ดแบบบางมาตัดเป็นสี่เหลี่ยมแล้วติดเรียงไปอีกที โดยเรียงจากแนวล่างสุดและไล่ทับขึ้นไปด้านบนทีละชั้น 


5. อุปกรณ์ต่างๆบนตัวบ้านที่เป็นไม้ ใช้ไม้บัลซ่าแบบแผ่นหนา 2 มิลทำครับ ผสมกับแท่งพลาสติก แผ่นตะกั่ว และลวดทองแดง ผมทำแบบให้ประกอบแยกชิ้นได้ เพื่อความสะดวกในการทำสีครับ 


6. พื้นดินใช้ดินปั้นยี่ห้อ DAS เช่นเดิม จากนั้นโรยด้วยทราย และเศษดินเศษหิน เอากาวลาเท็กซ์ผสมน้ำมาชโลมให้ทั่วอีกทีเพื่อให้ทรายนั้นยึดเกาะผิวได้แน่นหนา 


7. เมื่อทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ครับ อุปกรณ์ต่างๆบนตัวบ้าน ลองนำมาติดดู แล้วค่อยไปแยกทำสีทีหลัง นำหญ้ามาติดตามวิธีที่ได้เคยลงไว้ก่อนหน้านี้ครับ และเอาดอกไม้แห้งมาเสียบเป็นพุ่มไม้อีกที 


หลังจากทำสีเสร็จเรียบร้อยครับ 





จากภาพ จะเห็นว่าประตูบานใหญ่ที่เปิดแง้มเอาไว้จะมองไม่เห็นภายในเพราะใช้สีดำพ่นเอาไว้ ส่วนภาพสุดท้ายที่มีหน้าต่างกระจกก็ใช้วิธีพ่นสีดำไว้ด้านในเช่นเดียวกันครับ เพื่อให้ดูหลอกตาว่าภายในบ้านนั้นไม่ได้ตันและดูมีพื้นที่ลึกเข้าไปภายในครับ 


สำหรับการทำบ้านด้วยกระดาษนั้นจะใช้เวลาในการทำงานไวมากครับ จะเสียเวลาแค่ตรงรอให้พุตตี้แห้ง กับการนั่งเรียงแผ่นหลังคาเท่านั้น ซึ่งเฉพาะตัวบ้านเอง กับอุปกรณ์ไม้ต่างๆ ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงก็เสร็จแล้วครับ ในตอนเริ่มต้นอาจจะยากตรงการวาดแบบตัวบ้านทั้ง 4 ด้าน ให้มีขนาดที่เหมาะสมเข้ากับตัวฉากที่วาง และสามารถนำกระดาษมาประกอบกันแล้วลงตัว ไม่เบี้ยวไปมา แต่ถ้าได้ลองทำเรื่อยๆให้เกิดความชำนาญ จะสามารถวาดแบบให้ลงตัวได้อย่างง่ายดายครับ

Friday, July 27, 2012

2.1. Making a building from plaster

(การทำอาคารด้วยปูนพลาสเตอร์)  

This article scanned from AFV MODELLER Magazine Issue.9 ; "Home Help" by Marijn Van Gils

ในขั้นตอนนี้ ขอใช้การแสกนภาพวิธีการที่ฝรั่งได้ทำเอาไว้มาแปลและเรียบเรียงให้ชมกันแทนนะครับ น่าจะเข้าใจและเห็นภาพขั้นตอนต่างๆได้ชัดเจนกว่าผมทำเอง เป็นวิธีการทำตึกจำลองจากปูนพลาสเตอร์ของ Marijn Van Gils ครับ จากหนังสือ AFV MODELLER Issue.9 วิธีนี้เป็นรูปแบบของการทำอาคารที่ผมใช้อยู่ตลอด โดยเฉพาะการทำอาคารที่เกิดความเสียหายหรือถูกทำลายจะทำออกมาได้ดูสมจริงกว่าวัสดุอื่นๆ เพราะลักษณะของปูนพลาสเตอร์นั้นจะแกะรายละเอียดต่างๆและทำให้แตกหักได้ง่าย ซึ่งจะดูใกล้เคียงกับอาคารจริงที่สร้างด้วยปูนหรืออิฐมากกว่าวัสดุชนิดอื่นๆครับ แต่ข้อเสียก็คือเรื่องของน้ำหนักที่จะมากตามขนาดของตัวอาคารที่ทำครับ
ขออธิบายตามภาพประกอบทีละขั้นเลยนะครับ ขออภัยด้วยที่แสกนมาไม่ค่อยชัด สงสัยตรงไหนก็สอบถามได้ครับ

1. วาดแบบของอาคารที่จะทำในลักษณะกลับด้านจากความจริง เช่น ประตูจริงอยู่ซ้าย ก็ให้วาดไว้ทางขวาครับ วาดลงบนวัสดุผิวเรียบ ในทีนี้แนะนำแผ่นพลาสติกครับ ที่มีความหนามากหน่อย เพราะจะง่ายต่อการกั้นขอบ แต่ถ้าหาไม่ได้จริงๆ ใช้แผ่นกระเบื้องหรือกระจกก็ได้ครับ ส่วนกระดาษนั้นไม่แนะนำครับ เพราะจะเสียรูปทรงเมื่อโดนน้ำ และถ้าจะใช้แผ่นไม้ ต้องเคลือบผิวไม้ให้เรียบและเงาครับ ไม่อย่างนั้นปูนจะติดและแกะออกยาก
2. ใช้แผ่นพลาสติกหนา 1.5 มิล หรือมากกว่านั้น นำมาติดเข้าไปบนพื้นที่ด้านบนของกำแพงที่วาดเอาไว้ เพื่อจำลองความหนาของกำแพงที่มีระดับพื้นผิวต่างกันจากหินที่ใช้ก่อเป็นฐานของกำแพงและหน้าต่าง
3. กั้นขอบทั้ง 4 ด้านด้วยแผ่นพลาสติกให้แน่นหนาครับ ในสเกล 1/35 ขนาดความหนาของขอบกำแพงจะหนาประมาณ 1 ซม. ตัดแผ่นพลาสติกให้กว้าง 1 ซม. และนำมากั้นขอบให้ได้ระดับความสูงเดียวกันทั้ง 4 ด้าน เพื่อความสะดวกในการปาดผิวปูนพลาสเตอร์ให้เรียบเสมอกัน ข้อดีของพลาสติกคือตัดแต่งและติดกาวง่าย แข็งแรง และยังสามารถดัดโค้งได้ด้วย อย่างในภาพครับ 



4. เป็นรูปแบบปูนที่เขาใช้ครับ บ้านเราก็ใช้ปูนพลาสเตอร์ธรรมดาทั่วไปครับ
5. ผสมปูนกับน้ำ และคนให้เนื้อปูนละลายอย่างทั่วถึง ไม่จับเป็นก้อน และไม่เหลวหรือข้นจนเกินไป หลังจากคนแล้ว ถ้ามีฟองอากาศก็ตักออกให้มากที่สุดครับ
6. เทปูนลงไปให้ทั่วแบบให้ล้นเกินออกมาหน่อยก็ได้ครับ 



7. หลังจากปูนเริ่มเซ็ทตัว คือเริ่มแข็งแล้วแต่ยังไม่มาก ปูนไทยน่าจะ ในช่วง 5 -10 นาทีครับ ใช้ไม้บรรทัดเหล็กมาปาดที่ขอบให้เรียบเสมอกัน
8. เมื่อปาดผิวด้านบนแล้ว พื้นผิวจะเรียบเสมอกันกับขอบที่เราได้กั้นเอาไว้ครับ และทิ้งใว้จนแข็งตัวและแห้งสนิทประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
9. แกะขอบที่กั้นออกครับ
10. เสร็จขั้นตอนทำรูปทรงขั้นแรกแล้วครับ จากภาพจะเห็นผลของการติดแผ่นพลาสติกในภาพที่ 2 ที่ทำให้พื้นผิวของกำแพงนั้นแบ่งออกเป็น 2 ระดับครับ ปูนพลาสเตอร์นั้นจะแข็งตัวและแห้งแค่ภายนอกครับ ต้องทิ้งไว้เป็นวัน ถึงจะแห้งสนิททั้งหมด ถ้าจับแล้วยังชื้นๆอยู่ก็จะสามารถตัดแต่งและแกะลายได้ง่ายครับ แต่ก็จะเปราะและแตกง่ายด้วย 



11. เริ่มทำการแกะลายของหิน โดยวาดเส้นในแนวขวาง
12. ใช้เข็มในการแกะลาย กับไม้บรรทัดเหล็ก ซึ่งตัวผมเองจะเอาเข็มที่แถมมากับกาวช้าง ไปติดในปากกาที่เอาไส้ออกให้แน่นด้วยกาวปะเหล็กครับ จะได้จับถนัดและทำงานสะดวก 



13. การแกะลายนั้นมี 2 แบบครับ คือลากตามแนวจากบนลงล่าง และอีกวิธีที่เค้าใช้คือ การลากจากล่างขึ้นบน ซึ่งถ้าดันเข็มด้วยแรงที่มากหน่อยจะทำให้ขอบของเส้นนั้นแตกออกมาด้วย
และจะได้ลักษณะของหินที่ดูเป็นธรรมชาติ
14. ลากเส้นในแนวตั้งด้วยวิธีแบบเดียวกันครับ
15. กำแพงที่แตกและหักนั้น ทำโดยใช้คีมตัดพลาสติกครับ ทางที่ดีควรจะขีดเส้นแนวหักที่ต้องการไว้ก่อน แล้วใช้มีดอาร์ตไนฟ์ตัดนำร่องไว้ก่อน เพื่อกันการแตกหักของปูนที่จะควบคุมยาก
16. วาดลายของส่วนกำแพงที่กระเทาะออกจนมองเห็นผนังอิฐ และใช้มีดขูดปูนออกตามแนวเส้นที่เขียนไว้เพื่อนำร่อง พยายามทำให้แนวที่แตกออกนั้นดูสมจริงครับ 



17. ส่วนที่เหลือขูดออกด้วยมีดอาร์ตไนฟ์ พยายามขูดให้ผิวนั้นเรียบเสมอกัน และจะได้ลักษณะของปูนที่ฉาบทับบนอิฐนั้นแตกออก และเห็นระดับพื้นผิวที่แตกต่างกันได้ชัดเจนขึ้น
18. ใช้เข็มขูดลายของอิฐตามแนวขวาง
19. จากนั้นก็ขูดลายตามแนวตั้ง บางส่วนของตามมุมก้อนอิฐ ใช้มีดอารต์ไนฟ์แต่งให้ดูมีร่องรอยที่หักพัง และมีความสูงต่ำไม่เท่ากัน จะดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น
20. ด้านข้างของกำแพงก็แกะลายของอิฐด้วยเช่นเดียวกันครับ 



21. ในการยึดปูนเข้าด้วยกันนั้น เค้าใช้ กาวอีพอคซี่ครับ น่าจะเหมือนกับกาวอีพอคซี่ของ alteco ในบ้านเราที่มีขายทั่วไปตามร้านก่อสร้างครับ ตัวผมเองจะใช้กาวยาง UHU หรือไม่ก็กาวลาเท็กซ์ครับแต่จะใช้เวลาแห้งช้ามากๆ ต้องทิ้งไว้เป็นวันครับ
22. ส่วนการอุดรอยต่อที่ไม่แนบกันสนิทจากการต่อกันของชิ้นปูน ก็ใช้กาวอีพอคซี่เช่นเดียวกัน วิธีของผมใช้แป้งดินสอพองครับ หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ผสมกับน้ำและทาตามรอยให้หนาๆ
23. จากนั้นก็ปาดส่วนที่เกินออก ถ้าเป็นดินสอพองต้องใช้น้ำช่วย โดยเอาปลายไม้บรรทัดเหล็กจุ่มน้ำ แล้วปาดให้เรียบเป็นผิวเดียวกัน ถ้ามีส่วนเกินหลงเหลือก็ใช้พู่กันจุ่มน้ำมาทาเกลี่ยอีกทีได้ครับ
24. เสร็จออกมาจะดูเรียบเนียน ไร้รอยต่อ เป็นชิ้นเดียวกัน 



25. วิธีทำขอบหน้าต่างที่ยื่นออกมา ด้วยปูนที่ผสมให้ข้นหน่อย และเทลงบนขอบล่างของหน้าต่าง
26. กำแพงปูนจะดูดน้ำจากปูนที่เทลงไปใหม่ ทำให้แห้งเร็ว แต่ยังไม่แห้งสนิท สามารถตัดแต่งรูปทรงได้ง่ายด้วยใบมีดคัตเตอร์คมๆ
27. เสร็จแล้วครับ เค้าบอกว่าตรงส่วนนี้ใช้เวลาไม่ถึง 3 นาที
28. ขั้นต่อไป เป็นการทำกระเบื้องหินมุงหลังคาครับ ผสมปูนให้ข้นๆ แล้วเทลงบนแผ่นกระจกหรือกระเบื้อง 



29. ช่วงที่ปูนกำลังแข็งตัว ตัดออกมาตามรูปทรงที่ต้องการ
30. ได้ออกมาเป็นแผ่นยาว 



31. เฉือนปูนด้านบนออกให้มุมลาดลงด้านหนึ่ง
32. ตัดส่วนด้านข้างออก
33. จากนั้นก็นำไปแกะลายและทำเท็กซ์เจอร์ครับ
34. ภาพรวมทั้งหมด 



35. Texture ของหินทำด้วยแปรงลวดครับ ปัดๆขูดๆเบาๆ หรือจะใช้กระดาษทรายเบอร์หยาบๆก็ได้ครับ ด้วยการตัดเป็นแผ่นเล็กๆ แล้วนำมา ตบๆ ลงบนผิวของปูน
36. ออกมาสวยมากครับ
37. วิธีการทำ Texture ของกำแพงปูน เข้าใช้สีน้ำมัน Humbrol ผสมกับ Talcum powder ผมไม่แน่ใจว่าเหมือนกับแป้งเด็กทั่วไปรึเปล่า ผสมกันให้ข้นๆเหมือนโคลนครับ หรืออาจจะใช้พุตตี้ผสมกับทรายละเอียดมาทำแทนเทคเจอร์ก็ได้ครับ
38. ทาลงบนพื้นผิวกำแพง แล้วใช้พู่กันแบนกดๆให้ทั่ว จนเกิดพื้นผิวขึ้นมาครับ 



39. การทำ Texture ด้วยวิธีนี้ สามารถทำพื้นผิวได้หลายแบบ อยู่ที่การผสมแป้งหรือทรายลงไปมากน้อยแค่ไหน และพู่กันขนาดต่างๆกัน ก็ให้ผลแตกต่างกัน รวมไปถึง การกดพู่กัน จิ้ม หรือลาก ก็ให้ลักษณะที่ต่างกันครับ
40. เสร็จสมบูรณ์ครับ เขาบอกว่าใช้เวลาในการทำทั้งหมดนี้ ประมาณ 3 ชั่วโมง ซึ่งรวมเวลาที่รอให้ปูนแห้ง และการถ่ายรูปขั้นตอนในการทำงานด้วย เป็นการทำงานที่ไม่ยากจนเกินไป และสามารถนำไปพัฒนาต่อ สู่การทำตึกที่มีขนาดใหญ่และรูปแบบที่ซับซ้อนกว่านี้ได้ ตามภาพตัวอย่างผลงานชิ้นอื่นๆที่เค้าทำครับ 



ผลงานที่เคยได้รางวัลจากการประกวดในยุโรปครับ ตัวอาคารที่เห็นสร้างขึ้นเองทั้งหมดด้วยปูนพลาสเตอร์เป็นหลักครับ 

Some of his works and its won a gold from Euro Militaire.


2. Intermediate (ขั้นกลาง)

ในหัวข้อที่ 2 นี้จะเป็นขั้นตอนของการทำงานที่มีรายละเอียดและความซับซ้อนในการสร้างชิ้นงานเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น การขึ้นรูปโครงสร้างอาคารต่างๆด้วยตัวเอง หรือการสร้างต้นไม้ชนิดต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับอัตราส่วนของฉากจำลองของเรา ซึ่งการสร้างชิ้นงานในลักษณะที่กล่าวมา จะมีเรื่องของการคำนวนขนาดตามมาตราส่วนมาเกี่ยวข้องด้วย เพราะในการทำงานโมเดลที่มีเรื่องของอัตราส่วนเป็นตัวกำหนดขนาดของตัวโมเดลนั้น การคำนวนขนาดและความสูงของตัวโมเดลเปรียบเทียบกับขนาดของจริงจะมีส่วนในการช่วยให้ฉากจำลองที่เราทำนั้นดูสมเหตุสมผลและสอดคล้องไปกับมาตราส่วนที่เราทำอยู่ครับ ไม่ดูโอเวอร์สเกลผิดขนาดกันจนเกินไป และสามารถช่วยในการกำหนดขนาดของตัวฉากจำลองรวมถึงองค์ประกอบอื่นๆที่จะอยู่ร่วมในฉากได้ทั้งหมด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าในการทำฉากจำลองทุกๆครั้ง จะต้องแม่นยำกับเรื่องขนาดและอัตราส่วนกันแบบเป๊ะๆในการทำงานนะครับ เอาแค่พอใกล้เคียงหรือตามที่แต่ละท่านจะสะดวกก็พอครับ เพราะตัวผมเองก็ไม่ได้มานั่งคำนวนทุกๆครั้งที่ทำงาน อาศัยความเคยชินและกะขนาดเทียบกับตัวโมเดลเอา แต่คิดว่าการที่ได้อธิบายถึงเหตุผลและที่มาที่ไปของการทำงานแบบที่ต้องคำนวนนี้ก่อน น่าจะช่วยให้เข้าใจถึงขั้นตอนและวิธีการขึ้นชิ้นงานกันได้ง่ายมากขึ้นครับ และอย่างที่ได้บอกไว้ ว่าการทำงานของผมเป็นอีกเพียงแนวทางหนึ่งในการทำงาน ดังนั้นท่านต้องพิจารณาและนำไปปรับใช้ให้เข้ากับวิธีการทำงานของตัวท่านเอง จะดีที่สุดครับ

การคำนวนเปรียบเทียบมาตราส่วน (How to calculate the scale)

มาพูดถึงเรื่องของมาตราส่วนกันก่อน เผื่อหลายๆท่านอาจจะยังไม่ทราบ มาตราส่วนที่เราเห็นกันจนชินตาไม่ว่าจะเป็นสเกล 1/35 , 1/48 , 1/72 , 1/100 , 1/144 คืออัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างของจริงที่เป็นต้นแบบกับตัวโมเดลที่ถูกย่อส่วนลงมาเป็นจำนวนเท่า เช่น 1/35 คือถูกย่อส่วนลงมาจากของจริง 35 เท่า หรือ 1/144 ย่อส่วนลงมาจากของจริง 144 เท่า เป็นต้น ดังนั้นการที่จะหาขนาดในการสร้างอาคารหรือโครงสร้างต่างๆที่อยู่ร่วมภายในฉากจึงต้องใช้การคำนวน ช่วยให้มีขนาดที่เหมาะสมกับตัวโมเดลและฉากจำลองที่เราจะทำ โดยสูตรการคำนวนที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ ใช้สัดส่วนของความสูง ความกว้าง หรือ ความยาว จากของจริง (เลือกมา 1 อย่างและใช้หน่วยเป็นเซ็นติเมตร) เป็นตัวตั้งและหารด้วยมาตราส่วนของโมเดลที่เราทำครับ
 

ยกตัวอย่างเช่น คนในมาตราส่วน 1/35 ถ้าคิดความสูงเฉลี่ยจากคนจริงรูปร่างแบบฝรั่งคือ สูง 180 ซม. นำมาหารด้วยมาตราส่วนของโมเดลคือ 35 จะได้ความสูงของตัวคนที่สูง 180 ย่อมา 35 เท่า คือ 5.14 ซม.กว่าๆ
 

หรือถ้าบ้านมีขนาดความสูงของแต่ละชั้นอยู่ที่ 3 เมตร เมื่อเทียบมาตราส่วน 1/100แล้ว บ้านแต่ละชั้นจะมีความสูงคือ 300 หารด้วย 100 จะได้ความสูงของแต่ละชั้นเท่ากับ 3 ซม. ครับ
ดังนั้นถ้าจะหาทั้งความยาว ความกว้างและความสูง ก็จะต้องมานั่งคำนวนเปรียบเทียบสัดส่วนกันทั้งหมดเพื่อให้ได้สัดส่วนที่แน่นอนครับ (ตัวผมเองเวลาทำงานมักจะหาแต่ส่วนสูงและปัดเศษขึ้นเพื่อให้ทำงานและวัดขนาดได้ง่ายขึ้น เช่น 5.14 ซม. ก็ปัดเป็น 5.2 ไปเลย ส่วนความกว้างความยาวจะอาศัยกะเอาตามความเหมาะสมมากกว่า)

อีกวิธีในการวัดสัดส่วนที่ถูกต้องและแม่นยำกว่าคือการใช้ไม้บรรทัดที่ทำการเปรียบเทียบมาตราส่วนมาให้แล้ว ที่เรียกกันย่อๆว่า สเกล (scaleruler) หรือ ไม้บรรทัด 3 เหลี่ยมครับ เป็นอุปกรณ์พื้นฐานของคนที่เรียนทางด้านการออกแบบและใช้ในการเขียนแบบประเภทต่างๆ หาซื้อได้ตามแผนกเครื่องเขียนในห้างทั่วไป ไม้บรรทัด 3 เหลี่ยมนี้จะแบ่งช่องของขีดในไม้บรรทัดเอาไว้ตามมาตราส่วนที่ย่อลงมาและมีให้วัดได้หลายมาตราส่วนในไม้บรรทัดเดียว ลองดูตามภาพครับ ในไม้บรรทัดด้านขวาจะเห็นแถบสีเหลืองที่มีเขียนว่า 300 cm และ 30 m ซึ่งไว้ใช้วัดขนาดมาตราส่วน 1/10 และ 1/100 ตามลำดับ จะเห็นว่าการแบ่งช่องของตัวเลขและขีดจะเท่ากับไม้บรรทัดทั่วไป เพราะ 1 ซม. ในขนาดจริงเทียบเท่ากับ 10 ซม. และ 10 ม. ในมาตราส่วน 1/10 และ 1/100 ครับ  



สำหรับไม้บรรทัดแบบที่มีมาตราส่วนที่ตรงกับของตัวโมเดลแต่ละประเภทเองนั้น เท่าที่ทราบมีบริษัทโมเดลบางยี่ห้อที่ผลิตออกมา แต่อาจจะหาซื้อยากหน่อยในบ้านเรา ถ้าหาไม่ได้จริงๆก็ใช้การคำนวนตามตัวอย่างข้างบนได้ครับ

Wednesday, July 25, 2012

1.7. Making concrete or asphalt road on a large base

(การทำพื้นถนนสมัยใหม่บนฐานขนาดใหญ) 
วิธีการที่ทำมาเป็นตัวอย่าง จะเป็นลักษณะของพื้นถนนแบบราดยางมะตอย (Asphalt) ที่พบเห็นได้ทั่วไปในเมืองสมัยใหม่ครับ ในขั้นตอนนี้ผมไม่ได้ถ่ายรูปไว้ละเอียด จึงขออธิบายเป็นตัวหนังสือเยอะๆแทน ถ้าอ่านแล้วยังงงๆหรือมีข้อสงสัยก็สอบถามกันได้ครับ การทำพื้นถนนสมัยใหม่ที่ทำมาให้ดูจะมีอยู่สองวิธีครับ


1.7.1 Making a road from card board  
         (การทำพื้นถนนด้วยกระดาษชั้น)
 

ตัวอย่างที่ทำมาลงนี้ จะเป็นการทำถนนแบบนอกเมืองที่ด้านข้างถนนเป็นพื้นดินในขั้นแรกผมจะใช้กระดาษชั้นมาต่อให้เป็นกล่องก่อนครับ จากนั้นตัดกระดาษชั้นอีก 1แผ่นให้มีขนาดเท่ากับกล่องที่ทำไว้ แต่ตัดด้านนึงให้เฉียงเพื่อเป็นการกำหนดแนวของถนนและไหล่ทางด้านข้างถนน แล้วใช้กระดาษทรายขัดตรงส่วนของริมไหล่ทางให้มีขอบมนครับ (กระดาษชั้น สามารถใช้กระดาษทรายขัดตามขอบหรือมุมได้ครับ แต่ถ้าขัดที่ผิวหน้ากระดาษโดยตรงจะทำให้ผิวกระดาษนั้นหลุดลอกออกมาเป็นแผ่นๆ) แล้วจึงทำส่วนพื้นดินด้วยดินละเอียดและกาวลาเท็กซ์เหมือนในขั้นตอนก่อนๆครับ 




พื้นผิวของกระดาษชั้นจะไม่เรียบเป็นเนื้อเดียวกัน แต่จะมีความขรุขระอยู่เล็กน้อย ซึ่งเหมาะจะเอามาทำเป็นผิวของถนนครับ ขั้นตอนในการทำคือจะต้องพ่นสีลงไปที่ผิวของกระดาษก่อน เพื่อให้เนื้อกระดาษนั้นดูดสีเข้าไปและทำให้ผิวกระดาษมีความแข็งตัวมากขึ้นและสามารถขัดได้ด้วยกระดาษทราย ด้วยการใช้สีสเปรย์กระป๋องสีเคลียร์ใสพ่นลงไปให้ทั่วพื้นผิวก่อน 1 รอบ (แลคเกอร์จะช่วยเคลือบให้ผิวของกระดาษนั้นแข็งตัวได้ดีกว่าสีธรรมดาทั่วไปที่เวลาพ่นลงไปแล้วจะโดนดูดสีมากกว่า) พอแห้งแล้วค่อยเอาสีดำมาพ่นทับลงไปให้ทั่วๆจนสีทึบอีกที หรือจะใช้สีอื่นก็ได้เช่นเดียวกันครับ ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วพ่นเคลียร์ทับอีกรอบ เมื่อผิวของกระดาษแห้งสนิทแล้วจะแข็งพอให้เราใช้กระดาษทรายขัดให้ผิวกระดาษนั้นสม่ำเสมอขึ้นได้ เหมือนกับผิวถนนจริงๆที่จะมีทั้งผิวขรุขระและผิวที่เรียบ จากการโดนกดทับของน้ำหนักรถครับ ต่อไปใช้กระดาษทรายเบอร์หยาบๆเช่น 220 หรือ 400 มาขัดให้ทั่วพื้นผิวอีกที ซึ่งในขั้นตอนนี้จะยิ่งเห็นได้ชัดถึงลักษณะของผิวตามแต่การขัดของเราครับ ถ้าขัดน้อยผิวก็จะหยาบมากแต่ถ้าขัดมากผิวก็จะเรียบมากขึ้น

หลังจากนั้นจึงนำไปทำสีตามความถนัดครับ มีข้อแนะนำนิดนึงคือสีของยางมะตอยนั้นเมื่อราดลงไปใหม่ๆสีจะดำครับ แต่เมื่อผ่านไปนานๆจากการถูกใช้งานและผ่านฝนผ่านแดด สีดำก็จะค่อยๆซีดลงจนกลายเป็นสีเทา แบบที่เห็นกันทั่วๆไป




ภาพผลงานเมื่อเสร็จแล้ว ในภาพแรกอาจจะยังไม่เห็นถึงลักษณะของพื้นผิวถนนที่ได้ทำเอาไว้ เพราะความหยาบของผิวถนนนั้นไม่ได้มากจนขรุขระและสีจะดูกลืนๆกันไปหมด ในภาพสุดท้ายจึงจะเห็นถึงลักษณะของผิวกระดาษได้อย่างชัดเจนครับ 



1.7.1 Making a road from sandpaper  
         (การทำพื้นถนนด้วยกระดาษทราย)
 
วิธีนี้ไปอ่านเจอที่ฝรั่งเค้าทำไว้ครับ เลยเอามาทดลองทำดูเป็นรูปแบบของถนนภายในเมืองที่มีเกาะกลางถนน เริ่มด้วยการทำกล่องขึ้นมาก่อนด้วยกระดาษชั้นเช่นเคย จากนั้นนำกระดาษทรายมาติดทับที่ผิวหน้าด้านบนของกล่องด้วยสเปรย์กาวหรือกาวลาเท็กซ์ โดยพยายามติดให้แนบสนิทไปกับผิวกล่องโดยที่ไม่มีรอยยับหรือโป่งพองครับ ซึ่งวิธีการนี้พื้นผิวของถนนจะหยาบมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับเบอร์ของกระดาษทรายที่เราเอามาติดครับ อย่างที่ผมใช้คือกระดาษทรายเบอร์ 400 ผิวที่ได้จึงไม่หยาบมากนัก 



ส่วนเกาะกลางถนนก็ทำจากแผ่นปูนพลาสเตอร์ ขัดมุมให้มนด้วยกระดาษทรายครับ และทำพื้นดินตรงกลางด้วยวิธีการเดียวกัน จากนั้นจึงนำไปทำสีตามถนัดครับ 


ผลงานเมื่อเสร็จแล้ว 



วิธีที่ 2 นี้จะค่อนข้างง่ายและใช้เวลาน้อยกว่ามาก แต่ลักษณะของพื้นผิวที่ได้ออกมาจะดูเรียบและเป็นระเบียบเท่าๆกัน แตกต่างกับวิธีที่ 1 ที่จะดูขรุขระมากกว่าครับ นอกจากการทำพื้นถนนทั้งสองวิธีนี้แล้ว เราสามารถใช้วัสดุชนิดอื่นๆมาทำพื้นถนนได้เช่นเดียวกันครับ เช่น ใช้แผ่นกระดาษที่มีผิวเรียบหรือมันอย่าง กระดาษอารต์การด์ กระดาษโฟโต้บอรด์ หรือการใช้แผ่นอะครีลิค แผ่นพลาสติกชนิดต่างๆ หรือการหล่อเป็นแผ่นปูนขึ้นมาเอง เป็นต้น ซึ่งลักษณะพื้นผิวของวัสดุที่กล่าวมาก็จะให้ผลลัพท์ออกมาแตกต่างกัน (วัสดุผิวเรียบน่าจะเหมาะกับการทำถนนประเภทที่ใช้การเทด้วยปูนซีเมนต์มากกว่าครับ)

 -----------------------------------------------
  ----------------------------------------------- 

Conclusion for Basic Techniques  
(สรุปขั้นพื้นฐาน)

ทั้ง 7 ข้อที่ได้ทำมาเป็นตัวอย่าง ได้มุ่งเน้นไปที่การทำพื้นของฉากเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นเหมือนกับขั้นพื้นฐานหรือเบสิคที่ต้องใช้อยู่เป็นประจำในการทำฉาก จำลองครับ ถ้าเราได้ลองทำจนเกิดความชำนาญในขั้นพื้นฐานนี้แล้ว จะสามารถจะนำไปประยุกต์หรือดัดแปลงให้เกิดความหลากหลายได้มากขึ้น ทั้งจากความคิดสร้างสรรค์ในการจัดวางรูปแบบฉากจำลองของตัวเราเอง รวมถึงการเลือกวัสดุอุปกรณ์อื่นๆมาใช้งาน ที่นอกเหนือไปจากที่ผมได้พูดถึงไว้ครับ เพราะว่าการทำฉากจำลองนั้นไม่มีรูปแบบการทำงานที่ตายตัว เราสามารถที่จะใช้วิธีการใดหรือวัสดุแบบใดก็ได้ตามความถนัดหรือสะดวกเพื่อ ให้ได้ผลลัพท์ตามที่เราต้องการ ขั้นตอนการทำงานและตัวอย่างที่ผมนำมาลงจึงเป็นเพียงแนวทางหนึ่งของการทำงาน ประเภทนี้ครับ ซึ่งจริงๆแล้วการทำงานขั้นพื้นฐานมันอาจจะมีมากกว่านี้อีก แต่ผมเอามาลงเท่าที่พอจะนึกออกและได้ถ่ายภาพขั้นตอนเอาไว้ครับ ในอนาคตถ้านึกอะไรออกอีกคงจะนำมาลงเพิ่มอีกที
ส่วนในครั้งหน้าก็คงจะเข้าสู่หัวข้อที่ 2. ขั้นกลาง (Intermediate) ซึ่งจะเป็นการทำงานที่เริ่มซับซ้อนมากขึ้น แล้วพบกันใหม่ครับ

Sunday, July 22, 2012

1.6. Making snow surface on a large base

(การทำพื้นหิมะบนฐานขนาดใหญ่ - ฉากถนนในชนบทของยุโรป ตอนที่ 2 - หิมะฤดูหนาว ) 
สำหรับชิ้นนี้จะต่อเนื่องกับอันที่แล้วครับ รูปแบบการทำงานจะคล้ายๆกันแต่เปลี่ยนจากลักษณะของฉากในหน้าร้อน มาเป็นฉากในฤดูหนาว ซึ่งจะใช้วิธีการทำหิมะในอีกรูปแบบหนึ่งด้วยผงทรายละเอียด ที่พี่หมึกข้างขวดเคยเขียนวิธีการไว้ในหนังสือ Power Up ครับ นำมาทดลองทำให้ได้ชมกัน


เช่นเดิมครับ ฐานนั้นทำจากกระดาษชั้นและกรุรอบด้านด้วยไม้บัลซ่า ส่วนพื้นดินนั้นทำจากดินเยื่อกระดาษ หรือจะใช้ปูนพลาสเตอร์ก็ได้ครับ ตามสะดวก ถ้าใช้ดินเยื่อกระดาษทำพื้นดินก็ทากาวลาเท็กซ์ผสมน้ำให้ทั่วๆแล้วเอาดินมาโรยครับ แต่ถ้าเป็นปูนพลาสเตอร์ เทปูนลงในจุดที่ต้องการแล้วเอาดินโรยในตอนที่เปียกๆเลยครับ ดินที่เห็นก็เป็นดินที่ผมตักเก็บมาจากตามข้างถนน แล้วนำไปร่อนด้วยตะแกรงหรือกระชอนสำหรับทำอาหาร เลือกเอาที่มีรูตะแกรงค่อนข้างถี่หน่อยครับ จะได้ดินที่ดูละเอียด ส่วนดินที่ใหญ่กว่าหรือเศษหินที่โดนร่อนออกไป เราค่อยเอามาติดลงทีหลัง 


ช่วงที่ดินหรือปูนกำลังหมาดๆ ก็นำสายพานหรือล้อรถมากด ถ้าเป็นดินปั้นจะกดรอยได้ง่ายและคมชัดครับ ส่วนปูนพลาสเตอร์จะต้องรอให้เซ็ทตัวนิดนึง ถึงจะกดรอยได้ ลองใช้นิ้วจิ้มดูก็ได้ครับ ถ้าไม่นิ่มจนบุ๋มไปเลยก็กดลายได้เลย ส่วนหญ้านั้น เนื่องจากเป็นหน้าหนาวจึงใช้แต่หญ้าที่ทำจากเชือกปอครับ ตัดเก็บเอาไว้ทีเดียว จะได้ใช้ได้สะดวก 


ถ้ากลัวดินหรือหญ้าที่ลงไว้จะไม่แข็งแรง ติดแน่นทนนาน ก็เอากาวลาเท็กซ์มาผสมกับน้ำ ทาชโลมให้ทั่วอีกทีก็ได้ครับ ทิ้งไว้ให้แห้ง ออกมาแล้วจะได้ประมาณนี้ 



จากนั้นก็นำไปกั้นขอบเพื่อทำสีครับ ใช้สีกระป๋องเลย์แลนด์เช่นเดิม นำมาพ่นใส่ฝาแล้วผสมสีเอง สีต้นหญ้าจะมีสีใกล้เคียงของจริงอยู่แล้ว พ่นคลุมบางๆก็พอครับ ด้วยสีเหลืองโอ๊ค ผสมขาว และครีม ถ้ากันเซ่ก็เบอร์ 313 หรือ 39 ผสมขาว ส่วนสีของพื้นดิน ในฤดูหนาวนั้นดินจะมีสีเข้ม ซึ่งดินที่นำมาโรยจะมีสีเข้มตามธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแค่พ่นหรือทาสีแต่งให้ดูมีน้ำหนักของสีเพิ่มมากขึ้นอีกหน่อย ด้วยสีน้ำตาลเข้มผสมกับน้ำตาลแดงและเทานิดหน่อย ถ้าสีกันเซ่ก็เบอร์ 42 ผสม 41 หรือ 43 ตามสะดวก แล้วค่อยเอาสีที่พ่นมาผสมให้อ่อนลงหรือเข้มขึ้น แล้วทาๆป้ายๆไปอีกทีครับ ผสมทินเนอร์เยอะๆ และใช้ทินเนอร์เกลี่ยให้สีกลมกลืนกัน เพื่อที่พื้นดินจะได้ดูมีน้ำหนัก ไม่เป็นสีเดียวเท่ากันทั้งหมด

ต่อไปมาเริ่มทำส่วนของหิมะกันครับ เนื่องจากบ้านเรานั้นไม่เคยได้เห็นหิมะกันมาก่อน จึงยากที่จะเข้าใจว่ามันจะเป็นอย่างไรดังนั้นการหาภาพมาอ้างอิงรูปแบบที่คิดจะทำจากในเน็ท จะช่วยในการทำงานได้มากครับ  




การทำหิมะขั้นแรก ใช้ปูนพลาสเตอร์ตักใส่ถ้วยทีละนิด ผสมกับน้ำเยอะหน่อย จะได้แห้งช้าๆแล้วใช้พู่กันทาตามจุดที่คิดไว้ครับ โดยเริ่มจากทาแบบผสมน้ำเยอะๆก่อนเพื่อกำหนดตำแหน่งหิมะ
จากนั้นค่อยผสมปูนให้ข้นขึ้น แล้วทาทับลงไปอีกที เพื่อให้เป็นก้อนหิมะที่จับตัวกันอยู่ 



ตรงส่วนที่เป็นถนนนั้น หิมะจะมีอยู่บ้าง แต่ไม่มากหรือจับเป็นก้อน ทำด้วยปูนพลาสเตอร์เช่นเดียวกันครับ ผสมน้ำให้เยอะๆแล้วใช้พู่กันเบอร์ใหญ่ๆทา โดยจะเยอะหน่อยตรงกลางถนน ซึ่งเวลาทานั้นจะดูยากครับว่าทาเยอะหรือน้อยเกินไป เนื่องจากปูนยังเปียกอยู่ ต้องรอให้แห้งถึงจะเห็นได้ชัดเจน ถ้าจุดไหนที่คิดว่าเยอะเกินไปก็เอาน้ำเปล่ามาทาเกลี่ยออกได้ครับ 


เมื่อแห้งแล้ว
 

สำหรับเกล็ดหิมะนั้น ถ้าใช้เพียงแค่ปูนอย่างเดียว อาจจะไม่สมจริง เพราะพอแห้งแล้วปูนจะมีผิวที่ด้านครับไม่มีความมันอยู่เลย และดูเรียบ ไม่มีพื้นผิว ผมเลยใช้ทรายละเอียดสีขาวครับ (White fine sand for handicraft) หาซื้อได้จาก B2S ขายเป็นถุง น่าจะ 50 บาทครับ มีให้เลือกหลายสีและละเอียดมากๆ นำมาผสมกับน้ำและกาวลาเท็กซ์ แนะนำว่า กาวของ TOA น่าจะดีที่สุดครับ เพราะเคยใช้ยี่ห้ออื่นแล้ว นานๆไปกาวจะไม่ยึดติดกับพื้นผิวและเปลี่ยนสีเป็นเหลืองครับ ไม่แน่ใจว่า TOA ในระยะยาวจะเปลี่ยนสีรึเปล่า แต่สำหรับตอนนี้ถือว่าโอเคทีสุดครับกับการยึดเกาะ นำไปทาทับด้านบนของปูนที่ลงไว้อีกทีครับ ตรงส่วนถนนก็ทาทับเช่นเดียวกัน ตรงจุดไหนที่ดูเยอะไปก็ใช้น้ำเปล่าช่วยเกลี่ย 




ทิ้งไว้ให้แห้ง 1 คืน จะเป็นแบบนี้ครับ



จะเห็นว่าพื้นผิวของหิมะจะดูด้านมากครับ เนื่องจากผสมปูนพลาสเตอร์เยอะเกินไป จึงต้องทำการแต่งสีเพิ่มเติมด้วยการใช้สีเคลียร์มันของเลย์แลนด์มาฉีดใส่ฝาแล้วทาเก็บตามผิวของหิมะอีกทีครับ จากนั้นก็ทำการแต่งคราบเก่าคราบสกปรกต่างๆบนพื้นถนน ด้วยสีน้ำมัน raw umber ผสมกับ turpentine อาจผสมสีเคลียร์ใส (Gloss varnish)สูตรน้ำมัน X-22 ของ Tamiya ด้วยก็ได้ครับ เพื่อความมันเงามากขึ้น ทาเกลี่ยตามแนวถนน และริมขอบทางครับ ก็เป็นอันเรียบร้อย 







วิธีการนี้เท่าที่ลองมา ผลที่ได้ของหิมะนั้นยังดูไม่ละเอียดหรือสมจริงเหมือนกับการใช้ผงฟู ( sodium bicarbonate ) ที่จะดูแวววาวและเป็นก้อนที่มีลักษณะละเอียดกว่า เนื่องจากการใช้ปูนพลาสเตอร์ช่วยในการทำหิมะนั้น เมื่อแห้งแล้วพื้นผิวจะดูด้านเกินไป และจะต้องใช้เคลียร์มันมาทาหรือพ่นอีกที ถ้าใช้เพียงทรายละเอียดสีขาวเพียงอย่างเดียวในการทำหิมะ อาจจะให้ผลลัพท์ของลักษณะหิมะที่ดีกว่านี้ครับ แต่ข้อดีของวิธีการนี้คือตัวหิมะนั้นจะยึดติดอยู่บนฐานได้แน่นหนากว่า ไม่หลุดร่อนออกไปง่ายเหมือนกับผงฟูครับ