Saturday, March 4, 2017

Step by Step Painting & Weathering a Yellow Armour on Orruk Megaboss (Thai Version)

This is an article I wrote and published on figurementors.com 
 Please click on the link for the English version on their site [HERE]

สวัสดีครับ บทความนี้เป็นบทความที่ผมทำขึ้นมาสำหรับเผยแพร่ลงบนเว็บไซต์ figurementors.com ในรูปแบบภาษาอังกฤษ และได้ตกลงกับทางเว็บไซต์เอาไว้ว่าหลังจากที่เผยแพร่ลงบนเว็บแล้ว จะขอนำมาแปลเป็นภาษาไทยและนำมาลงเอาไว้ในบล็อกของผมอีกที เพื่อให้ทุกๆท่านที่สนใจได้อ่านกันอย่างสะดวก แต่เนื่องจากที่ผ่านมางานส่วนตัวของผมค่อนข้างยุ่งพอสมควร เลยทำให้การแปลบทความนี้และนำมาลงในบล็อกนั้นล่าช้าไปมาก จึงต้องขออภัยด้วยครับ
บทความนี้จะมุ่งเน้นไปที่วิธีการทำสีชุดเกราะสีเหลืองเป็นหลัก ทั้งการเพนท์ไล่แสงเงาบนชุดเกราะด้วยสีอะครีลิค และการทำสีชุดเกราะให้ดูสกปรกแบบผ่านสภาพการใช้งานหรือที่เรียกกันว่าเวทเธอริ่ง (weathering) ด้วยสีน้ำมันหรือเอนาเมลครับ หวังว่าบทความนี้คงจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ หากอ่านแล้วมีปัญหาสงสัยใดๆก็สอบถามมาได้ทั้งทางบล็อกหรือทางเฟซบุ๊คครับ

ผมเริ่มต้นทำงานชิ้นนี้ในช่วงกลางปี 2016 หลังจากที่ Orruk Megaboss พึ่งวางจำหน่ายได้ไม่นาน เนื่องจากชื่นชอบในดีไซน์ของมันมาก รวมถึงได้เห็นเพนท์เตอร์หลายๆท่านที่ทำสีมินิตัวนี้ได้อย่างสวยงามในสไตล์ของแต่ละคน จึงอยากที่จะลองทำสีในแบบของตัวเองดูบ้าง โดยอ้างอิงตามสีชุดเกราะสีเหลืองที่เห็นจากภาพหน้ากล่อง แต่นำมาทำสีให้ดูสกปรกและสมบุกสมบันเพื่อให้ดูเข้ากับภาพลักษณ์ของออร์คมากขึ้น รวมถึงทำการดัดแปลงเพิ่มเติมส่วนของหนามที่หัวไหล่และส่วนของธงขนาดใหญ่บนหลัง เพื่อให้ออกมาเป็นงานในรูปแบบของตัวเองที่ดูแตกต่างจากผลงานของคนอื่นครับ

สำหรับขั้นตอนในการทำสีชุดเกราะสีเหลืองนั้น ผมเริ่มจากพ่นสีรองพื้นชิ้นงานทั้งหมดด้วยสีสเปรย์ Chaos Black ของ Citadel เป็นอันดับแรก จากนั้นทำสีส่วนผิวของออรค์ทั้งหมดให้เรียบร้อย เพราะหากติดเกราะส่วนลำตัวเข้าด้วยกันแล้วจะทาสีส่วนของผิวได้ลำบาก จึงต้องทำให้เสร็จทั้งหมดก่อน แล้วจึงค่อยเริ่มทำสีเกราะสีเหลืองในขั้นต่อไปครับ

1. สีเหลืองเป็นสีที่ทาให้ทึบและเรียบได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเป็นสีที่ค่อนข้างใส แต่หากรู้หลักในการเพนท์สีนี้แล้วก็อาจจะช่วยให้การเพนท์นั้นทำได้ง่ายขึ้นครับ โดยในขั้นตอนแรกนี้ผมจะเริ่มทาส่วนของสีเหลืองที่ใช้เป็นสีพื้นก่อน คือสี Averland Sunset (Citadel) นำมาผสมกับน้ำให้ค่อนข้างใสกว่าเวลาผสมทาปกติ (ประมาณสี 1 ส่วนต่อน้ำ 2 ส่วน) จากนั้นนำไปทาชโลมให้ทั่วพื้นผิวของชุดเกราะเป็นสีพื้นชั้นแรก
เนื่องจากสีเหลืองเป็นสีที่มีความใส จึงเป็นเรื่องยากที่จะทาสีเหลืองให้ทึบภายในรอบเดียว การผสมสีกับน้ำให้ใสและทาชโลมให้ทั่วจะช่วยให้การทารองพื้นชั้นแรกนั้นทำได้เร็วขึ้น อย่างในภาพจะเห็นว่าสีเหลืองนั้นคลุมพื้นผิวอยู่บางๆจนมองเห็นสีดำรองพื้นอยู่ และสีที่คลุมบางๆอยู่นี้จะช่วยให้สีที่ทาทับในชั้นต่อไปนั้นยึดเกาะลงบนพื้นผิวได้ดีขึ้น และยังช่วยให้การทาสีให้ทึบนั้นทำได้ง่ายขึ้นด้วยครับ


2. สีพื้นชั้นที่สองจะผสมสีให้ข้นกว่าเดิมโดยผสมสี Averland Sunset กับน้ำ ในสัดส่วนแบบที่ใช้ทาพื้นที่ทั่วไป (ประมาณสี 1 ส่วนต่อน้ำ 1 ส่วน) เมื่อนำไปทาทับลงบนชุดเกราะ สีพื้นที่ลงไว้ชั้นแรกจะช่วยทำให้การทาสีพื้นที่สองนั้นง่ายขึ้น และจะเห็นว่าสีเหลืองนั้นดูทึบมากขึ้นโดยเฉพาะส่วนที่เป็นผิวเรียบ แต่ส่วนที่เป็นสันขอบหรือส่วนนูนนั้นจะยังมองเห็นสีรองพื้นสีดำอยู่จางๆ


3. ในขั้นตอนหลังจากนี้ผมเลือกถ่ายมาเฉพาะส่วนของขาเพื่อที่จะได้เห็นรายละเอียดได้ชัดเจนครับ โดยในภาพผมทาทับสีพื้นชั้นที่สามลงไปบริเวณซีกขวาของเกราะขาในภาพ จะเห็นว่าในตอนนี้สีเหลืองนั้นคลุมพื้นที่ได้ทึบเกือบทั้งหมด อาจจะมีตามขอบสันหรือมุมต่างๆที่ยังเห็นสีดำจางๆอยู่บ้าง แต่ส่วนเหล่านี้จะถูกทาทับในภายหลังด้วยสีไฮไลท์ครับ ส่วนซีกซ้ายของเกราะผมใช้สี Ochre Brown (VMC) ทาทับลงไปแทนสีพื้น เพื่อจำลองสีของเงาชั้นแรกครับ (first Shadow)


4. จากนั้นเมื่อทาสีพื้นเสร็จทั้งหมดแล้ว จึงเริ่มการให้แสงเงากับเกราะส่วนขา ผมเริ่มด้วยการให้น้ำหนักของแสงก่อน ด้วยสีไฮไลท์ชั้นแรก (first highlight) โดยแบ่งการทาออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนซีกซ้ายของเกราะขาที่กำหนดเป็นพื้นที่เงา จะใช้สีไฮไลท์ชั้นแรกคือสีพื้น Averland Sunset ส่วนซีกขวาของเกราะขา จะใช้สีไฮไลท์ชั้นแรกคือ Averland Sunset (Citadel) ผสมกับ Yriel Yellow (Citadel) ในสัดส่วนผสมประมาณ 1:2 สาเหตุที่ทั้งสองส่วนต้องใช้สีไฮไลท์ที่ต่างกัน เพื่อให้สีในส่วนซีกขวาของเกราะขานั้นดูสว่างกว่าในส่วนซีกซ้ายที่เป็นเงา (ลองสังเกตดูในภาพครับ)

สำหรับการทาสีไฮไลท์นั้น จะใช้การทาเป็นเส้นตามขอบสันและเหลี่ยมมุมต่างๆของเกราะ เพื่อที่จะได้เห็นลักษณะพื้นผิวของเกราะได้ชัดขึ้นและแยกส่วนออกเป็นช่องๆ และช่วยให้ไม่งงเวลาให้แสงเงาลงบนเกราะแต่ละส่วน อย่างในภาพเมื่อทาตามขอบสันแยกส่วนออกเป็นช่องๆแล้ว จึงทาสีเกลี่ยให้สีไฮไลท์ในแต่ละช่องนั้นดูกลมกลืนไปกับสีพื้นมากขึ้น


5. จากนั้นใช้สี Rhinox Hide (Citadel) ทาเก็บร่องและรอยต่อระหว่างเกราะ รวมถึงหัวน๊อตต่างๆ เพื่อเป็นการหลอกสายตาว่าเกราะแต่ละชิ้นนั้นแยกขาดออกจากกัน ไม่ได้ติดกันเป็นชิ้นเดียวทั้งหมด


6. ผมทาสีของเงาชั้นที่สอง (second Shadow) ลงบนบริเวณด้านบนของแต่ละช่องบนชุดเกราะ ด้วยการทาเกลี่ยแบบ glazing โดยใช้สี Beige Brown (VMC) สำหรับซีกซ้ายที่เป็นส่วนเงา และ Beige Brown (VMC) ผสมกับ Ochre Brown (VMC) (สัดส่วนประมาณ 1:2) สำหรับซีกขวาที่เป็นส่วนของแสง จะเห็นว่าบริเวณด้านบนของแต่ละช่องในตอนนี้ สีจะดูเข้มมากขึ้นและตัดกับสีของไฮไลท์ชัดขึ้น


7. ขั้นต่อมาทาสีไฮไลท์ชั้นที่สอง (second  highlight) ด้วยสี Yriel Yellow (Citadel) ผสมกับ Ivory (VMC) (สัดส่วนประมาณ 2:1) ลงบนตามขอบและสันของเกราะซีกซ้าย รวมถึงใช้สีนี้ทาขีดเป็นเส้นเล็กๆกระจายอยู่รอบๆเกราะ เพื่อจำลองรอยขีดข่วนต่างๆที่เกิดขึ้นบนผิวเกราะ

จากนั้นผสมสี Ivory เพิ่มเข้าไปให้สีนั้นสว่างขึ้น แล้วใช้ทาเฉพาะลงบนเกราะซีกขวา เพื่อจำลองร่องรอยสีกระเทาะและขูดขีดในโทนที่สว่างกว่าเกราะซีกซ้าย


8. ทาส่วนของลายไฟแบบกราฟฟิกสีดำบนเกราะหัวเข่าด้วยสี Abaddon Black (Citadel)


9. ทาสีไฮไลท์ของลายไฟสีดำด้วยสี Abaddon Black (Citadel) ผสมกับ Yriel Yellow (Citadel) จากนั้นใช้สีไฮไลท์ของสีเหลืองในขั้นตอนที่แล้วมาทาเป็นรอยกระเทาะและขูดขีดทับลงบนลายไฟอีกที


10. สำหรับการทำรอยกระเทาะที่เป็นสนิมและรอยที่ขูดลึกบนผิวเกราะ ผมใช้สีสำหรับทำรอยกระเทาะโดยเฉพาะของ Ammo of Mig ชื่อสี Chipping (หรือจะใช้สีโทนน้ำตาลเข้มของยี่ห้ออื่นๆก็ได้เช่นกัน) โดยผมจะทาสีนี้ทับลงบนส่วนที่เป็นรอยกระเทาะ และรอยขีดข่วนสีอ่อนที่ได้ทำเอาไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงตามขอบมุมของเกราะ และบริเวณที่คิดว่าน่าจะโดนเสียดสีหรือกระทบกระแทกบ่อยๆ เช่น เกราะหัวเข่า ปลายเท้า เป็นต้น 

ในวิธีการทาสีนี้ ผมจะใช้พู่กันเบอร์เล็กสุดและพยายามทาให้เป็นแต้มเล็กๆ หรือขีดเล็กๆให้ได้เล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะร่องรอยที่มีขนาดเล็กจะดูเหมาะสมกับมาตราส่วนของโมเดล และการที่ทำให้ร่องรอยต่างๆดูไม่เป็นระเบียบจะช่วยให้มันดูเป็นธรรมชาติมากกว่า นี่จึงเป็นขั้นตอนที่กินเวลาค่อนข้างนาน และต้องใช้ความอดทนในการทำ แต่ผลลัพท์ที่ได้นั้นคุ้มค่ากับความพยายามครับ


11. ผมใช้สีไฮไลท์ชั้นที่สองของชุดเกราะจากขั้นตอนก่อนหน้า มาทาเก็บตามขอบด้านล่างของรอยกระเทาะหรือรอยขูดขีดในบางจุด เพื่อให้ร่องรอยเหล่านี้ดูมีมิติมากขึ้น


12.-14. ภาพรวมของเกราะขาที่ทาสีและเก็บรายละเอียดตามขั้นตอนต่างๆเรียบร้อยแล้ว ลองสังเกตในภาพ จะเห็นจุดที่โดนกระทบหรือเสียดสีบ่อยๆมีรอยกระเทาะหรือขูดขีดมากกว่าส่วนอื่นๆ




15. ในขั้นตอนนี้จะเป็นการทำสีชุดเกราะให้ดูสกปรกแบบผ่านสภาพการใช้งานหรือที่เรียกกันว่าเวทเธอริ่ง (weathering) ด้วยสีน้ำมันครับ (หรือจะใช้สีเอนาเมลก็ได้เช่นกัน) ซึ่งสีน้ำมันที่ผมใช้เป็นของยี่ห้อ Abteilung 502 เป็นสี Dark Rust และ Light Rust Brown กับสีน้ำมันของ Winsor & Newton สี Raw umber โดยจะนำสีเหล่านี้มาใช้ทำเป็นคราบสกปรกและสนิมครับ ซึ่งถ้าหาสียี่ห้อนี้ไม่ได้ จะใช้สีน้ำมันยี่ห้ออื่นที่มีสีใกล้เคียงแบบในภาพก็ได้เช่นกันครับ

ในภาพจะเห็นว่าผมบีบสีน้ำมันลงบนกระดาษลังและทิ้งเอาไว้ก่อนจะนำไปเพนท์ประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้กระดาษลังนั้นดูดซึมน้ำมันที่อยู่ในสี (รอยเปียกรอบๆสี) ซึ่งจะช่วยให้สีนั้นทาเกลี่ยได้ง่ายขึ้นเมื่อนำไปใช้ และแห้งเร็วขึ้น รวมถึงสีจะมีผิวด้านเมื่อแห้งสนิท


16. ผมใช้พู่กันขนาดเล็กในการทาสีน้ำมันลงบนรอยกระเทาะและรอยขูดขีดในบางจุดที่ทำเอาไว้ รวมถึงทาในบริเวณรอบๆหัวน๊อต โดยใช้สี Dark Rust และ Raw umber เพื่อจำลองคราบสกปรกและสนิมไหล 

ในการทาจะพยายามทาให้เป็นจุดเล็กๆหรือเป็นเส้นในแนวตั้ง และไม่จำเป็นต้องทาลงบนทุกร่องรอยที่เกิดบนเกราะ เพราะสนิมอาจจะไม่ได้เกิดในทุกๆจุด การทำให้ร่องรอยคราบต่างๆดูกระจายและไม่เป็นระเบียบจะช่วยให้มันดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น


17. จากนั้นใช้พู่กันอีกอันหนึ่งที่สะอาด และจุ่มลงในตัวทำละลายสำหรับสีน้ำมันที่เรียกว่า turpentine แล้วซับพู่กันกับทิชชู่ให้ขนนั้นหมาดๆจนเกือบแห้ง นำไปทาปัดในแนวตั้งลงบนจุดหรือเส้นสีน้ำมันที่ทาไว้ก่อนหน้านี้ จะทำให้สีน้ำมันนั้นดูนุ่มและจางลงเหมือนกับลักษณะของคราบสกปรกหรือสนิมไหล ที่จะเข้มตรงส่วนบนและจะค่อยๆซีดจางลงไปยังส่วนปลาย

วิธีการนี้ส่วนสำคัญจะอยู่ที่ ถ้าพู่กันที่จุ่ม turpentine นั้นชุ่มจนเกินไป เมื่อนำไปทาปัดลงบนสีน้ำมันจะทำให้ล้างสีน้ำมันที่ทาไว้ออกไปทั้งหมด เพราะ turpentine จะไปทำละลายสีเหล่านั้น แต่ถ้าซับให้ขนพู่กันนั้นหมาดๆจนเกือบแห้ง จะทำให้สีน้ำมันนั้นดูนุ่มและซีดจางลง ขึ้นอยู่กับวิธีและทิศทางในการปัดพู่กันครับ


18. ทาเพิ่มคราบสนิมไหลด้วยสี Light Rust Brown เพื่อจำลองคราบสนิมแบบสีส้ม โดยทาแต้มเป็นจุดเล็กๆเหมือนกับรอยกระเทาะที่ขึ้นสนิมในบางจุด และทาเป็นคราบไหลแนวตั้งในบางส่วน จากนั้นใช้วิธีการเดียวกับขั้นตอนที่ผ่านมาเพื่อทำให้คราบสนิมไหลนั้นดูซีดจางลง


19. และนี่คือภาพของส่วนเกราะขาหลังจากที่ผ่านการทำเวทเธอริ่งด้วยสีน้ำมันเรียบร้อยแล้วครับ


20. ภาพอีกมุมของส่วนเกราะขาที่เสร็จแล้วครับ


21.-27. ภาพโดยรวมของชุดเกราะทั้งหมดเมื่อทำสีตามขั้นตอนต่างๆเสร็จเรียบร้อยครับ ในส่วนของเกราะที่เป็นสีดำจะใช้วิธีในการทำสีแบบเดียวกันกับเกราะสีเหลืองทั้งหมดครับ