Monday, August 6, 2012

2.5. Making trees & creeping plants from wire (part.1)

(การทำต้นไม้และไม้เลื้อยด้วยลวด)
ในครั้งนี้นำวิธีการทำต้นไม้ด้วยลวดมาฝากกันครับ เป็นวิธีของฝรั่งที่ทำเอาไว้และผมนำมาทดลองทำด้วยตัวเองดู โดยใช้อุปกรณ์เท่าที่หาได้ในบ้านเรา ซึ่งอาจจะไม่สะดวกเหมือนกับการซื้อต้นไม้สำเร็จรูปมาใช้ แต่คิดว่าการได้ลองทำด้วยตัวเองจะช่วยให้เกิดการพัฒนาได้ดีกว่าใช้เงินซื้อเพียงอย่างเดียว เพราะต้นไม้จำลอง(โดยเฉพาะของงานรถไฟจำลอง ที่มีรายละเอียดสูง) จะมีราคาที่สูงมาก ตัวผมเองเลยชอบที่จะลองทำนู่นทำนี่ด้วยตัวเองอยู่ตลอด เพราะนอกจากจะประหยัดตังค์ในกระเป๋าแล้ว ยังได้พัฒนาตัวเองอีกด้วยครับ  


ในการทำต้นไม้จำลองนั้น เนื่องจากมีขนาดที่ค่อนข้างเล็ก เราจึงไม่ได้กำหนดแบบเฉพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นต้นไม้ชนิดไหน เพราะโครงสร้างโดยรวมของต้นไม้ส่วนใหญ่นั้นจะมีลักษณะแบบเดียวกัน ยกเว้นต้นไม้ที่มีลักษณะพิเศษดูโดดเด่นแตกต่างออกไป อย่างเช่น ต้นสน ต้นมะพร้าว หรือ กระบองเพชร ซึ่งจะใช้วิธีการทำงานที่ต่างออกไปครับ ดังนั้นในการทำต้นไม้แบบทั่วๆไปนี้ จึงไม่มีข้อกำหนดถึงเรื่องของรูปทรง ขนาด หรือ ความสูง ครับ เพราะในธรรมชาตินั้นไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว เพียงแต่ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงในธรรมชาติอยู่บ้าง เช่น ลักษณะของลำต้นที่จะต้องใหญ่จากด้านล่างและค่อยๆเรียวเล็กไล่ขึ้นไปถึงด้านบน หรือขนาดของใบไม้ที่จะไม่ใหญ่กว่าตัวคน เป็นต้น ซึ่งเรื่องของขนาดและลักษณะของใบไม้นี้ จะเป็นส่วนที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในการทำต้นไม้ (โดยเฉพาะมาตราส่วนใหญ่ๆ ที่จะเห็นรูปทรงของใบไม้ได้อย่างชัดเจน) การเลือกหาวัสดุมาใช้ในการทำใบไม้ ให้ดูแล้วได้ขนาดที่สอดคล้องไปกับมาตราส่วนของตัวโมเดลได้มากที่สุด จึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างสำคัญและควรจะต้องใส่ใจมากหน่อยครับ แต่ในบ้านเราอาจจะหาวัสดุที่เหมาะสมกับการทำใบไม้ค่อนข้างยาก ไม่เหมือนในต่างประเทศที่จะมีวัสดุเหล่านี้ให้เลือกซื้อได้มากมาย ดังนั้นจึงต้องอาศัยการเสาะหาวัสดุต่างๆที่มีขายในบ้านเรา และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับผลงานของตัวเราเองครับ

ผมลองทำมาให้ดู 2 ตัวอย่าง เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงการทำต้นไม้สำหรับมาตราส่วนขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ซึ่งขั้นตอนในการทำนั้นจะใกล้เคียงกัน แต่จะแตกต่างกันที่วัสดุในการทำใบไม้ครับ

2.5.1 Making trees for Small-scale (1/72, 1/100, 1/144) 

(การทำต้นไม้สำหรับมาตราส่วนขนาดเล็ก เช่น 1/72, 1/100 หรือ 1/144)

การทำต้นไม้ในมาตราส่วนที่เล็กมากๆเช่นนี้ จะไม่ได้เน้นไปที่รายละเอียดที่อยู่บนตัวต้นไม้ แต่จะเน้นไปที่ลักษณะโครงสร้างโดยรวมของตัวต้นไม้มากกว่า เพราะรายละเอียดต่างๆนั้นจะถูกลดทอนลงไปตามขนาด เปรียบเทียบเหมือนกับ เวลาเรามองต้นไม้ที่อยู่ใกล้ๆ เราจะเห็นถึงรายละเอียดของกิ่งไม้ ใบไม้ ได้ชัดเจนมากกว่าต้นไม้ที่อยู่ไกลๆ ที่จะมองเห็นเพียงรูปทรงรวมๆของใบไม้ ที่เป็นพุ่มหรือเป็นก้อนสีเขียวๆ แต่จะมองไม่เห็นถึงรายละเอียดหรือรูปทรงของใบไม้ครับ เพื่อความเข้าใจ ลองดูตามวิธีการทำกันเลยครับ

1. วัสดุหลักในการทำลำต้นและกิ่งไม้ ใช้ลวดทองแดงจากสายไฟขนาดต่างๆครับ เนื่องจากมีความอ่อนตัวและดัดได้ง่าย รวมถึงเหนียวและไม่ขาดง่ายด้วยครับ 



2. นำสายไฟมาปอกเอาแต่ลวดทองแดงข้างใน แบบที่ผมเอามาใช้จะมีลวดทองแดงเส้นเล็กๆอยู่ด้านในสายไฟ 12 เส้นครับ จากนั้นบิดเกลียวตรงส่วนปลายแล้วตัดออกมา 


3. แยกสายไฟออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 3 เส้น จากนั้นบิดเกลียวไล่ไปทีละกลุ่ม โดยบิดรวมที่โคนทั้ง 3 เส้นก่อน จากนั้นแยกเส้นหนึ่งออกมาแล้วบิดอีก 2 เส้นเข้าด้วยกัน แล้วเหลือส่วนปลายให้แยกจากกันไว้ จะได้ลักษณะของกิ่งไม้ที่จะแตกปลายออกไป 3 เส้นครับ ทำให้ครบทั้ง 4 กลุ่ม ตอนนี้จะเห็นว่ากลายเป็นกิ่งไม้ที่มีกิ่งขนาดย่อยแยกออกมา 4 ด้าน (ขออภัยที่ภาพไม่ค่อยชัดครับ) 



4. ใช้วิธีการเดียวกันทำเพิ่มขึ้นมาอีกหลายๆกิ่ง เพื่อที่จะได้นำมาบิดรวมกันให้กลายเป็นกิ่งไม้ขนาดใหญ่อีกที จากนั้นนำไปติดกับลวดทองแดงขนาดใหญ่ด้วยกาวช้าง เพื่อให้เป็นส่วนของลำต้นอีกทีครับ แล้วค่อยมาจัดแต่งรูปทรงให้กิ่งก้านนั้นกระจายออกไปรอบๆลำต้นครับ



5. อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำพื้นผิวของลำต้น ดินปั้น DAS กาวลาเท็กซ์และน้ำเปล่าครับ ทากาวลาเท็กซ์ที่ลวดเพื่อให้ดินนั้นเกาะได้ดีขึ้น แล้วเริ่มพอกที่ส่วนโคนของลำต้นก่อนโดยใช้ไม้จิ้มฟันช่วย แล้วค่อยๆพอกดินเพิ่มไล่ขึ้นมาด้านบนครับ โดยให้ตรงโคนลำต้นนั้นมีความหนาและค่อยๆเรียวเล็กขึ้นมาด้านบน 



6. จากนั้นเอากาวลาเท็กซ์ผสมกับน้ำนิดหน่อย ผสมลงไปกับดินเพื่อให้ดินนั้นละลาย และใช้พู่กันจุ่มดินที่เปียกนำไปทาตามกิ่งก้านเล็กๆต่างๆ และทาเกลี่ยบริเวณลำต้นให้มีพื้นผิวที่เรียบสม่ำเสมอกัน ไม่ขรุขระเป็นก้อน รวมถึงขนแปรงพู่กันยังช่วยให้เกิดรอยเป็นเส้นๆเหมือนลักษณะของเปลือกไม้ด้วยครับ จากนั้นพอดินเริ่มแข็งตัวค่อยเอาปลายมีดมาขูดตามลำต้นเน้นรอยเปลือกไม้อีกทีก็ได้ครับ 


7. การทำใบไม้ขนาดเล็กนั้นสามารถทำได้หลายวิธีครับ ทั้งการใช้ฟองน้ำสำหรับล้างจาน ทั้งส่วนสีเหลืองและสีเขียว (ขออภัยด้วยครับ เรียกไม่ถูกว่าคืออะไร) นำมาฉีกเป็นฝอยเล็กๆ หรือการโรยด้วยผงใบไม้ขนาดเล็ก สำหรับงานรถไฟจำลองหรืองานสถาปัตย์ ส่วนวิธีที่ผมเลือกมาใช้นั้น เป็นใบไม้จำลองสำหรับงานสถาปัตย์ หาซื้อได้จากแผนกเครื่องเขียนในห้างครับ ลักษณะจะคล้ายๆกับส่วนสีเขียวบนฟองน้ำล้างจาน แต่จะละเอียดและฉีกเป็นก้อนฝอยๆได้ง่ายกว่า
วิธีการติดใบไม้ จะใช้กาวลาเท็กซ์ทาที่กิ่ง แล้วฉีกตัวใบไม้ออกมาเป็นก้อนเล็กๆให้มีรูปทรงที่หลากหลายและดูเป็นฝอยๆ แล้วค่อยๆติดลงไปทีละก้อนซ้อนทับกันไปมา เพื่อให้มีรูปทรงที่ดูเป็นพุ่มเหมือนกับกลุ่มของใบไม้ และดูไม่แบนครับ 




8. เมื่อติดเสร็จทั้งหมดแล้วครับ หลังจากนั้นก็ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วค่อยนำไปทำสีอีกที ส่วนรูปสุดท้ายลองถ่ายเปรียบเทียบขนาดกับตัวฟิกเกอร์ในมาตราส่วน 1/100 ครับ 


4 comments: