Friday, August 10, 2012

2.6. Making rocks & cliffs

(การทำโขดหินและหน้าผาหิน)
การทำโขดหินหรือก้อนหินขนาดใหญ่ รวมไปถึงหน้าผาหรือภูเขาหินนั้น สามารถทำได้หลากหลายวิธีครับ และอาจจะเคยได้เห็นผ่านตากันมาบ้างเช่น การใช้เปลือกของต้นไม้ขนาดใหญ่มาจัดวางและทำสี การใช้บล็อกหล่อปูนรูปทรงหน้าผาของพวกงานรถไฟจำลอง การใช้แผ่นฟอล์ยมาปั๊มลงบนผิวปูนให้เกิดพื้นผิวที่ขุขระ และถ้ามีฝีมือหน่อยก็อาจจะปั้นขึ้นรูปจากดินหรือจากปูนพลาสเตอร์เอง หรือวิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดอย่างการหาก้อนหินมาจัดวางบนฐานเลย ซึ่งแต่ละวิธี
ก็จะมีความยากง่ายแตกต่างกันทั้งเรื่องของทักษะความรู้ในการสร้างชิ้นงาน การเสาะหาวัสดุต่างๆและปัจจัยในด้านราคาของวัสดุที่นำมาใช้
สำหรับตัวผมเองนั้นชอบที่จะเสาะหาวัสดุต่างๆมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน โดยเฉพาะวัสดุที่ราคาไม่แพงแต่สามารถทำผลงานให้ออกมาดีได้ บทความต่างๆที่ผ่านมาจึงเน้นไปที่เรื่องของการสร้างผลงานฉากจำลองโดยใช้สิ่งต่างๆที่อยู่รอบๆตัวเรามาประยุกต์ใช้ เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เริ่มต้นและสนใจในการทำฉากจำลอง ให้สามารถทำผลงานได้โดยที่ไม่ต้องลงทุนมากนัก(แต่ต้องลงแรงกันมากหน่อย) และเป็นวิธีการที่ไม่ยากจนเกินไปที่จะทำตาม ดังนั้นวิธีการที่ผมนำมาทำให้ดูนี้จึงเป็นเพียงอีกทางเลือกหนึ่งของการทำงาน ซึ่งอาจจะไม่ใช่วิธีที่ได้ผลลัพท์ที่ดีที่สุดหรือสะดวกที่สุด แต่นำมาทำให้ดูเพื่อที่จะได้นำไปปรับหรือเลือกใช้ให้เหมาะสมกับความถนัดของแต่ละท่านครับ


การทำงานในครั้งนี้เกิดจากความบังเอิญที่ผมไปพบว่าดินปั้น DAS นั้น เมื่อนำไปผึ่งลมไว้ซักพัก (15-20 นาที) ดินจะเริ่มแข็งตัวและมีลักษณะผิวด้านในที่ขรุขระ และสามารถบิออกมาเป็นก้อนได้ง่าย ทั้งก้อนเล็กๆหรือแผ่นสีเหลี่ยมใหญ่ๆ เลยเกิดความคิดว่าน่าจะนำมาประยุกต์ใช้ในการทำหน้าผาหินได้ เลยเอาวิธีมาฝากกันครับ
อย่างแรกก็ลองเซิจหารูปหน้าผาหรือก้อนหินหลายๆแบบครับ เพื่อที่จะได้ดูถึงลักษณะการวางตัวของหิน ร่องรอยแตกต่างๆ รวมไปถึงพื้นผิวและสีของหินตามธรรมชาติ ว่ามีลักษณะแบบไหน ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องทำตามแบบให้เหมือนเป๊ะๆ แต่ให้รูปทรงโดยรวมหรือลักษณะนั้นดูใกล้เคียงก็พอแล้วครับ

1. DAS Modelling Clay หน้าตาเป็นอย่างนี้ครับ หาซื้อได้จากแผนก Be Trend (แผนกขายเครื่องเขียน) ของห้างในเครือเดอะมอลล์
 ลักษณะเมื่อผึ่งลมไว้ซักพักให้ดินเริ่มแข็งตัว จะบิดินออกเป็นก้อนหรือเป็นแผ่นได้ง่าย และจะมีลักษณะผิวที่ขรุขระแบบในรูปครับ ยิ่งดินแข็งตัวมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งบิออกจากกันได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าทิ้งไว้นานเกิน(เป็นชั่วโมง) ดินจะแข็งมากเกินไปจนบิออกจากกันได้ยาก (โดยเฉพาะถ้ายังเป็นก้อนสีเหลี่ยมที่โดนอัดแน่นมาในห่อ) จึงควรแบ่งออกมาใช้แล้วนำไปห่อใส่ถุงและใส่ภาชนะที่มีฝาปิดสนิทไม่ให้อากาศเข้า เพื่อที่ดินจะได้ไม่ต้องแข็งไปทั้งหมดครับ



2. ในภาพผมจะขึ้นรูปของหน้าผาด้วยโฟมเอาไว้ก่อน เพื่อลดน้ำหนักของฐานและดินจะได้มีจุดยึดกาว จากนั้นบิดินออกมาเป็นก้อนเล็กๆเพราะต้องการให้มีพื้นผิวของหน้าผาที่สูงต่ำไม่เท่ากัน (ถ้าต้องการหน้าผาที่เรียบกว่านี้ จะบิดินออกมาเป็นผ่นใหญ่ๆแล้วติดเข้าไปเลยก็ได้ครับ) ขั้นตอนนี้จะคล้ายๆกับการจัดเรียงจิ๊กซอว์ โดยบิดินเอาไว้หลายๆก้อน แล้วค่อยๆเลือกชิ้นที่ดูเข้ากันได้ค่อยๆนำไปจัดวางทีละก้อน โดยให้ลักษณะของลายแตกบนดินนั้นวางเป็นแนวนอนไปในทางเดียวกัน จะได้เชื่อมต่อลายกันได้สะดวก


3. เมื่อวางเรียงทั้งหมดแล้ว จะเห็นลักษณะผิวของดินที่ดูแล้วคล้ายๆกับก้อนหิน ส่วนที่ยื่นเกินออกจากขอบฐานนั้นค่อยมาตัดและขัดแต่งที่หลังครับ



4. จากนั้นนำดินปั้น DAS ที่ยังนิ่มๆอยู่มาปั้นและอุดลงไปตามร่อง ใช้น้ำช่วยเกลี่ยให้ดินเหลวขึ้นและเอาปลายของปากคีบ มาขูดๆและลากไปตามแนวนอน เพื่อให้เกิดผิวที่ขรุขระและรอยต่อต่างๆนั้นจะเชื่อมเข้าด้วยกันดูเป็นหินก้อนใหญ่ 


5. เมื่ออุดรอยต่อต่างๆบนหน้าผาเรียบร้อยแล้ว ส่วนด้านบนหน้าผาและด้านล่างนั้นผมจะทำเป็นพื้นหิมะ เลยเอาดินมาแปะเป็นก้อน แล้วใช้พู่กันจุ่มกับน้ำ มาทาเกลี่ยให้ดินนั้นเหลวและเชื่อมเข้าด้วยกัน จนดูเรียบเนียนเหมือนกับหิมะที่ปกคลุมอยู่ครับ



6. หลังจากทิ้งไว้หนึ่งคืนให้ดินแห้งสนิท ดินปั้น DAS จะคงรูปและไม่แตกเป็นร่องเหมือนกับดินเยื่อกระดาษ จากนั้นขัดเก็บขอบให้เรียบร้อย ก็พร้อมสำหรับการนำไปทำสีครับ 



เมื่อนำไปทำสีเสร็จแล้ว จะเห็นลักษณะของพื้นผิวได้ชัดเจนมากขึ้นครับ


 

7. อีกหนึ่งตัวอย่าง ของการทำก้อนหินด้วยดินปั้น DAS ครับ บิออกมาเป็นก้อนใหญ่ๆให้เหมือนกับก้อนหินขนาดใหญ่แล้วนำไปจัดวาง จากนั้นทากาวรอบๆโคนก้อนหินแล้วเอาดินโรยปิดรอยต่อ ข้อดีอย่างนึงสำหรับการทำก้อนหินด้วยวิธีนี้คือ ดินนั้นจะใช้เวลานานกว่าจะแข็งตัวจริงๆ (อาจจะต้องทิ้งไว้หลายชั่วโมงหรือหนึ่งคืน) ช่วงที่ดินยังไม่แข็งมากจึงสามารถกดให้เกิดรอยได้ง่าย และทำให้นำฟิกเกอร์ไปจัดวางได้โดยที่ขาทั้งสองข้างนั้นวางได้แนบสนิทบนก้อนหิน และไม่ลอยจากพื้นครับ



8. อีกรูปแบบหนึ่งของการใช้วิธีการนี้ คือนำไปจัดวางให้เหมือนกับก้อนหินที่โผล่พ้นจากผิวดิน วิธีการนี้ผมใช้ดินปั้น DAS ทั้งสองสี เพื่อจะได้สังเกตุได้ง่าย โดยบิดินสีขาวที่ผึ่งลมไว้ออกมาเป็นแผ่นใหญ่ๆและติดไล่ขนาดจากชิ้นใหญ่ที่ด้านล่างและเป็นก้อนเล็กๆที่ด้านบน จากนั้นทากาวที่พื้นแล้วนำดินสีแดงอีกก้อนมาแผ่เป็นแผ่นบางๆ ปิดทับในส่วนที่เป็นเนินดินทั้งหมด โดยใช้น้ำช่วยเกลี่ยให้ดินสีแดงนั้นเรียบและชิดไปกับขอบของดินสีขาว เมื่อทากาวและนำทรายมาโรยทับที่ดินสีแดงแล้ว ก็จะได้ลักษณะของเนินดินริมน้ำที่มีก้อนหินขนาดใหญ่แซมอยู่อย่างในภาพครับ



9. เมื่อนำไปทำสีในส่วนต่างๆเรียบร้อยแล้ว



จะเห็นว่าวิธีการนี้สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้หลากหลายรูปแบบ อยู่ที่จะลองนำไปประยุกต์ใช้ตามความคิดสร้างสรรค์และตามความถนัดของแต่ละท่านกันครับ ซึ่งดินปั้น DAS นี้ หลังจากที่ได้เคยแนะนำมาตั้งแต่ตอนนู้นและได้ลองใช้มาแล้วหลายครั้ง ถ้าชอบในการทำฉากจำลอง แนะนำให้ซื้อติดบ้านไว้ได้เลยครับ ช่วยในการทำงานได้หลากหลายและราคาไม่แพงถ้าเทียบกับยี่ห้ออื่นๆ หวังว่าบทความในครั้งนี้คงจะเป็นประโยชน์กันนะครับ แล้วพบกันใหม่ครับ

2 comments:

  1. Another great post but I think you should get someone to look at your translations. The automatic Thai - English is a little hit and miss and since your articles and tutorials are so well modelled it would be a shame to see them ignored because of the translation.

    Good luck with the blog, I for one am enjoying it.

    Tony

    ReplyDelete
  2. Hi Tony,
    I'm so sorry to say that I can't find someone to translate my blog in this period. Because this DT tutorial are too long article to asking my friend for a help. And a cost for another translator in Thailand are an expensive.
    But in the future, I'll tried to wrote another tutorial in English for sure.

    Many thanks again for your suggestion and so glad you like it. :)

    Best Regards,
    Thor

    ReplyDelete