Tuesday, January 20, 2015

ประกวดเพื่อรางวัลหรือประกวดเพื่อพัฒนาตน?

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมติดตามข่าวคราวงานประกวดต่างๆในต่างประเทศอยู่ตลอด และมีโอกาสได้เข้าร่วมกับงานประกวดแบบออนไลน์อยู่หลายครั้ง สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันในกติกาของทุกๆงานประกวดแบบออนไลน์คือ หากไม่มีการแบ่งระดับผู้เข้าประกวดที่ชัดเจนแล้ว จะไม่มีการจำกัดสิทธิ์ผู้ที่อยากร่วมส่งผลงานเข้าประกวด ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าร่วมได้ (ยกเว้นเฉพาะแค่ทีมงานผู้จัด) นั่นหมายความว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นมือใหม่พึ่งหัดทำ มือกลางทำมาพอสมควร หรือเก่งในระดับโลก(ในวงการนั้นๆ)ก็สามารถเข้าร่วมได้หมด ภายใต้กฎกติกาแบบเดียวกัน ระยะเวลาทำงานเท่ากันและต้องเป็นผลงานใหม่ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน
แม้ทุกๆคนที่ตัดสินใจเข้าร่วมประกวดนั้นจะรู้ดีว่าฝีมือของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน และอาจจะมีคนที่มีฝีมือมากๆหรือมีชื่อเสียงในระดับโลกมาร่วมด้วย แต่ทุกๆคนก็ยังคงร่วมส่งประกวดและตั้งใจทำผลงานของตัวเองให้ดีที่สุด ถึงแม้สุดท้ายแล้วคนที่ได้รางวัลจะเป็นเหล่าบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการ แต่ทุกๆคนที่เข้าร่วมก็ยอมรับในการตัดสินนั้นๆ เพราะว่าคนเหล่านั้นได้รางวัลไม่ใช่เพราะชื่อเสียงของเค้า แต่เป็นเพราะฝีมือในการทำงานของเค้าต่างหากที่ทำให้เค้าได้รับรางวัลและมีชื่อเสียง
ทำไมในต่างประเทศถึงไม่มีใครคิดว่าผู้ที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ควรจะเลิกประกวดได้แล้ว เพราะว่าเก่งพอแล้ว ควรจะเปิดโอกาสให้คนอื่นๆบ้าง? หรือในคำถามแบบเดียวกัน ทำไมไทเกอร์ วู๊ด หรือ โรเจอร์ เฟดเดอเรอร์ ถึงครองอันดับหนึ่งของโลกอยู่หลายปีโดยที่ไม่มีใครบอกให้เค้าวางมือเลิกลงแข่งเพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ? 

ผมมองว่าการประกวดและแข่งขัน นอกจากจัดขึ้นเพื่อเป็นการคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับรางวัลแล้ว มันยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาของบุคคลที่เข้าร่วมในการแข่งขัน เพราะแต่ละคนจะต้องพยายามฝึกฝนและพัฒนาฝีมือ เพื่อจะได้ทำผลงานให้ดีที่สุดมาเข้าร่วมในการประกวด
นี่คงจะเป็นเหตุผลว่าทำไมในต่างประเทศถึงไม่มีคนคัดค้านไม่ให้คนที่เก่งกว่าเข้าร่วมประกวด เพราะทุกคนเข้าใจว่าจะต้องพัฒนาผลงานของตัวเองให้ดีขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับรางวัลที่จะได้รับ ไม่ใช่ให้การแข่งขันนั้นลดมาตราฐานของผลงานที่ดีที่สุดลง (โดยตัดสิทธิ์คนที่เก่งออก) เพื่อให้ทุกคนสามารถมีสิทธิ์ที่จะได้รางวัล 

การประกวดที่มีการให้รางวัลเพียงแค่ไม่กี่รางวัล แน่นอนว่าจะต้องมีผู้ที่ต้องผิดหวังมากกว่าผู้ที่สมหวัง ดังนั้นหากผู้ที่เข้าร่วมไม่มองว่าการประกวดนั้นมีความสำคัญเฉพาะเรื่องของการได้รับรางวัลแล้ว มันยังมีสิ่งอื่นๆอีกที่คุณสามารถได้รับจากการประกวด ทั้งการที่ได้ทำงานอย่างเต็มที่และมีผลงานที่ทำเสร็จในหัวข้อและเวลาที่กำหนด การได้เห็นและเปรียบเทียบความแตกต่างของผลงานตัวเองกับผลงานที่ได้รางวัลและผลงานอื่นๆ ที่มีเงื่อนไขในการทำงานแบบเดียวกันแต่ผลลัพท์ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน และอาจจะได้รับคำวิจารณ์จากกรรมการหรือพูดคุยกับผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยให้คุณนำมาใช้ในการพัฒนาผลงานของตัวเองให้ดีขึ้น จนสามารถแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งรางวัลที่เหมาะสมกับความพยายามของคุณ

ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเนื่องจากได้ยินอยู่บ่อยครั้งจากหลายๆท่าน เกี่ยวกับความคิดเห็นที่มีต่อผู้เข้าร่วมงานประกวดว่า หากคุณเก่งแล้วเคยได้รางวัลมาแล้ว ก็ควรที่จะวางมือเลิกส่งงานเข้าประกวด เพื่อให้คนอื่นๆได้มีโอกาสในการรับรางวัลบ้าง 
ผมเองไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแบบนี้เพราะมันดูเหมือนเป็นการสนับสนุนให้คนที่เข้าร่วมประกวดนั้นไม่จำเป็นต้องพัฒนาฝีมือตัวเองมากมายก็มีสิทธิ์ที่จะได้รางวัล เพราะไม่มีคนที่เก่งกว่าให้ต้องแข่งขันด้วยแล้ว ซึ่งมันขัดกับจุดมุ่งหมายของการประกวดในแบบที่ผมเข้าใจ ที่ทุกคนควรจะพัฒนาตัวเองให้เต็มที่ถึงจะมีสิทธิ์ได้รับรางวัลนั้นๆ และการปลูกฝังให้คนหันมาสนใจและมุ่งมั่นในการพัฒนาตัวเองนี้ มันน่าจะทำให้เกิดคนที่พัฒนาจนมีฝีมือสูงขึ้นได้มากกว่า เหมือนอย่างที่ในวงการคนเล่นโมเดลกันดั้มทุกวันนี้ มีคนเก่งๆมากมายที่แข่งขันและพัฒนาฝีมือกันมาตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ คำว่าการแข่งขัน ไม่ได้หมายความว่าคนที่แข่งขันกันจะต้องเป็นศัตรูกันเสมอไป แม้จะมีเป้าหมายแบบเดียวกันก็สามารถช่วยกันแบ่งปันความรู้เพื่อพัฒนาฝีมือให้ถึงเป้าหมายนั้นได้ ดังนั้นหากผู้เข้าร่วมแข่งขันต่างมีไมตรีจิตช่วยเหลือแบ่งปันความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ก็น่าจะช่วยให้เกิดการพัฒนาฝีมือได้ดีกว่าการที่ต่างคนต่างทำและเรียนรู้ด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว (ซึ่งการช่วยกันนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ตลอดในการประกวดต่างๆในไทย) 
ตัวผมเองไม่เคยมีความคิดว่าการแบ่งปันความรู้ที่ตัวเองมีให้แก่คนอื่น จะเป็นการลดโอกาสในการได้รางวัลของตัวเอง เพราะผมไม่ได้แข่งขันเพื่อต้องการเพียงแค่รางวัล แต่เป็นการแข่งขันเพื่อพัฒนาตัวเอง ดังนั้นการที่แบ่งปันความรู้ไปนั้นจะช่วยให้คนอื่นพัฒนาขึ้นมาแข่งขันกับผมได้ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากกว่า 
ผมเชื่อมาตลอดว่าการแบ่งปันความรู้ที่มีให้แก่ผู้อื่น เปรียบเสมือนรากฐานสำคัญที่ทำให้วงการโมเดลทั่วโลกเติบโตและพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ เราทุกคนเริ่มต้นการพัฒนาตัวเองด้วยการเรียนรู้จากผู้อื่น ทั้งจากหนังสือ แมกกาซีน เว็บไซต์ บล็อก ฟอรั่ม เฟซบุ๊ค จากผู้คนทั่วโลกที่ทำขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ช่วยให้คนอื่นๆได้พัฒนาผลงานให้ดีขึ้น ดังนั้นเมื่อผมมีความรู้มากพอที่จะแบ่งปันได้ การตอบแทนให้กับความรู้ที่ได้มาจากผู้อื่นที่ดีที่สุด จึงเป็นการตอบแทนด้วยการแบ่งปันความรู้ให้แก่ผู้อื่นต่อเนื่องไป และหวังว่าคนที่ได้รับความรู้ไปจากผม จะนำความรู้ที่ได้นั้นไปแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นต่อเนื่องไปเช่นกัน

สุดท้ายนี้ ที่ผ่านมาผมไม่เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะตัวเองยังคงเข้าร่วมในการประกวด และอาจทำให้เข้าใจว่าที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่กล่าวมาข้างต้น เพราะจะทำให้ตัวเองเสียประโยชน์ที่จะได้จากการประกวด แต่ช่วง 2-3 ปีที่ไม่ได้เข้าร่วมกับการประกวดใดๆภายในประเทศเลย คงจะพอแสดงให้เห็นว่าการแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวผมเอง แต่เป็นการแสดงมุมมองที่มีต่อการประกวดของตัวเองให้กับคนอื่นได้รับทราบ 
ผมคงจะไม่สามารถบอกได้ว่าความคิดแบบไหนนั้นถูกต้องหรือดีกว่า เพราะนี่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผมเพียงคนเดียว ทุกๆคนมีสิทธิ์ที่จะคิดและพิจารณาด้วยตัวเองว่าสิ่งใดนั้นเหมาะสม ผมเพียงหวังว่าหากมีน้องๆรุ่นใหม่ๆที่กำลังพัฒนาฝีมือของตัวเองอยู่ หรือที่มีฝีมืออยู่แล้วได้เข้ามาอ่าน จะได้ลองพิจารณาถึงจุดมุ่งหมายของการส่งผลงานเข้าประกวดแบบที่ผมเขียนเอาไว้ และพิจารณาว่าเพราะอะไรตัวเองจึงส่งผลงานเข้าประกวด และหากคุณเป็นคนที่มีฝีมืออยู่แล้ว เมื่อวันนึงมีคนมาบอกกับคุณว่าคุณเก่งพอแล้ว คุณจะยังคงส่งผลงานเข้าร่วมประกวดต่อไปหรือวางมือและเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ ลองพิจารณาดูด้วยตัวคุณเองครับ

2 comments:

  1. ดห็นด้วยกับความคิดของท่านต่อลาภครับ
    เวลาผมส่งงานเข้าประกวาด ผมไม่เคยสนใจเรื่องรางวัลเลย
    ผมสนแค่ว่าเราได้นำงานที่เราตั้งใจทำ ออกไปให้เพื่อนๆได้ชม
    มีเวทีที่จะให้เราได้แสดงผลงาน

    ReplyDelete
    Replies
    1. ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นครับ :)

      Delete