Weathering an Urban Scene with Pigments
หลังจากที่ได้ลงเกี่ยวกับเรื่องของการวอชไปแล้ว ในครั้งนี้จะมาต่อกันที่อีกหนึ่งเทคนิคในการทำสีบนฉากจำลองครับ คือการใช้ผงสี หรือ pigment สำหรับจำลองคราบดินคราบฝุ่นต่างๆเพื่อช่วยให้ฉากจำลองของเรานั้นดูสมจริงมากขึ้นครับ วิธีการนี้ผมเคยเขียนถึงไว้คร่าวๆแล้วครั้งหนึ่งใน Diorama Techniques อยู่ในส่วนของเทคนิคขั้นสูง ในครั้งนี้ผมจึงนำมันมาเขียนอธิบายให้ละเอียดมากขึ้น และเพิ่มภาพขั้นตอนในการทำเพื่อที่จะได้ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ
ก่อนอื่นขออธิบายถึงผงสีหรือ pigment กันสักเล็กน้อยนะครับ pigment คือผงสีที่เป็นต้นกำเนิดของสีที่อยู่ในสีทุกประเภท เมื่อนำไปผสมกับส่วนผสมอื่นๆก็จะทำให้เกิดเป็นประเภทของสีขึ้นมา เช่น นำ pigment ไปผสมกับ linseed oil ก็จะได้สีน้ำมัน หรือถ้านำ pigment ไปผสมกับสารที่ทำให้ยึดเกาะ ก็จะได้สีชอล์ก เป็นต้นครับ ส่วนผงสีหรือ pigment ที่นิยมนำมาใช้ในงานโมเดลกันจะมีอยู่สองประเภทครับ
ประเภทที่ 1 คือผงสีที่ผลิตออกมาเฉพาะสำหรับงานโมเดล เป็นผงสีที่ผสมมาให้เป็นสีในโทนธรรมชาติ อย่างเช่นสีของดิน ทราย โคลน สนิม เป็นต้น เนื่องจากลักษณะเฉพาะของผงสีที่เนื้อสีเป็นผงละเอียด สามารถจับตัวเป็นก้อนได้ง่ายเมื่อผสมกับตัวทำละลาย และให้ลักษณะของสีแบบผิวด้าน จึงเหมาะแก่การนำมาใช้เพื่อทำสีเลียนแบบธรรมชาติครับ และการใช้งานที่ง่ายยังช่วยให้คนทั่วไปสามารถทำงานเวทเธอริ่งกันได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น แม้จะไม่มีความชำนาญในเรื่องของการผสมสีก็ตาม ดังนั้นสินค้าประเภทนี้จึงกลายเป็นที่นิยมในวงกว้าง และมีบริษัทต่างๆผลิตออกมาแข่งขันในท้องตลาดมากมายหลายยี่ห้อครับ
ประเภทที่ 2 คือสีชอล์ค หรือ pastel ครับ เป็นวิธีที่นิยมใช้กันสมัยก่อน ก่อนที่ผงสีสำหรับโมเดลจะผลิตออกมา โดยการใช้จะนำแท่งสีไปฝนกับกระดาษทรายแล้วใช้พู่กันนำไปแต้มหรือปัดตามตัวโมเดล หรืออีกวิธีที่ผมใช้คือนำไปฝนกับตะแกรงลวดให้ได้เป็นผงกองใหญ่ๆ ฝนเอาไว้หลายๆสีแล้วนำมาผสมกันให้เป็นสีที่ต้องการอย่างเช่นสีดินหรือทราย แต่ข้อเสียของสีชอลค์คือความเข้มข้นของสีจะไม่เท่ากับผงสี (เพราะมันมีส่วนผสมอื่นอยู่ด้วย ต่างกับผงสีที่เป็นเนื้อสีทั้งหมด) เมื่อนำไปปัดลงบนโมเดลแล้ว หากต้องการให้ติดทนก็ต้องพ่นเคลือบทับ ซึ่งเวลาพ่นเคลือบแล้วสีชอล์คมันจะจางลงจากเดิมก่อนพ่นมาก ต่างกับผงสีที่เมื่อพ่นเคลือบแล้วสีแทบจะไม่เปลี่ยนเลย ดังนั้นเมื่อมีผงสีเข้ามาทำตลาด การใช้สีชอล์คก็ค่อยๆหายไปครับ อาจจะยังพอมีคนใช้อยู่บ้างในหมู่คนเล่นโมเดลชุดผ้า หรือตุ๊กตาผู้หญิงไว้ใช้ในการแต่งหน้าครับ
ภาพตัวอย่างของสีชอล์คครับ ผมเคยใช้ของยี่ห้อนี้ แต่เป็นแบบ 6 สี หาซื้อได้ตามแผนกเครื่องเขียนในห้างครับ ที่เคยซื้อเมื่อหลายปีก่อนกล่องนึงน่าจะร้อยกว่าบาท สีที่ใช้บ่อยๆเช่น น้ำตาลเข้ม และ น้ำตาลแดง เอาไว้ทำคราบสนิม ส่วน สีเหลืองโอ๊ค สีเทา สีขาว และสีน้ำตาลเข้ม นำมาผสมให้เป็นสีดินหรือโคลนได้ครับ
สำหรับวิธีการใช้ผงสีที่จะทำให้ชมกันจะเป็นผงสีที่ผลิตออกมาเฉพาะสำหรับงานโมเดล ที่ผมใช้เป็นของยี่ห้อ MIG Productions ครับ ในตอนนี้เห็นมีคนนำเข้ามาขายกันหลายเจ้าแล้วทั้งของยี่ห้อนี้และยี่ห้ออื่นๆ หากสนใจก็ลองเซิจหาดูในเน็ตน่าจะเจอได้ไม่ยากครับ ส่วนวิธีการในการใช้ผงสี ผมนำมาสาธิตให้ดูสองแบบคือ ใช้ในการทำคราบฝุ่นที่ติดตามที่ต่างๆ และใช้ในการทำฝุ่นที่จับตัวเป็นก้อนหรือเม็ดฝุ่นที่เป็นผงเล็กๆ ครับ ที่นี้ลองมาดูทีละแบบเลย
1. ใช้ในการทำคราบฝุ่นที่ติดตามที่ต่างๆ
เป็นวิธีการเบื้องต้นในการใช้ผงสีครับ ซึ่งผมจะแบ่งวิธีในการใช้งานออกเป็น 2 แบบคือ
1.1 โดยการนำผงสีไปผสมกับตัวทำละลายให้กลายเป็นน้ำ แล้วนำไปทาลงบนบริเวณที่ต้องการ เมื่อแห้งแล้วก็จะเป็นเหมือนคราบฝุ่นที่ติดอยู่ ซึ่งตัวทำละลายที่สามารถใช้ได้กับผงสีก็จะมีอยู่หลายประเภท เช่น turpentine, white spirit หรืออินาเมลทินเนอร์ของทามิย่า เป็นต้น แต่ถ้าให้ดีที่สุดคือใช้ของบริษัทนั้นๆที่ผลิตมาคู่กันครับ อย่าง Thinner for Washes แบบในภาพ ที่ช่วยยึดสีฝุ่นเอาไว้กับพื้นผิว แต่ไม่ได้ติดแน่น ยังสามารถปัดส่วนที่ไม่ต้องการออกได้ หรือ Pigment Fixer ที่จะช่วยให้ผงสีนั้นติดทนและหลุดยากมากขึ้น
วิธีทำเริ่มจากนำผงสีไปผสมกับ Thinner for Washes ในจานสีให้เหลวพอประมาณ จากนั้นนำไปทาให้ทั่วบริเวณที่ต้องการครับ ในภาพผมใช้ผงสีมาผสมกันสองสีเพื่อให้ได้สีของคราบฝุ่นในแบบที่ต้องการ จะเห็นว่าผงสีนั้นเมื่อผสมกับตัวทำละลายจะมีสีที่เข้มขึ้นครับ ในส่วนที่ยังไม่แห้งสีจึงยังเข้มอยู่ และส่วนรอบๆที่แห้งแล้วก็จะมีสีที่อ่อนลงครับ
เมื่อผงสีแห้งสนิทแล้วจะให้ลักษณะของสีที่ด้านและดูเหมือนคราบฝุ่นของจริงครับ และการที่ผสมสีด้วย Thinner for Washes จะทำให้สีนั้นแค่ยึดติดอยู่บนพื้นผิว จึงสามารถที่จะปัดสีส่วนที่ไม่ต้องการออกได้ เนื่องจากผมต้องการให้ฉากนี้มีพื้นแบบถนนหินที่มีฝุ่นเกาะแน่นอยู่ตามร่อง ดังนั้นตอนที่ผมทาผมจึงผสมสีให้ค่อนข้างข้นครับ เพื่อที่สีจะได้ติดชัดอยู่ตามร่อง และเห็นเป็นคราบชัดเจนเมื่อแห้งแล้วครับ แล้วจึงใช้นิ้วมาปัดสีส่วนเกินที่อยู่บนพื้นถนนออกอีกที
เมื่อปัดคราบผงสีส่วนที่ไม่ต้องการออกแล้ว จะเห็นว่าสีนั้นจะติดอยู่ตามร่องหรือซอกที่นิ้วมือเช็ดไม่ถึงครับ และจะสังเกตุได้ว่าผงสีนั้นจะเคลือบอยู่ที่ผิวของพื้นบางๆ จนดูเหมือนสีของพื้นนั้นถูกย้อมเป็นสีเทาอมทราย หากเปรียบเทียบกับภาพก่อนการใช้ผงสีจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนครับ หรือถ้าอยากให้ดูมีฝุ่นน้อยกว่านี้ ก็สามารถใช้พู่กันหรือคัตต้อนบัตชุบกับตัวทำละลาย และนำมาเช็ดส่วนที่ไม่ต้องการ จะช่วยให้เช็ดออกได้ง่ายขึ้นครับ เพียงเท่านี้เราก็จะได้ลักษณะของพื้นถนนหินที่ดูเหมือนกับมีฝุ่นปกคลุมอยู่ครับ
1.2 โดยการนำผงสีไปไว้ในจุดที่ต้องการ (ทา ปัด เท) แล้วใช้พู่กันจุ่มตัวทำละลายมาทาหรือหยอดที่ผงสีอีกที เพื่อให้สีนั้นติดอยู่ในบริเวณที่ต้องการ วิธีนี้อาจจะดูยุ่งยากมากขึ้นหน่อย แต่ก็จะให้ความหลากหลายของคราบสีบนชิ้นงานได้ง่ายกว่าครับ เพราะเราสามารถใช้ผงสีหลายๆสีลงบนพื้นที่เดียวกันได้ แล้วค่อยเอาพู่กันจุ่มตัวทำละลายมาทาให้สีต่างๆนั้นผสมกัน สีที่ได้ก็จะมีโทนสีที่ต่างกันในแต่ละส่วนขึ้นอยู่กับการลากพู่กันครับ ซึ่งจะต่างกับวิธีแรกที่จะมีเพียงสีเดียวอยู่บนชิ้นงาน
สำหรับตัวอย่างที่นำมาทำให้ชม เป็นวิธีที่เคยทำไว้ในการทำคราบฝุ่นบนรถถังครับ [M14/41] แต่สามารถนำวิธีนี้ไปใช้ในการทำคราบฝุ่นหรือดินบนพื้นฉากจำลองได้เช่นเดียวกันครับ ในภาพจะเห็นว่าผมใช้ผงสีสามสีมาทำ โดยนำพู่กันจุ่มผงสีแต่ละสีไปแตะหรือหยอดไว้แต่ละส่วนกระจายไปแต่ละจุด
จากนั้นนำพู่กันอีกด้ามจุ่มตัวทำละลายแล้วนำมาแตะบนผิวโมเดล ตัวทำละลายที่เป็นน้ำจะวิ่งไปบนผิวโมเดลและผสมกับสีเองครับ และสีแต่ละสีที่ลงไว้ใกล้ๆกันเมื่อโดนตัวทำละลายก็จะผสมเข้ากันเองครับ หรือจะใช้พู่กันมาแตะหรือลากให้มันผสมกันมากขึ้นก็ได้เช่นกัน รวมถึงสามารถใช้พู่กันทาเกลี่ยให้ผงสีนั้นเกาะตัวกันหนาหรือเป็นคราบฝุ่นที่คลุมพื้นผิวอยู่บางๆครับ
เมื่อผงสีนั้นแห้งแล้ว จะเห็นว่าผมพยายามใช้พู่กันทาเกลี่ยให้สีมันไปติดอยู่ตามซอกร่องต่างๆ ส่วนบริเวณที่เป็นพื้นที่โล่งจึงมีผงสีเคลือบอยู่เพียงบางๆครับ
จากนั้นก็ใช้นิ้วมือมาเช็ดสีส่วนที่ไม่ต้องการออกเช่นเดิมครับ
เมื่อเสร็จแล้วจะเห็นว่าผงสีนั้นจะไปติดอยู่ตามซอกร่องต่างๆ และช่วยให้ดูเหมือนกับว่าเป็นคราบฝุ่นที่ติดอยู่จริงๆครับ
อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้ผงสีแบบนี้ครับ [Hetzer] แต่อันนี้จะใช้ตัวทำละลายคือ Pigment Fixer ที่จะช่วยให้ผงสีนั้นติดทนขึ้น การทำงานก็เหมือนกับที่กล่าวไว้ด้านบนครับ จะต่างกันหน่อยตรงที่ผงสีที่ผสมด้วย Pigment Fixer จะยึดติดกับพื้นผิวได้ดีกว่า จึงไม่สามารถใช้นิ้วหรือพู่กันมาปัดออกได้ครับ ดังนั้นหากต้องการลบผงสีส่วนที่ไม่ต้องการออก จะต้องใช้ Pigment Fixer มาทาให้สีมันละลาย แล้วใช้พู่กันมาทาเกลี่ยหรือลบออกครับ ซึ่งในรูปตัวอย่างจะเห็นได้บนบริเวณด้านบนป้อม ที่ผมใช้การทาเกลี่ยด้วย Pigment Fixer เพื่อให้ผงสีนั้นกระจายอยู่ในแต่ละจุดครับ
2. ใช้ในการทำฝุ่นที่จับตัวเป็นก้อนหรือเม็ดฝุ่นที่เป็นผงเล็กๆ
วิธีการนี้จะใช้ในการทำเศษฝุ่นผงเล็กๆที่อยู่ตามซากอาคารที่พัง หรือจะใช้ทำเป็นเศษฝุ่นดินตามพื้นดินก็ได้เช่นกันครับ ซึ่งผมมักจะใช้วิธีการนี้เป็นขั้นตอนท้ายๆหลังจากที่ทำคราบสกปรกคราบฝุ่นต่างๆบนชิ้นงานเสร็จแล้ว แล้วค่อยมาทำให้เกิดฝุ่นผงเล็กๆอีกที เพราะว่าฝุ่นผงเล็กๆที่ทำขึ้นนั้นมันคือผงสีที่จับตัวกันเป็นก้อนครับ มันจะไม่แข็งเหมือนทรายเม็ดเล็กๆ เมื่อเอานิ้วไปกดหรือพู่กันไปแตะมันก็จะแตกออก ดังนั้นจึงทำเป็นขั้นตอนท้ายๆเพื่อที่จะได้ไม่พลาดไปลบมันครับ ข้อดีของวิธีการนี้คือสามารถทำเป็นฝุ่นผงเล็กๆได้หลายสีบนชิ้นงานครับ ต่างจากการใช้ผงทรายที่จะมีเพียงแค่สีเดียว ที่สำคัญคือทำง่ายมากครับ ลองมาดูวิธีการกัน
อุปกรณ์ที่ใช้ครับ ผงสีสีต่างๆ และตัวทำละลายคือ Pigment Fixer ครับ ที่เห็นนั้นผมนำผงสีทั้งสี่สีมาผสมกันให้ได้สีใหม่อย่างที่อยู่ในถ้วยครับ หรือจะใช้ผงสีแต่ละสีไปทำเป็นฝุ่นเลยโดยที่ไม่ต้องนำมาผสมกันก็ได้ครับ แล้วแต่สะดวก
ใช้พู่กันเบอร์ใหญ่ๆหน่อย จุ่ม Pigment Fixer และทาลงบนบริเวณที่ต้องการครับ ทาเพียงบริเวณเล็กๆก่อนเพื่อที่จะได้ทำทีละส่วนและ Pigment Fixer จะไม่แห้งไปเสียก่อนครับ
ใช้พู่กันเก่าๆปลายบานๆมาจุ่มกับผงสีครับ จากนั้นนำไปเคาะให้ผงสีตกลงบนบริเวณที่ทา Pigment Fixer ครับ สำหรับการเคาะพู่กันผมจะทำแบบในภาพ คือจับพู่กันค่อนมาทางด้านหลังเยอะๆ เพื่อที่จะได้มีพื้นที่พอให้ใช้นิ้วชี้เคาะลงที่บริเวณปลายพู่กันครับ ผงสีเมื่อถูกเคาะจะตกลงบน Pigment Fixer และจะติดอยู่แค่ส่วนด้านล่างของผงสีที่สัมผัสกับ Pigment Fixer เท่านั้น มันจะไม่ละลายไปทั้งหมด จึงดูเป็นผงฝุ่นเม็ดเล็กๆกระจายอยู่บริเวณที่เคาะผงสีลงไปครับ
ลองดูตัวอย่างจากในภาพ (ขออภัยที่ถ่ายมาไม่ชัดครับ) จะเห็นว่ามีผงสีทรายเป็นเม็ดเล็กๆกระจายอยู่ตามด้านบนของกองอิฐและพื้นครับ ซึ่งถ้าเราอยากให้มีเศษผงมากๆก็ย้อนกลับไปทำตามขั้นตอนแรกครับ คือทา Pigment Fixer และนำผงสีมาเคาะเพิ่มเติม จากนั้นก็ค่อยๆไล่ทำไปทีละส่วนจนครบทั้งหมดครับ ซึ่งในตอนที่เราทำการเคาะผงสีนั้นบางทีมันอาจจะมองไม่ชัดว่าลงผงสีไปมากหรือน้อย เนื่องจากผงสีนั้นจะเข้มขึ้นเมื่อโดนตัวทำละลาย ดังนั้นเมื่อทิ่งไว้จนมันแห้งแล้ว ถ้ารู้สึกว่าส่วนไหนที่มีผงมากเกินไปก็ใช้พู่กันจุ่ม Pigment Fixer มาทาเกลี่ยลบส่วนที่ไม่ต้องการได้ในภายหลังครับ
อีกตัวอย่างหนึ่งจากผลงานอีกชิ้นครับ [HERE] ใช้วิธีการทำแบบเดียวกัน ในภาพที่เห็นเป็นกองๆของผงสีเม็ดเล็กๆสีออกโทนน้ำตาลแบบฝุ่นดินทรายที่กระจายอยู่ตามพื้นและบนกองอิฐนั้น ใช้วิธีการแบบที่กล่าวไว้ข้างต้นทำครับ แต่ว่าทำซ้ำไปมาหลายๆรอบ เพื่อให้ได้กองฝุ่นหนาๆแบบซากปรักหักพังครับ
ทั้งหมดนี้คือการนำผงสีหรือ pigment มาใช้ในการทำคราบฝุ่นบนฉากจำลองแบบเบื้องต้นครับ ซึ่งมันสามารถนำไปใช้กับการทำโมเดลแบบอื่นๆได้เช่นกันครับ และผงสีหรือ pigment นี้มันยังสามารถนำไปพลิกแพลงใช้ในการทำเวทเธอริ่งได้อีกหลากหลายครับ อยู่ที่จะนำไปทดลองกัน เพราะยิ่งนำไปใช้งานมากเท่าไหร่ ประสบการณ์ในการใช้งานมันจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจถึงคุณสมบัติของมันและนำไปใช้งานได้หลากหลายครับ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เข้าใจถึงวิธีการใช้สีชนิดนี้ได้ง่ายขึ้นนะครับ และถ้ามีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม จะถามมาทางบล็อกนี้หรือทางเฟซบุ๊คก็ได้ครับ ยินดีครับ
สำหรับตอนนี้ยังเหลือเรื่องของจานสีแบบต่างๆอีกอันหนึ่งที่ตั้งใจไว้ว่าจะเขียนมาฝากกัน ไว้เขียนเสร็จเมื่อไหร่คงจะได้นำมาลงเร็วๆนี้ครับ
ขอบคุณมากครับ
ReplyDelete