Monday, July 30, 2012

2.2. Making building from card board part 1 - general building

(การทำอาคารด้วยกระดาษ ตอนที่ 1 - อาคารแบบทั่วไป)
ในตอนที่ 1 นี้ จะเป็นการทำอาคารด้วยกระดาษแบบที่ไม่มีร่องรอยความเสียหายจากการโดนทำลาย รวมถึงอาคารแบบที่เราไม่ต้องการให้เห็นภายในของตัวอาคารครับ ตัวอย่างที่ทำมาให้ดูจะเป็นรูปแบบของอาคารโรงนาในแถบชนบทของยุโรป ซึ่งมีโครงสร้างอาคารแบบง่ายๆและไม่ซับซ้อน และทำออกมาในมาตราส่วน 1/35 ซึ่งสามารถนำวิธีการนี้ไปปรับใช้ในการสร้างอาคารที่มีรูปทรงที่ซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงการทำอาคารในมาตราส่วนอื่นๆ ได้เช่นเดียวกันครับ

ข้อดีของการทำอาคารด้วยกระดาษนั้น จะแตกต่างกับการทำอาคารด้วยปูนพลาสเตอร์ตรงที่จะช่วยลดน้ำหนักในการสร้างตัวอาคารได้มากครับ เพราะปูนพลาสเตอร์นั้นจะไม่เหมาะกับการทำอาคารที่มีความสูงมากๆหรือสูงหลายๆชั้น เนื่องจากเวลาทำส่วนของผนัง จะไม่ได้ใช้แผ่นปูนที่มีความหนามากนัก (ในมาตราส่วน 1/35 จะหนาเพียง 1-2 ซม.)เพื่อให้เหมาะสมกับมาตราส่วนที่ทำ จึงไม่สามารถที่จะรับน้ำหนักมากๆได้ ทำให้มีโอกาสที่จะหักหรือพังได้ง่ายกว่า ส่วนการทำอาคารกระดาษนั้นถ้าเลือกใช้กระดาษที่มีความหนาและแข็งตัว อย่างเช่นกระดาษชั้น หรือกระดาษโฟโต้บอร์ด ที่มีความหนาเพียง 6 มม. ก็สามารถจะสร้างอาคารที่มีความสูงมากๆได้ โดยที่รูปทรงนั้นยังคงรูปได้ดีและมีความแข็งแรงทนทานกว่า
ข้อดีอีกอย่างคือการทำอาคารด้วยกระดาษจะใช้เวลาในการทำงานน้อยกว่าปูนพลาสเตอร์ โดยเฉพาะอาคารแบบปิดที่มองไม่เห็นภายในและมีรายละเอียดบนตัวอาคารไม่มากนัก ถึงแม้กระดาษที่ใช้จะมีความหนาไม่มาก แต่เมื่อประกอบเข้าด้วยกัน และมองไม่เห็นภายในแล้ว ก็จะดูหลอกตาเหมือนกับเป็นอาคารที่มีความหนาแบบเดียวกับการใช้ปูนพลาสเตอร์ครับ



วิธีการที่นำมาลงนี้ ต้องขอขอบคุณ พี่โปรในป่า และคุณ M4Sherman แห่งเวป Thaimsot ที่นำวิธีการทำมาลงให้ดูและเป็นแรงบันดาลใจให้ลองทำอาคารในแบบวิธีนี้ด้วยนะครับ ลองดูกันไปทีละขั้นเลยครับ 
กระดาษที่นำมาใช้ทำตัวบ้านเป็นกระดาษชั้น ( แบบเดียวกับที่ใช้ในหัวข้อ 1.1. การทำฐานวางโมเดล ) โดยผมจะเลือกใช้อยู่ 2 ความหนา คือ 3 มม. และ 6 มม. ครับ

1. ขั้นตอนแรกจะต้องทำการวัดขนาดของตัวบ้านทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านหน้าบ้าน ด้านหลัง ด้านข้างทั้งสองด้าน รวมถึงหลังคาและพื้น โดยใช้ฟิกเกอร์ขนาด1/35มาวางเทียบเพื่อกำหนดสัดส่วน (ขออภัยที่ไม่ได้ถ่ายขั้นตอนนี้ไว้ครับ ในครั้งหน้าจะนำภาพวิธีการมาลงให้ดูกันอีกทีครับ )ทั้งความกว้างและความสูงของประตูหน้าต่าง ส่วนรูปแบบของอาคารที่จะทำ ถ้านึกไม่ออกก็ลองเซิจหาในเน็ท หรืออาจจะลองทำเลียนแบบของสำเร็จที่มีขายอยู่ อย่างของยี่ห้อ Mini Art หรือ Verlinden Productions ก็ได้ครับ
แผ่นกระดาษส่วนที่เป็นผนังหน้าบ้าน ผมจะใช้แบบความหนา 3 มม. เพราะสามารถที่จะตัดหรือเจาะช่องประตูและหน้าต่างได้ง่ายกว่า รวมถึงจะได้ทำรอยแตกของตัวบ้านที่มองเห็นผนังอิฐได้ด้วย โดยการตัดกระดาษให้ดูเหมือนรอยแตกหัก จากนั้นค่อยเอาแผ่น 3 มม. อีกแผ่นที่วัดขนาดไว้เท่ากันมาประกบอีกที ส่วนขอบของประตูหรือหน้าต่าง ถ้าต้องการให้ดูมีความหนามากขึ้น ให้ใช้กระดาษตัดเป็นแถบยาว และติดตามขอบด้านในของประตูหรือหน้าต่าง เพราะส่วนนี้จะเป็นส่วนที่มองเห็นได้ชัด จะได้ดูหลอกตาว่าอาคารนั้นดูมีความหนามากขึ้น ส่วนผนังอื่นๆใช้กระดาษแบบ 6 มม. จะมีความหนาและแข็งแรงกว่า ประกอบทั้งหมดเข้าด้วยกันด้วยกาว UHU (อาจจะตัดกระดาษเสริมเป็นคานไว้ด้านในเพิ่มด้วยก็ได้ครับ เพื่อให้ผนังบ้านนั้นแข็งแรงมากขึ้นและไม่โก่งหรือบิดงอ)
การทำก้อนอิฐ ผมใช้แผ่นไม้ก็อก
(cork) สำหรับงานโมเดลสถาปัตย์ หาซื้อได้ตามแผนกเครื่องเขียนเช่นเดียวกัน นำมาตัดเป็นก้อนแล้วเรียงติดลงไปด้วยกาวลาเท็กซ์ จากนั้นใช้เสปรย์กระป๋องสีดำพ่นด้านในของตัวบ้าน เพื่อที่เวลาติดประตูแล้วมองลอดเข้าไปจะดูเป็นเงามืดๆและมองไม่เห็นสีของกระดาษครับ ถ้าตัวอาคารที่ทำนั้นมีหน้าต่างหรือกระจกก็ใช้สีดำพ่นหลอกด้านในแบบนี้เช่นเดียวกันครับ 


2. ด้านนอกก็ใช้สีดำพ่นเช่นเดียวกัน เพื่อที่กระดาษจะได้ดูดสีและทำให้ผิวกระดาษแข็งตัวและสามารถขัดหรือโดนน้ำได้ครับ จากนั้นใช้พุตตี้ (Tamiya Putty) ผสมกับทินเนอร์ให้ข้นๆ เอาพู่กันเบอร์ใหญ่ที่พังแล้วหรือเก่าๆมาแปะๆและกดลงไปให้พื้นผิวนั้นดูขรุขระ วิธีนี้จะเป็นการช่วยลบรอยต่อระหว่างแผ่นกระดาษไปด้วยในตัวครับ 


3. เมื่อทิ้งให้แห้งสนิทซัก 1 วันแล้วใช้กระดาษทรายมาขัดหรือลูบอีกที ตามแต่ความต้องการให้ผิวอาคารนั้นขรุขระมากน้อยแค่ไหน ก็จะได้พื้นผิวของอาคารแบบที่เห็นครับ 


4. ใช้ดินสอพองผสมกับน้ำ มาทาให้ทั่วร่องอิฐครับ แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดออก ดินจะไปอุดอยู่ตามร่องอิฐดังภาพ ส่วนหลังคาใช้กระดาษแข็ง อารต์การ์ดแบบบางมาตัดเป็นสี่เหลี่ยมแล้วติดเรียงไปอีกที โดยเรียงจากแนวล่างสุดและไล่ทับขึ้นไปด้านบนทีละชั้น 


5. อุปกรณ์ต่างๆบนตัวบ้านที่เป็นไม้ ใช้ไม้บัลซ่าแบบแผ่นหนา 2 มิลทำครับ ผสมกับแท่งพลาสติก แผ่นตะกั่ว และลวดทองแดง ผมทำแบบให้ประกอบแยกชิ้นได้ เพื่อความสะดวกในการทำสีครับ 


6. พื้นดินใช้ดินปั้นยี่ห้อ DAS เช่นเดิม จากนั้นโรยด้วยทราย และเศษดินเศษหิน เอากาวลาเท็กซ์ผสมน้ำมาชโลมให้ทั่วอีกทีเพื่อให้ทรายนั้นยึดเกาะผิวได้แน่นหนา 


7. เมื่อทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ครับ อุปกรณ์ต่างๆบนตัวบ้าน ลองนำมาติดดู แล้วค่อยไปแยกทำสีทีหลัง นำหญ้ามาติดตามวิธีที่ได้เคยลงไว้ก่อนหน้านี้ครับ และเอาดอกไม้แห้งมาเสียบเป็นพุ่มไม้อีกที 


หลังจากทำสีเสร็จเรียบร้อยครับ 





จากภาพ จะเห็นว่าประตูบานใหญ่ที่เปิดแง้มเอาไว้จะมองไม่เห็นภายในเพราะใช้สีดำพ่นเอาไว้ ส่วนภาพสุดท้ายที่มีหน้าต่างกระจกก็ใช้วิธีพ่นสีดำไว้ด้านในเช่นเดียวกันครับ เพื่อให้ดูหลอกตาว่าภายในบ้านนั้นไม่ได้ตันและดูมีพื้นที่ลึกเข้าไปภายในครับ 


สำหรับการทำบ้านด้วยกระดาษนั้นจะใช้เวลาในการทำงานไวมากครับ จะเสียเวลาแค่ตรงรอให้พุตตี้แห้ง กับการนั่งเรียงแผ่นหลังคาเท่านั้น ซึ่งเฉพาะตัวบ้านเอง กับอุปกรณ์ไม้ต่างๆ ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงก็เสร็จแล้วครับ ในตอนเริ่มต้นอาจจะยากตรงการวาดแบบตัวบ้านทั้ง 4 ด้าน ให้มีขนาดที่เหมาะสมเข้ากับตัวฉากที่วาง และสามารถนำกระดาษมาประกอบกันแล้วลงตัว ไม่เบี้ยวไปมา แต่ถ้าได้ลองทำเรื่อยๆให้เกิดความชำนาญ จะสามารถวาดแบบให้ลงตัวได้อย่างง่ายดายครับ

No comments:

Post a Comment