Wednesday, July 25, 2012

1.7. Making concrete or asphalt road on a large base

(การทำพื้นถนนสมัยใหม่บนฐานขนาดใหญ) 
วิธีการที่ทำมาเป็นตัวอย่าง จะเป็นลักษณะของพื้นถนนแบบราดยางมะตอย (Asphalt) ที่พบเห็นได้ทั่วไปในเมืองสมัยใหม่ครับ ในขั้นตอนนี้ผมไม่ได้ถ่ายรูปไว้ละเอียด จึงขออธิบายเป็นตัวหนังสือเยอะๆแทน ถ้าอ่านแล้วยังงงๆหรือมีข้อสงสัยก็สอบถามกันได้ครับ การทำพื้นถนนสมัยใหม่ที่ทำมาให้ดูจะมีอยู่สองวิธีครับ


1.7.1 Making a road from card board  
         (การทำพื้นถนนด้วยกระดาษชั้น)
 

ตัวอย่างที่ทำมาลงนี้ จะเป็นการทำถนนแบบนอกเมืองที่ด้านข้างถนนเป็นพื้นดินในขั้นแรกผมจะใช้กระดาษชั้นมาต่อให้เป็นกล่องก่อนครับ จากนั้นตัดกระดาษชั้นอีก 1แผ่นให้มีขนาดเท่ากับกล่องที่ทำไว้ แต่ตัดด้านนึงให้เฉียงเพื่อเป็นการกำหนดแนวของถนนและไหล่ทางด้านข้างถนน แล้วใช้กระดาษทรายขัดตรงส่วนของริมไหล่ทางให้มีขอบมนครับ (กระดาษชั้น สามารถใช้กระดาษทรายขัดตามขอบหรือมุมได้ครับ แต่ถ้าขัดที่ผิวหน้ากระดาษโดยตรงจะทำให้ผิวกระดาษนั้นหลุดลอกออกมาเป็นแผ่นๆ) แล้วจึงทำส่วนพื้นดินด้วยดินละเอียดและกาวลาเท็กซ์เหมือนในขั้นตอนก่อนๆครับ 




พื้นผิวของกระดาษชั้นจะไม่เรียบเป็นเนื้อเดียวกัน แต่จะมีความขรุขระอยู่เล็กน้อย ซึ่งเหมาะจะเอามาทำเป็นผิวของถนนครับ ขั้นตอนในการทำคือจะต้องพ่นสีลงไปที่ผิวของกระดาษก่อน เพื่อให้เนื้อกระดาษนั้นดูดสีเข้าไปและทำให้ผิวกระดาษมีความแข็งตัวมากขึ้นและสามารถขัดได้ด้วยกระดาษทราย ด้วยการใช้สีสเปรย์กระป๋องสีเคลียร์ใสพ่นลงไปให้ทั่วพื้นผิวก่อน 1 รอบ (แลคเกอร์จะช่วยเคลือบให้ผิวของกระดาษนั้นแข็งตัวได้ดีกว่าสีธรรมดาทั่วไปที่เวลาพ่นลงไปแล้วจะโดนดูดสีมากกว่า) พอแห้งแล้วค่อยเอาสีดำมาพ่นทับลงไปให้ทั่วๆจนสีทึบอีกที หรือจะใช้สีอื่นก็ได้เช่นเดียวกันครับ ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วพ่นเคลียร์ทับอีกรอบ เมื่อผิวของกระดาษแห้งสนิทแล้วจะแข็งพอให้เราใช้กระดาษทรายขัดให้ผิวกระดาษนั้นสม่ำเสมอขึ้นได้ เหมือนกับผิวถนนจริงๆที่จะมีทั้งผิวขรุขระและผิวที่เรียบ จากการโดนกดทับของน้ำหนักรถครับ ต่อไปใช้กระดาษทรายเบอร์หยาบๆเช่น 220 หรือ 400 มาขัดให้ทั่วพื้นผิวอีกที ซึ่งในขั้นตอนนี้จะยิ่งเห็นได้ชัดถึงลักษณะของผิวตามแต่การขัดของเราครับ ถ้าขัดน้อยผิวก็จะหยาบมากแต่ถ้าขัดมากผิวก็จะเรียบมากขึ้น

หลังจากนั้นจึงนำไปทำสีตามความถนัดครับ มีข้อแนะนำนิดนึงคือสีของยางมะตอยนั้นเมื่อราดลงไปใหม่ๆสีจะดำครับ แต่เมื่อผ่านไปนานๆจากการถูกใช้งานและผ่านฝนผ่านแดด สีดำก็จะค่อยๆซีดลงจนกลายเป็นสีเทา แบบที่เห็นกันทั่วๆไป




ภาพผลงานเมื่อเสร็จแล้ว ในภาพแรกอาจจะยังไม่เห็นถึงลักษณะของพื้นผิวถนนที่ได้ทำเอาไว้ เพราะความหยาบของผิวถนนนั้นไม่ได้มากจนขรุขระและสีจะดูกลืนๆกันไปหมด ในภาพสุดท้ายจึงจะเห็นถึงลักษณะของผิวกระดาษได้อย่างชัดเจนครับ 



1.7.1 Making a road from sandpaper  
         (การทำพื้นถนนด้วยกระดาษทราย)
 
วิธีนี้ไปอ่านเจอที่ฝรั่งเค้าทำไว้ครับ เลยเอามาทดลองทำดูเป็นรูปแบบของถนนภายในเมืองที่มีเกาะกลางถนน เริ่มด้วยการทำกล่องขึ้นมาก่อนด้วยกระดาษชั้นเช่นเคย จากนั้นนำกระดาษทรายมาติดทับที่ผิวหน้าด้านบนของกล่องด้วยสเปรย์กาวหรือกาวลาเท็กซ์ โดยพยายามติดให้แนบสนิทไปกับผิวกล่องโดยที่ไม่มีรอยยับหรือโป่งพองครับ ซึ่งวิธีการนี้พื้นผิวของถนนจะหยาบมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับเบอร์ของกระดาษทรายที่เราเอามาติดครับ อย่างที่ผมใช้คือกระดาษทรายเบอร์ 400 ผิวที่ได้จึงไม่หยาบมากนัก 



ส่วนเกาะกลางถนนก็ทำจากแผ่นปูนพลาสเตอร์ ขัดมุมให้มนด้วยกระดาษทรายครับ และทำพื้นดินตรงกลางด้วยวิธีการเดียวกัน จากนั้นจึงนำไปทำสีตามถนัดครับ 


ผลงานเมื่อเสร็จแล้ว 



วิธีที่ 2 นี้จะค่อนข้างง่ายและใช้เวลาน้อยกว่ามาก แต่ลักษณะของพื้นผิวที่ได้ออกมาจะดูเรียบและเป็นระเบียบเท่าๆกัน แตกต่างกับวิธีที่ 1 ที่จะดูขรุขระมากกว่าครับ นอกจากการทำพื้นถนนทั้งสองวิธีนี้แล้ว เราสามารถใช้วัสดุชนิดอื่นๆมาทำพื้นถนนได้เช่นเดียวกันครับ เช่น ใช้แผ่นกระดาษที่มีผิวเรียบหรือมันอย่าง กระดาษอารต์การด์ กระดาษโฟโต้บอรด์ หรือการใช้แผ่นอะครีลิค แผ่นพลาสติกชนิดต่างๆ หรือการหล่อเป็นแผ่นปูนขึ้นมาเอง เป็นต้น ซึ่งลักษณะพื้นผิวของวัสดุที่กล่าวมาก็จะให้ผลลัพท์ออกมาแตกต่างกัน (วัสดุผิวเรียบน่าจะเหมาะกับการทำถนนประเภทที่ใช้การเทด้วยปูนซีเมนต์มากกว่าครับ)

 -----------------------------------------------
  ----------------------------------------------- 

Conclusion for Basic Techniques  
(สรุปขั้นพื้นฐาน)

ทั้ง 7 ข้อที่ได้ทำมาเป็นตัวอย่าง ได้มุ่งเน้นไปที่การทำพื้นของฉากเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นเหมือนกับขั้นพื้นฐานหรือเบสิคที่ต้องใช้อยู่เป็นประจำในการทำฉาก จำลองครับ ถ้าเราได้ลองทำจนเกิดความชำนาญในขั้นพื้นฐานนี้แล้ว จะสามารถจะนำไปประยุกต์หรือดัดแปลงให้เกิดความหลากหลายได้มากขึ้น ทั้งจากความคิดสร้างสรรค์ในการจัดวางรูปแบบฉากจำลองของตัวเราเอง รวมถึงการเลือกวัสดุอุปกรณ์อื่นๆมาใช้งาน ที่นอกเหนือไปจากที่ผมได้พูดถึงไว้ครับ เพราะว่าการทำฉากจำลองนั้นไม่มีรูปแบบการทำงานที่ตายตัว เราสามารถที่จะใช้วิธีการใดหรือวัสดุแบบใดก็ได้ตามความถนัดหรือสะดวกเพื่อ ให้ได้ผลลัพท์ตามที่เราต้องการ ขั้นตอนการทำงานและตัวอย่างที่ผมนำมาลงจึงเป็นเพียงแนวทางหนึ่งของการทำงาน ประเภทนี้ครับ ซึ่งจริงๆแล้วการทำงานขั้นพื้นฐานมันอาจจะมีมากกว่านี้อีก แต่ผมเอามาลงเท่าที่พอจะนึกออกและได้ถ่ายภาพขั้นตอนเอาไว้ครับ ในอนาคตถ้านึกอะไรออกอีกคงจะนำมาลงเพิ่มอีกที
ส่วนในครั้งหน้าก็คงจะเข้าสู่หัวข้อที่ 2. ขั้นกลาง (Intermediate) ซึ่งจะเป็นการทำงานที่เริ่มซับซ้อนมากขึ้น แล้วพบกันใหม่ครับ

3 comments:

  1. กระดาษชั้นหาซื้อได้ที่ไหนครับหน้าตามันเป็นยังไงครับ

    ReplyDelete
  2. กระดาษชั้น หรือบางที่เรียกกระดาษอัด จะเป็นกระดาษแข็งสีเทาที่มีความหนาหลายขนาด แบบที่บางสุดจะหนาประมาณ 3-4 มิลลิเมตร เวลาขายจะขายเป็นแผ่นใหญ่ประมาณขนาด A0 ส่วนตัวอย่างกระดาษชั้นดูได้ในภาพด้านบนที่เป็นสีเทาๆก่อนทำสีครับ

    หาซื้อได้ตามแผนกเครื่องเขียนตามห้างใหญ่ๆ หรือ B2S รวมถึงร้านเครื่องเขียนใหญ่ๆเช่นร้านสมใจ หรือร้านเครื่องเขียนที่อยู่บริเวณมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็น่าจะมีขายเช่นกันครับ

    ReplyDelete
  3. ขอบคุณครับ ^^

    ReplyDelete