Wednesday, August 1, 2012

2.3. Making building from card board part 2 - destroyed building

(การทำอาคารด้วยกระดาษ ตอนที่ 2 - อาคารแบบโดนทำลาย)
ในตอนที่ 2 นี้ จะเป็นการทำอาคารด้วยกระดาษแบบที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของความเสียหายที่โดนทำลายจากแรงระเบิด และจะทำให้มองเห็นส่วนภายในของตัวอาคาร ดังนั้นวิธีการในการขึ้นรูปของตัวอาคารในครั้งนี้จึงแตกต่างจากการทำอาคารในคราวที่แล้วอยู่บ้าง เพราะจะต้องคำนึงถึงขนาดความหนาของผนังอาคาร รวมถึงรายละเอียดต่างๆภายในอาคารที่จะต้องทำเพิ่มเติมขึ้นด้วย แบบที่ผมทำมาให้ดูนี้ จะเป็นรูปแบบของอาคารในยุโรป ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ครับ จะใช้การก่อผนังด้วยก้อนอิฐ ซึ่งจะทำให้ผนังอาคารนั้นมีความหนามากซักหน่อย เพราะจะต้องใช้ผนังเป็นตัวช่วยรับน้ำหนักของตัวอาคาร รวมไปถึงการก่ออิฐให้ผนังมีความหนามากๆนั้น จะช่วยเก็บความร้อนให้อยู่ภายในตัวอาคารและป้องกันความเย็นจากภายนอกได้ดีขึ้นด้วยครับ
ซึ่งลักษณะของอาคารที่เราต้องการจะทำไปใส่ไว้ในฉากจำลองนั้น จะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัยที่เราเลือกจะทำ ทั้งเรื่องของรูปทรงและการตกแต่ง รวมไปถึงวิธีการในการก่อสร้าง เช่น การก่อผนังด้วยอิฐหรือหิน อย่างอาคารในยุโรป หรืออาคารที่สร้างจากไม้ทั้งหลัง รวมไปถึงอาคารที่ก่อด้วยอิฐบล็อก อิฐมวลเบา และคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างในปัจจุบัน รายละเอียดที่มีความแตกต่างเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ เป็นส่วนที่จะช่วยให้ผลงานฉากจำลองที่เราทำนั้น ดูสมจริงและมีที่มาที่ไปมากขึ้นครับ มาลองดูตามภาพทีละขั้นเลยครับ



1. เริ่มจากการวัดขนาดของตัวบ้านและวาดแบบลงบนแผ่นกระดาษชั้นครับ (ใช้แบบ 3 มม. เพื่อจะได้ตัดช่องประตู หน้าต่างได้ง่ายขึ้น) ใช้การคำนวนเปรียบเทียบมาตราส่วน และหาฟิกเกอร์ในมาตราส่วนเดียวกันกับอาคารที่จะทำ(ในภาพเป็นขนาด 1/35) มาลองวางเปรียบเทียบดูสัดส่วนของตัวอาคารอีกที ทั้งความกว้าง ความสูง ของตัวอาคารแต่ละชั้น รวมไปถึงขนาดของประตู และหน้าต่าง ให้ดูเหมาะสมและไม่ใหญ่เกินขนาดจนเกินไป ส่วนรูปแบบของตัวอาคารนั้น ถ้านึกแบบบ้านที่จะทำไม่ออก ลองหาดูภาพอาคารในอินเตอร์เน็ท หรือภาพผลิตภัณฑ์ที่มีคนทำออกมาขายก็ได้ครับ จะได้ช่วยให้เข้าใจถึงลักษณะของอาคารรูปแบบต่างๆ รวมถึงการแบ่งสัดส่วนของประตู หน้าต่างได้ง่ายขึ้นครับ ลองเข้าไปดูได้ตามลิ๊งค์ตัวอย่างครับ

Verlinden Productions
Royal Model
Miniart



2. จำลองความหนาของตัวอาคารโดยใช้แผ่นโฟมอัด ตัดให้มีขนาดที่เท่ากับตัวบ้าน แล้วนำมาติดเข้าด้วยกันครับ ในภาพผมจะใช้กาวยางยี่ห้อ Pritt ซึ่งจะไม่กัดโฟมจนละลายเหมือนกาว uhu ครับ จากนั้นนำกระดาษแข็งที่มีความบาง เช่น กระดาษอาร์ตการ์ด มาวัดและตัดให้มีขนาดเท่ากัน เพื่อเอาไว้ปิดทับด้านหลังของโฟมอัดและจะกลายเป็นผิวของผนังด้านในของตัวอาคารครับ 


3. ใช้คัตเตอร์คมๆตัดและเจาะช่องของประตูและหน้าต่างให้เรียบร้อยครับ รวมไปถึงตัดร่องรอยแตกหักของตัวอาคารด้วย และนำแผ่นด้านหลังมาประกบ 


4. การทำอาคารครั้งนี้ผมลองใช้วัสดุชนิดอื่นมาผสมเข้าไปด้วย คือแผ่นไม้บัลซ่า (Balsa wood) เพื่อจำลองถึงลักษณะของอาคารรูปแบบร้านค้าที่ใช้ไม้ในการประดับตกแต่งโครงสร้างครับ ไม้บัลซ่านั้นหาซื้อได้ตามแผนกเครื่องเขียนเช่นเดียวกัน มีหลายแบบและหลายขนาดให้เลือก ทั้งแบบ แผ่น แท่งกลม แท่งเหลี่ยม นำมาใช้ผสมผสานกัน รวมถึงใช้ตะไบหรือกระดาษทราย ช่วยในการขัดแต่งเพื่อให้ได้รูปทรงตามที่เราต้องการครับ 


5. หลังจากประกอบแผ่นไม้ลงไปและขัดแต่งเรียบร้อยแล้ว รอยต่อระหว่างแผ่นไม้ ใช้ดินสอพองผสมน้ำทาอุดตามร่อง ทิ้งให้แห้งแล้วค่อยขัดครับ จะคล้ายกับการใช้พุตตี้ แต่ร่วนและขัดได้ง่ายกว่า 


6. ทำส่วนของผนังอิฐครับ เนื่องจากกระดาษนั้นจะไม่สามารถแกะลวดลายได้ง่ายเหมือนปูนพลาสเตอร์ จึงใช้แผ่นไม้ก็อก (cork) สำหรับใช้ในงานโมเดลสถาปัตย์มาทำแทนครับ (หาซื้อได้ในแผนกเครื่องเขียนเช่นกัน) เพราะจะมีผิวที่เป็นรูพรุนๆและไม่เรียบ ใกล้เคียงกับผิวของอิฐหรือหินครับ จากนั้นวัดขนาดโดยเปรียบเทียบมาตราส่วน แล้วตัดออกมาเป็นชิ้นๆ แล้วค่อยๆติดและเรียงลงไปบนกระดาษด้วยกาวลาเท็กซ์ผสมน้ำครับ 


7. ส่วนที่เป็นรอยแตกหักของตัวอาคาร ใช้แผ่นไม้ก็อกตัดให้มีความกว้างเท่ากับผนังอาคาร ติดด้วยกาวลาเท็กซ์ พอแห้งแล้วใช้ปากคีบค่อยๆจิกที่ผิวของไม้ก็อกและดึงออก จะได้ลักษณะผิวที่ดูขรุขระเหมือนกับรอยแตกหักอย่างในภาพครับ 


8. นำดินสอพอง (White clay filler) ผสมกับน้ำ (water) และกาวลาเท็กซ์ (White glue)เล็กน้อย นำไปทาอุดตามร่องของอิฐแล้วใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดออกให้ดินสอพองนั้นอุดอยู่ตามร่องครับ จากนั้นใช้ไม้บัลซ่ามาตกแต่งในส่วนที่เหลือเช่น กรอบหน้าต่าง พื้นไม้ชั้น 2 ที่อยู่ภายในตัวอาคาร ก็เป็นอันเสร็จครับ 





9. ภาพตัวอย่างเมื่อนำไปทำสีด้วยเทคนิค CM (Color Modulation) เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำการเวทเธอริ่งให้เกิดร่องรอยคราบสกปรกต่างๆ 



10. ภาพชิ้นงานที่เสร็จสมบูรณ์ ผ่านการทำสีและเวทเธอริ่งเรียบร้อยแล้ว เพิ่มรายละเอียดของสายไฟและป้ายชื่อร้าน นำไปติดลงบนฐาน และเอาเศษอิฐเศษหินมาโรยอยู่รอบๆตัวอาคาร เพื่อสื่อให้เห็นถึงสภาพของอาคารที่โดนทำลายจากแรงระเบิดครับ (วิธีการนี้จะนำมาลงให้ชมพร้อมภาพประกอบอีกครั้ง ในหัวข้อที่ 3. ขั้นสูง (Advanced) ครับ) ส่วนด้านข้างของตัวอาคารที่จะเห็นรอยต่อของกระดาษและแผ่นโฟมนั้น ใช้กระดาษสีดำทากาวแล้วปิดทับลงไปอีกที เพื่อให้ผลงานนั้นดูมีความเรียบร้อยมากขึ้นครับ 








1 comment:

  1. Fantastic!
    Sorry for spamming your mail-account with all the comments, but I have to tell you how great you work is!

    ReplyDelete