Sunday, August 12, 2012

2.7. Making water

(การทำน้ำ) 


ก่อนอื่นคงต้องออกตัวไว้ก่อนว่า การทำน้ำสำหรับผมนั้น เป็นอะไรที่ไม่ถนัดที่สุดและเคยทำพลาดมาแล้ว เลยไม่กล้าที่จะทำฉากที่จะต้องเกี่ยวข้องกับน้ำมาหลายปีครับ เนื่องจากเคยมีประสบการณ์อันเลวร้ายกับการทำพื้นน้ำด้วยเรซิ่นใสมาก่อน (ครั้งแรกทิ้งไว้ร่วมปีแล้วไม่แห้งซักที ส่วนอีกครั้งแห้งแล้ว แต่ขอบน้ำไม่เรียบเลยใช้อาร์ตไนฟ์เฉือนออก ด้วยความไม่ระวังและเรซิ่นมันแข็งมากเลยได้แผลเป็นที่นิ้วไป้งไว้ให้ดูเล่น) รวมถึงกลิ่นของเรซิ่นที่รุนแรง เป็นอันตราย และไม่สะดวกกับการทำงานที่บ้านของผม ก็เลยหลีกเลี่ยงมาตลอด พอครั้งนี้มีโอกาสเลยเอามาทดลองทำดูอีกครั้งหนึ่งซึ่งนายแบบก็เป็นงานชิ้นแรกๆที่ได้ลองทำน้ำเอาไว้น่าจะร่วม 10 ปีได้แล้ว และได้ผุพังไปตามกาลเวลา ครั้งนี้เลยถือโอกาสเอามาทำพื้นน้ำใหม่อีกครั้ง ลองดูกันทีละขั้นเลยครับ 

1. ภาพงานเก่าที่เคยทำไว้ จะเห็นว่าบางส่วนของพื้นน้ำนั้นแตกออก เพราะตอนที่ทำไว้นั้นผสมสัดส่วนเรซิ่นไม่ดี เมื่อแห้งสนิทแล้ว(ชิ้นนี้ทิ้งไว้เป็นปีกว่าจะแห้ง) ส่วนของเรซิ่นที่เทไว้นั้นหดตัว และเผยอขึ้นจากพื้นผิวด้านล่าง ผมเลยหักออก เพื่อที่จะเทเรซิ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น

2. นำแผ่นพลาสติกมากั้นขอบโดยรอบ ให้มีส่วนสูงของขอบกั้นพอดีกับระดับของน้ำที่ต้องการให้เท่ากันทั้ง 3 ด้าน เพื่อความสะดวกเวลาที่เทเรซิ่นแล้วจะได้รู้ว่า ส่วนที่เทไว้ได้ระนาบเดียวกันหรือเปล่า จากนั้นเอาวาสลีนมาทาที่พลาสติกเพื่อเวลาเรซิ่นแห้งแล้วจะได้แกะพลาสติกออกได้ง่ายๆ


3. เรซิ่นหล่อใส และตัวทำแข็งหรือตัวเร่งครับ ตอนที่ผมไปซื้อ เจ้าของร้านเค้าบอกส่วนผสมที่เหมาะสมมาให้ คือ เรซิ่น 100ส่วน ต่อ ตัวเร่ง 2ส่วน (100% : 2%) ถ้าผสมได้ตามนี้จะใช้เวลาในการแข็งตัวและแห้งสนิทไม่เกิน 1 ชั่วโมง (15-20 นาทีแรกจะเริ่มแข็งเหมือนเยลลี่) แต่ถ้าผสมตัวเร่งมากหรือน้อยเกินไป เวลาในการแข็งตัวและแห้งสนิทก็จะแตกต่างกันออกไป 
ที่เห็นในภาพผมจะขีดแบ่งส่วนเอาไว้ที่ขวดทั้ง 2 เพราะทางร้านเค้าบอกมาว่า ที่ให้มานั้นจะมีสัดส่วนที่พอดีกันของทั้งเรซิ่นและตัวเร่ง คือถ้าเอามาผสมกันทั้งหมดทีเดียว ก็จะแห้งสนิทและแข็งตัวในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่มันจะเยอะมากเกินไปในการเอามาผสมใช้ครั้งเดียว ผมเลยกำหนดเอาง่ายๆว่า แบ่งทั้งสองขวดเป็นอัตราส่วนเท่าๆกัน แล้วค่อยๆเทผสมใช้ทีละนิด วิธีการนี้ส่วนผสมอาจจะไม่แน่นอนเพราะอาศัยการกะเอาคร่าวๆ จึงใช้เวลาแห้งหรือแข็งตัวนานกว่าที่เค้าบอกไว้ คือ 1-2 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น (หรืออาจจะทิ้งไว้ทั้งคืนเพื่อความชัวร์)  ดังนั้นเวลาผสม ผมจะเก็บแก้วที่ใช้ผสมเอาไว้เพื่อคอยกดดูว่ามันแห้งสนิทหรือยัง จะได้ไม่ต้องไปกดดูที่ตัวงาน


4. เทเรซิ่นที่แบ่งไว้ออกมาใส่แก้ว งานชิ้นนี้ผมต้องการน้ำแบบสีเขียวๆเลยผสมด้วยสี GSI เบอร์ 23 โดยหยดลงไปทีละหยด แล้วคนให้เข้ากันและดูว่าสีเข้มพอหรือยัง พยายามคนให้เกิดฟองอากาศน้อยที่สุด เมื่อสีกับเรซิ่นผสมเข้ากันดีแล้วทิ้งเอาไว้ซัก 2-3 นาที จะเห็นว่าฟองอากาศจะค่อยๆผุดขึ้นมาและระเหยออกไปครับ จากนั้นค่อยเอาตัวเร่งมาผสมลงไปและคนให้เข้ากันอีกรอบ


ข้อควรระวังคือเรซิ่นนั้นอาจจะกัดพลาสติกบางชนิด อย่างแก้วที่ผมใช้ผสมเรซิ่นทิ้งไว้นานๆก็โดนกัดทะลุเช่นกัน และเมื่อเวลาเรซิ่นเริ่มที่จะเซ็ตตัว จะเกิดความร้อนขึ้นจนละลายแก้วพลาสติกได้ ดังนั้นทางที่ดีควรจะหาแก้วหรือวัสดุที่ทนทานหน่อยมาใช้ในการผสม และควรจะใส่ถุงมือเวลาทำงานเพื่อกันเรซิ่นหยดใส่มือ แต่ถ้ารู้สึกไม่ถนัดเหมือนอย่างผม ถ้าเรซิ่นหยดใส่มือ ให้รีบเอากระดาษชุบทินเนอร์สำหรับทำโมเดลมาเช็ดออกครับ อย่าเผลอทิ้งไว้จนมันแห้ง หนังอาจจะไหม้หรือลอกได้


5. ในชั้นแรกนี้ผมผสมให้สีเรซิ่นนั้นเข้มหน่อยเพื่อจะได้กลบร่องรอยของพื้นผิวด้านล่าง นำเรซิ่นที่ผสมไว้มาเทลงไป โดยเทไล่จากขอบด้านนอก และใช้พู่กันช่วยเกลี่ยให้เรซิ่นนั้นไหลเข้าไปตามซอกเล็กๆต่างๆ เพราะเรซิ่นนั้นจะไม่เหลวเหมือนกับน้ำ จึงไม่สามารถไหลเข้าไปตามซอกเล็กๆได้เอง ถ้าไม่ใช้พู่กันช่วยทาเกลี่ย จะทำให้เรซิ่นนั้นไม่แนบสนิทกับส่วนต่างๆ เช่นเสาสะพาน กอหญ้า หรือริมตลิ่ง และจะเห็นรอยต่อได้ชัดเจนเมื่อเรซิ่นนั้นแห้งสนิทแล้ว 



6. จากนั้นทิ้งไว้จนแห้งสนิท แล้วจึงค่อยเทเรซิ่นทับลงไปเป็นรอบที่สอง โดยคราวนี้ผสมเรซิ่นให้มีสีที่ใสกว่าเดิม (แก้วซ้ายมือ) เพื่อทำให้เกิดมิติของน้ำ ที่จะดูขุ่นน้อยกว่าหรือใสที่บริเวณด้านบนของผิวน้ำ และจะดูขุ่นมากขึ้นในระดับน้ำที่ลึกลงไป สังเกตุตรงถังน้ำมันเมื่อเทเรซิ่นรอบที่ 2 ส่วนด้านบนของถังน้ำมันที่อยู่ใกล้ผิวน้ำมากกว่า จะมองเห็นได้ชัดเจนกว่าส่วนที่อยู่ลึกลงไป




7. จากนั้นเมื่อเรซิ่นชั้นที่สองแห้งดีแล้ว จึงนำเรซิ่นใสที่ไม่ได้ผสมสีมาเททับอีกรอบ จนเสมอกับขอบที่ได้กั้นเอาไว้ ถ้าต้องการน้ำแบบผิวเรียบๆเหมือนกระจก ก็หาอะไรมาปิดกันฝุ่นและทิ้งไว้จนแห้งก็เสร็จเรียบร้อยครับ
แต่ถ้าอยากให้ผิวน้ำนั้นเป็นเหมือนกับคลื่นที่เกิดจากแรงลมที่พัดบนผิวน้ำ ในช่วงที่เรซิ่นเริ่มเซ็ตตัวและมีลักษณะเหมือนกับวุ้น ให้ใช้ปลายแท่งไม้(ไม้เสียบลูกชิ้น) หรืออะไรก็ได้ที่เป็นแท่งจับได้ถนัดมือ มากดๆและตบๆลงไปเบาๆที่ผิวเรซิ่นให้ทั่วๆ จะเห็นว่ายิ่งเรซิ่นเริ่มแข็งตัวมากเท่าไหร่ ก็จะเหนียวยืดติดด้ามไม้ขึ้นมา และจะคืนตัวกลับไปที่พื้นผิวดังเดิม และจะทำให้เกิดเป็นลักษณะผิวคลื่นเป็นลอนๆอย่างในภาพ ลักษณะของลอนคลื่นจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้กดกรือตบ และความถี่หรือระยะห่างในการกดแต่ละจุด ถ้าต้องการลอนคลื่นที่ถี่มากๆ ก็ให้ตบที่ผิววนไล่ไปเรื่อยๆจนกว่าจะพอใจครับ



8. เมื่อทิ้งไว้จนแห้งสนิทดีแล้ว จะได้ลักษณะแบบนี้ครับ



และจะเห็นได้ชัดเจนขึ้น เมื่อผิวน้ำนั้นสะท้อนกับแสง


9. ฉากที่ผมทำนี้ จะเป็นลักษณะของคลองตามธรรมชาติที่น้ำจะค่อนข้างนิ่งและไม่ได้ไหลแรงมากนัก จึงอาจจะมีเศษใบไม้ กิ่งไม้ลอยอยู่ตามผิวน้ำ และลอยติดอยู่ตามตลิ่งหรือตามเสาสะพาน ผมเลยใช้เศษผงใบไม้จากดอกไม้แห้ง นำมาผสมกับกาวลาเท็กซ์และน้ำ ทาลงไปตามในบริเวณต่างๆ 


หลังจากทิ้งไว้ประมาณ 1 คืนเพื่อให้แห้งสนิท และแกะขอบกั้นออกแล้วก็เป็นอันเสร็จครับ หลังจากนี้ค่อยทาสีเก็บที่ขอบฐานอีกที หรือจะหาไม้มาปิดที่ขอบฐานเพื่อความเรียบร้อยก็ได้ครับ




วิธีทาเศษใบไม้ด้วยกาวลาเท็กซ์นี้ เท่าที่ลองทำดู จะพบว่าเมื่อแห้งแล้วจะมีคราบกาวเหลืออยู่บางส่วน และจะเห็นได้ชัดเมื่อสะท้อนกับแสง เพราะว่ากาวลาเท็กซ์นั้น ถึงแม้ว่าจะใสเมื่อแห้งสนิท แต่จะไม่เงาเท่ากับผิวของเรซิ่น จึงทำให้มองเห็นได้ชัดในมุมที่สะท้อนกับแสง ดังนั้นถ้าใช้สีเคลียร์ใสหรือเคลียร์เงาของกันเซ่ ทามิย่า หรือแม๊กซ์ มาผสมกับเศษใบไม้แล้วทาลงไปเลยน่าจะดีกว่า แต่ต้องระวังอย่าให้เกิดรอยทีแปรงจากพู่กันก็พอครับ
  
 ----------------------------------------------------------------------

Conclusion for Intermediate Techniques  
(สรุปขั้นกลาง)
สำหรับภาพรวมของการทำงานในขั้นกลางนี้ จะเห็นว่า ส่วนใหญ่จะเป็นเทคนิคที่มีความซับซ้อนในการทำงานมากขึ้น ทั้งการวัดหรือการคำนวนขนาดในการทำตัวอาคาร การสังเกตุและเปรียบเทียบเพื่อจำลองลักษณะตามความจริงของการทำต้นไม้และหน้าผาหิน รวมถึงการกำหนดอัตราส่วนในการผสมเรซิ่นเพื่อใช้ในการทำน้ำ ทั้งหมดนี้อาจจะต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญในการทำงานอยู่พอสมควร 
ซึ่งประสบการณ์และความชำนาญนั้น จะเกิดขึ้นได้จากการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้งานชิ้นแรกที่ลองทำนั้น อาจจะยังออกมาได้ไม่ดี แต่การที่ได้ลองทำบ่อยๆ จะช่วยให้เราได้เห็นถึงข้อผิดพลาดและปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการทำงานในแต่ละครั้ง เมื่อได้เรียนรู้ถึงข้อผิดพลาดแล้ว ก็หาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ในการทำงานครั้งต่อๆไปก็จะช่วยให้เราสามารถทำผลงานที่ดีขึ้นได้ นี่คือหัวใจของการพัฒนาครับ หวังว่าเทคนิคการทำฉากจำลองในขั้นกลางนี้คงจะเป็นประโยชน์แก่ทุกๆท่านนะครับ ในครั้งหน้าจะเข้าสู้เทคนิคการทำงานในขั้นสูง แล้วพบกันใหม่ครับ

No comments:

Post a Comment